แคร์การเงิน

ถอดรหัสดราม่า บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตัวเจ้าปัญหา!

ผู้เขียน : กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการ

ทีมกองบรรณาธิการ กลุ่มนักเขียนผู้มีประสบการณ์ด้านรถยนต์ การเงิน และประกันภัย ของ แรบบิท แคร์ ที่เปิดดำเนินการมาแล้วมากกว่า 10 ปี

close
Facebook iconIG iconlinkedin iconYoutube icon
 
 
Published: December 21,2018
  
 
บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

ช่วงอาทิตย์ สองอาทิตย์ที่ผ่านมา ประเด็นฮอต ดราม่าฮิตคงยกให้ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ขึ้นแท่น talk of the town ก็รัฐบาลน่ะสิ ประกาศจะให้เงินเป็นของขวัญปีใหม่แก่ผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แถมยังมีข่าวลืออีกว่ารัฐจะให้ถอนเงินได้แค่วันที่ 8-10 ธ.ค. ซึ่งมันเป็นข่าวลือ แต่ก็พาผู้ที่ถือบัตรนี้แห่ไปกดเงินกันถ้วนหน้า

เหตุการณ์นี้พาให้คนชนชั้นกลาง หรือผู้ที่ไม่ได้ถือบัตรนี้ก่อตัวดราม่าขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การตั้งข้อสงสัยกับรัฐบาลชุดนี้ งบประมาณ ภาษีที่ตนต้องเสียแล้วรัฐฯ เอามาใช้ วันนี้เราเลยจะมาถอดรหัสบัตรตัวเจ้าปัญหานี่กัน


เหตุเกิดจาก บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ทำให้ดราม่านี้ปะทุ

ออกตัวแรงก่อนเลยว่าคนเขียนขอพูดในฐานะชนชั้นกลางที่เฝ้าสังเกตการณ์นโยบายของรัฐ และความเคลื่อนไหวของสังคมไทย เพราะฉะนั้นความคิดอาจมาเพียงแค่มุมของคนเขียนเท่านั้น ไม่พูดพร่ำทำเพลงเเล้วเข้าเรื่องเลยดีกว่า

ขอบคุณคลิปจาก : NewsNBT THAILAND

  • รัฐบาลแจกเงินให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

ครม. อนุมัติงบ 86,994 ล้านบาท โดยจำนวนเงินบางส่วนรัฐช่วยคนถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14.5 ล้านราย เพราะรัฐบาลให้เงินเป็นของขวัญปีใหม่คนละ 500 บาท ช่วยจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเดินทางไปหาหมอ 1,000 บาท ค่าเช่าบ้าน 400 บาทต่อเดือน

ซึ่งจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้หลายคนเกิดความไม่พอใจ และตั้งคำถามว่า ทำไมรัฐบาลถึงเอาเงินไปทุ่มกับส่วนนี้เป็นพิเศษ

ขอบคุณคลิปจาก : เรื่องเล่าเช้านี้ บีอีซี-เทโร

  • คนถือบัตรคนจน ไม่ได้จน

หลังจากที่รัฐบาลประกาศเพิ่มเงินเข้าในบัตรอีก 500 บาท ทำให้ผู้ถือบัตรแห่ไปกดเงินออกมาใช้ แต่มันมีดราม่าเข้ามาอีก ตรงที่มีผู้ถือบัตรคนจนรายหนึ่ง ถ่ายรูปเงินที่ได้จากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยผู้ถือบัตรใส่สร้อยทองของมีค่า ยิ่งสร้างความไม่พอใจกับเหล่าชนชั้นกลางเข้าไปอีก

ถึงแม้ภายหลังบุคคลในภาพจะออกมาชี้แจงแล้วว่า ตนมีภาระต้องใช้จ่าย ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ไม่ได้มีเงิน หรือร่ำรวยมากมาย เป็นเพียงคนจนคนหนึ่งเท่านั้น แต่นี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่หลายคนตั้งข้อสงสัยว่า ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นผู้มีรายได้น้อยจริงหรือไม่?

ขอบคุณคลิปจาก : Workpoint News ข่าวเวิร์คพอยท์

 
  • คนชนชั้นกลางที่ไม่ได้ถือบัตรคนจนไม่พอใจ

ไม่ใช่ไม่พอใจว่าตนเองไม่ได้เงินนะคะ เเต่ไม่พอใจรัฐบาลเอาเงินไปแจกจ่าย ใช้เงินจัดการกับปัญหาความยากจนไม่ถูกจุด ไม่ยุติธรรมสำหรับตนเพราะตนทำงานหาเงิน แล้วยังต้องเสียภาษี ซึ่งภาษีควรที่จะเอาไปทำอย่างอื่นที่ได้ประโยชน์มากกว่า และยั่งยืนกว่า เช่น การส่งเสริมอาชีพให้กับบุคคลกลุ่มนี้

อีกทั้งคนชนชั้นกลางอยากให้รัฐบาลตรวจสอบผู้ถือบัตรคนจน อยากให้คัดกรองผู้ถือบัตรมากกว่านี้ ว่ามีปัญหาทางการเงินจริงๆ ไม่ใช่คนที่เกือบจนแล้วถือบัตรคนจนนั่นเอง

ประเด็นดราม่าเหล่านี้ ล้วนเกิดจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ยังมีช่องโหว่ในหลายๆ ด้าน สร้างความระแคะระคายให้กับสังคมไทย เพราะงั้นเราจะมาดูมุมมองในฐานะแต่ละคน กับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐกัน


บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
ที่มา : springnews

มองในฐานะคนชนชั้นล่าง ที่ลงชื่อถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

อย่างเเรกเรามาดูกันก่อนว่าประเทศไทยแบ่งความยากจนไว้อย่างไร กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่ยากจนที่สุด รายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี หรือตกเดือนละ 2,500 บาท เฉลี่ยแล้วได้วันละ 83 บาท กลุ่มนี้มีประมาณ 5 ล้านคน จากผู้ที่ลงทะเบียนคนจนจำนวน 14.1 ล้านคน

กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มที่มีรายได้อยู่ระหว่าง 30,000 – 100,000 บาท จะได้รับการช่วยเหลือรองลงมา โดยกลุ่มแรกได้รับการช่วยเหลือจากรัฐเป็นเงินสดเข้าบัญชีรายละ 3,000 บาท กลุ่มที่ 2 ได้รายละ 2,000 บาท และผู้ที่มีบ้านและที่ดินไม่เกิน 25 ตารางวา หรือที่ดินทำเกษตรไม่เกิน 10 ไร่ ก็มีสิทธิถือบัตรนี้ได้เช่นกัน

ตามหลักสากลแล้วการแบ่ง “เส้นความยากจน” โดยยึดตามธนาคารโลกใช้เกณฑ์เฉลี่ย 1.9 เหรียญสหรัฐฯ ต่อคนต่อวัน ถ้าคิดเป็นเงินไทย 62.28 บาท (18/12/2018)

ส่วนประเทศไทยที่ใช้เกณฑ์อย่างเป็นทางการอยู่ที่ 2,667 บาทต่อคนต่อเดือน ตกรายได้วันละ 89 บาท

การมีบัตรนี้จึงกลายเป็นตัวช่วยในเรื่องการเงิน เพิ่มสภาพความคล่องให้กับการเงินได้ไม่มาก แต่ก็ยังไม่ได้กำจัดความยากจนออกไปให้หมดสิ้นได้ซะทีเดียว


บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
ที่มา : sakhononline

คนชนชั้นกลางมองบัตรนี้อย่างไร ในฐานะคนที่ไม่ได้ถือบัตร

ส่วนใหญ่แล้วคนชนชั้นกลางที่กล่าวถึง ก็คือกลุ่มคนที่มีรายได้ มนุษย์ออฟฟิศ หรือก็คือบุคคลที่มีรายได้เกินกว่า “เส้นความยากจน” และเป็นบุคคลที่ไม่ผ่านเกณฑ์ได้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

ซึ่งบุคคลเหล่านี้จะต้องเสียภาษีประจำปี เพื่อที่รัฐบาลจะนำเงินภาษีเหล่านี้ไปบริหารประเทศ ซึ่งเงินภาษีนี้ก็คือรายได้หลักของรัฐบาล ที่นำเงินไปบริหารส่วนต่างๆ ในประเทศนั่นเอง

โดยเงินที่ ครม. อนุมัติในนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มันต้องมีเงินบางส่วนบ้างแหละค่ะที่มาจากภาษีประชาชน ซึ่งรัฐบาลเอาเงินส่วนนี้ไปแจก ก็สร้างความไม่พอใจให้กับคนที่ต้องเสียภาษีแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย

และดราม่านี้ยิ่งทวีคูณเข้าไปอีก เนื่องจากมีบุคคลบางกลุ่มที่ถือบัตรสวัสดิการรัฐ แต่ก็ไม่ได้เป็นคนยากจน เป็นเพียงแค่คนเกือบยากจนเท่านั้น

ทำให้เหล่าชนชั้นกลางบางคนก็บ่นทำนองว่า ทำงานได้เงินเอาไปจ่ายภาษี แต่รัฐกลับเอาภาษีไปแจกซะงั้น หรือบางคนก็บอกว่ามันไม่แฟร์ สำหรับคนที่ทำงานหนัก ทำงานแลกกับเงิน เอาเงินไปจ่ายภาษี แต่รัฐกลับเอาเงินนี้ไปให้กับผู้ยากจน ที่ยังหาข้อพิสูจน์ไม่ได้ว่ายากจนจริง หรือแค่เกือบยากจน จึงทำให้ชนชั้นกลางไม่พอใจกับระบบการคัดกรองคนถือบัตรมากกว่าไม่พอใจคนที่ยากจน

บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
ที่มา : egov

มุมมองของคนสร้างบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

อย่างที่ทราบกันดีว่า บัตรสวัสดิการแห่งรัฐนี้ถูกทำโดยรัฐบาล ที่หวังลดความเหลื่อมล้ำทางการเงินในประเทศไทย รวมถึงต้องการช่วยเหลือความทุกข์ยากของเหล่าผู้มีรายได้น้อย เนื่องจากต้องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในไทย

ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่รัฐบาลชุดนี้ทำการรัฐประหาร และดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารประเทศไทย ในช่วง 2 ปีแรกเศรษฐกิจประเทศไทยของเราค่อนข้างแย่ ด้วยปัจจัยความขัดแย้งทางการเมือง การฟื้นตัวเศรษฐกิจในประเทศจึงเป็นไปได้ยาก

พอเข้า 2 ปีหลังพบว่าเศรษฐกิจค่อยๆ ดีขึ้น ฟื้นตัวและเติบโตขยายตัวกลับมาในระดับ 4.5% เนื่องจากรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลังต่างๆ

จนมาถึงนโยบายที่ต้องการช่วยเหลือบุคคลที่มีรายได้น้อย และขจัดความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยไป ทำให้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้เกิดขึ้น และทำหน้าที่เยียวยาสภาพการเงินให้กับบุคคลที่มีรายได้น้อยนั่นเอง

ไม่ว่าจะเป็นการได้เงินซื้อสินค้า 300 บาท ต่อเดือนจากร้านธงฟ้าประชารัฐหรือร้านค้าอื่นๆ ที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด ค่าเดินทาง ค่ารถเมล์กับค่ารถไฟฟ้า 500 บาทต่อเดือน และค่าอื่นๆ เพื่อให้สภาพการเงินของผู้ถือบัตรมีความคล่องตัวมากขึ้น


ขอบคุณคลิปจาก : VOICE TV 21

บทสรุปมหากาพย์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

ถ้าให้พูดกันตามตรงกับวัตถุประสงค์ของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ต้องการกำจัดความเหลื่อมล้ำ แก้ปัญหาความยากจน ตามที่รัฐบาลขายฝันเอาไว้ มันคงเป็นไปไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพียงแต่บัตรนี้สวัสดิการแห่งรัฐ มันแค่เยียวยาการเงินในแต่ละวันเท่านั้น

อีกทั้งบางเคสก็กล่าวว่า บัตรสวัสดิการแห่งรัฐสร้างหนี้ให้กับเราอีก เพราะร้านโชห่วยขาดทุน คนถือบัตรไปใช้บริการธงฟ้าประชารัฐ ที่รวบรวมสินค้าของเหล่านายทุนยักษ์ใหญ่ในประเทศไทย ส่วนพ่อค้าร้านโชห่วยก็ขาดทุน เพราะคนไม่เข้ามาซื้อของร้านตนเอง

ยังไม่รวมผู้มีรายได้น้อย คนยากจนบางรายไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารในส่วนนี้ เพราะไม่มีโทรศัพท์ ไม่มีอินเทอร์เน็ต ทำงานทั้งวัน ไม่มีค่าเดินทางไปทำเรื่อง ทำให้พลาดสิทธิถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไป


บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

แม้รัฐบาลจะมีเจตนาที่ดี อยากช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม แต่ก็มีหลายคนวิพากษ์ว่า บัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นตัวแทนของประชานิยม ที่รัฐบาลต้องการหาเสียงทางอ้อม ด้วยการแจกเงินให้กับผู้ที่ต้องการเงิน หรือมีปัญหาทางการเงิน หวังให้คนกลุ่มนี้เลือกตนดำรงตำแหน่งรัฐบาลต่อไป

ทางคณะรัฐบาลก็ออกมาปฏิเสธว่า ไม่ได้ต้องการหาเสียงโดยใช้บัตรนี้ ซึ่งข้อนี้เราก็ยังหาอะไรมาพิสูจน์ไม่ได้ แต่พรรคการเมืองหลายพรรครู้สึกระแคะระคายกับบัตรตัวนี้ไม่น้อย เรื่องนี้เราคงต้องเฝ้าดูกันต่อไป

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นบัตรตัวเจ้าปัญหานี้ที่รัฐบาลเป็นคนสร้างมันขึ้นมา กลับทำให้สังคมไทยเราเกิดช่องโหว่ระหว่างชนชั้นกลางและชนชั้นล่างมากขึ้น เกิดการดูถูก ความไม่พอใจกันระหว่างชนชั้น ถึงแม้รัฐบาลอยากจะใช้บัตรตัวนี้ลดระยะห่างระหว่างชนชั้นก็ตาม แต่ผลที่เกิดดูจะตรงข้ามอย่างกับสิ่งที่วางเอาไว้

ถึงแม้เราจะไม่สามารถหาทางออกเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ แต่สิ่งที่ทำได้คือ การประนีประนอมไม่ว่าคุณจะอยู่ชนชั้นไหน หรือในฐานะใดก็ตาม

รัฐบาลเองก็ต้องตรวจเช็กข้อมูลประวัติผู้ต้องการถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐกันอย่างถี่ถ้วนมากขึ้น เพื่อป้องกันเหล่าคนหัวหมอที่ต้องการถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และคนชนชั้นกลางอย่างเราต้องเปิดใจให้กว้าง รับรู้ รับฟังอย่างมีสติและมีเหตุผล 


ขอบคุณข้อมูลจาก 

https://thematter.co/quick-bite/500-bahts-policy/66804
https://thematter.co/pulse/welfare-state-in-bangkhen-and-rangsit/19630
https://themomentum.co/welfare-card/
https://www.the101.world/inequality-in-the-21st-century/
https://www.khaosod.co.th/politics/news_1958485


 

บทความแคร์การเงิน

Rabbit Care Blog Image 98912

แคร์การเงิน

บัตรเครดิตเติมน้ำมัน (Fleet Card) คืออะไร ? มีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร ?

ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่พร้อมจะเพิ่มให้ความสะดวกสบายในการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของเราเพิ่มขึ้นมาอย่างมากมาย บัตรเครดิตเติมน้ำมัน (Fleet Card)
Natthamon
30/12/2024
Rabbit Care Blog Image 97227

แคร์การเงิน

ผ่อนบอลลูน คือ อะไร มีข้อดีข้อเสียอย่างไร เหมาะสมกับใครมากที่สุด

เคยได้ยินกันไหมกับการผ่อนรถแบบผ่อนบอลลูน คำศัพท์ที่ดูแปลกและไม่ค่อยชินกันเท่าไหร่นัก เพราะในเวลาปกติเราตัดสินใจเลือกซื้อรถยนต์สักคันด้วยการกู้สินเชื่อ
คะน้าใบเขียว
14/11/2024
Rabbit Care Blog Image 94185

แคร์การเงิน

ไม่มีรถคืนไฟแนนซ์ ต้องเจอปัญหาใหญ่แค่ไหน

พอถึงเวลาที่เราผิดสัญญาไฟแนนซ์ต่อเนื่อง มีโอกาสถูกยึดรถสูงมาก แต่ถ้าไม่มีรถคืนไฟแนนซ์จะต้องเผชิญหน้ากับปัญหาที่ยิ่งใหญ่แค่ไหน
Natthamon
03/09/2024