แคร์รถยนต์

ดอกยาง คือ อะไร เหตุใดจึงต้องผลิตยางรถยนต์ให้มีดอกยาง

ผู้เขียน : Thirakan T
Thirakan T

Thirakan Thongseenual เป็นนักเขียนที่มีประสบการณ์มากกว่า 3 ปี ที่ RabbitCare และ Asia Direct โดยมีความชำนาญในประกันรถยนต์ เน้นเขียนบทความที่เผยแพร่บน Blog และมีความเชี่ยวชาญด้าน SEO กว่า 4 ปี ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอได้ใช้ในการสร้างความรู้และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของ RabbitCare อย่างมีประสิทธิภาพ จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ปริญญาตรี สาขา Information Technology

close
linkedin icon
แก้ไขโดย : Natthamon
Natthamon

ทำงานเกี่ยวข้องกับวงการประกันรถยนต์และยานยนต์มาตั้งแต่ปี 2019 ในหลากหลายตำแหน่งทั้ง SEO Specialist, Senior Executive, SEO / Web Analytics และ SEO Content Writer ในบริษัทประกันรถยนต์่และรถมือสองชั้นนำ นอกจากนั้น ยังเคยอยู่ในแวดวงสื่อมวลชนนานถึง 3 ปีในตำแหน่งนักข่าวไอทีนิตยสารชื่อดังแวดวง E-Commerce ด้านการศึกษาจบระดับชั้นปริญญาโท คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยนเรศวร และปริญญาตรี คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

close
linkedin icon
 
Published: April 9,2024
  
Last edited: May 31, 2024
ดอกยางคืออะไร

ความรู้เกี่ยวกับยางรถยนต์ที่เจ้าของรถบางส่วนอาจมองข้ามไป โดยเฉพาะเรื่องดอกยางที่มีคุณสมบัติเพิ่มเติมเกี่ยวกับการขับขี่ ซึ่งข้อมูลที่ทาง แรบบิท แคร์ ได้หามาให้ในคราวนี้ ทุกคนจะได้เริ่มต้นทำความรู้จักกันตั้งแต่ ดอกยาง คือ อะไร, ร่องยาง คือ อะไร, องค์ประกอบทั้งหมดของลายดอกยาง, เหตุใดจึงต้องผลิตยางรถยนต์ให้มีดอกยาง, ประเภททั้งหมดของดอกยาง และผลลัพธ์การเติมลมที่ส่งผลโดยตรงต่อส่วนนี้ ซึ่งมีทั้งข้อมูลพื้นฐานกับสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานรถยนต์ในชีวิตประจำวัน รวมกันอยู่ในหัวข้อทั้งหมดด้านล่าง ยิ่งถ้าใครกำลังอยู่ในช่วงต้องตัดสินใจเลือกซื้อยางใหม่ อยากได้ยางรถยนต์ที่มีความเหมาะสมต่อการใช้งานของตัวเอง เรื่องราวในบทความนี้ จะเป็นความรู้เพิ่มเติมช่วยให้การตัดสินใจง่ายขึ้นแน่นอน

ดอกยางคืออะไร

ดอกยาง คือ บริเวณส่วนหน้ายางทั้งหมดที่มีการสัมผัสพื้นถนนตลอดเวลาขณะวิ่ง เวลาที่เราได้ยินว่าดอกยางเหลือ ดอกหมด นั่นหมายถึงคุณภาพหน้ายางที่เหลืออยู๋ สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน ถ้าดอกใกล้หมดอาจมีความเสี่ยงเรื่องการเกาะถนนที่ลดน้อยลง ทำให้เราสามารถควบคุมรถได้ยากขึ้นนั่นเอง

ร่องยาง คือ อะไร

ร่องยาง คือ ส่วนที่เป็นร่องบนหน้ายางรถยนต์ มีหน้าที่หลักในการช่วยรีดน้ำเมื่อวิ่งบนถนนที่เปียก ซึ่งถ้าร่องยางบางลง ประสิทธิภาพการรีดน้ำที่ต่ำลงตามไปด้วยนั้น จะทำให้รถยนต์เกิดอาการลื่นไถลได้ แต่กรณีที่วิ่งบนถนนแห้ง หากร่องยางมีความบาง จะวิ่งได้ดีกว่าบนถนนที่เปียก เพราะหน้าดอกยางมีผิวสัมผัสกับถนนที่มากขึ้น อย่างไรก็ตามดอกยางที่ดี ควรมีร่องยางลึกไม่น้อยกว่า 3 มิลมิเมตร

องค์ประกอบทั้งหมดของลายดอกยาง

องค์ประกอบทั้งหมดของลายดอกยาง ได้แก่ บล็อกดอกยาง, แนวดอกยาง, ร่องดอกยางเล็ก, ร่องดอกยางละเอียด และร่องยางที่เราเพิ่งกล่าวถึงไป ซึ่งในแต่ละส่วนจะมีสัดส่วน รวมถึงคุณสมบัติหน้าที่ที่แตกต่างกันออกไป ดังข้อมูลในลิสต์รายการต่อไปนี้

  • บล็อกดอกยาง ส่วนหน้ายางที่มีการยกนูนเพิ่มขึ้นมา ทำให้มีการสัมผัสผิวถนนเป็นอันดับแรก
  • แนวดอกยาง แนวของบล็อกที่เรียงตัวต่อเนื่องไปตามเส้นรอบวงของยาง เพื่อให้เกิดความสม่ำเสมอของตัวบล็อกที่สัมผัสผิวตลอดรอบวง
  • ร่องดอกยางเล็ก ร่องเล็ก ๆ ที่อยู่บนบล็อกยาง จะช่วยเพิ่มขอบฟังปลาที่ส่งผลให้มีประสิทธิภาพในการเกาะถนนเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน
  • ร่องดอกยางละเอียด ช่องที่มีลักษณะคล้ายกับลวดลายหน้ายาง ซึ่งมีคุณสมบัติในการรีดน้ำเช่นเดียวกันกับร่องยาง เพียงแต่มีการคิดวิเคราะห์ และดีไซน์ที่แตกต่างกันออกไปตามรุ่นยางเท่านั้นเอง

ถึงจะเห็นว่าองค์ประกอบดูเยอะแบบนี้แล้ว แต่คุณสมบัติของดอกยางแต่ละรุ่น เมื่อทำการเลือกซื้อผ่านเว็บไซต์จะมีประสิทธิภาพในแต่ละด้าน บอกไว้ค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้ว โดยเฉพาะแบรนด์ใหญ่ที่ทำการขายยางรถยนต์โดยเฉพาะ ซึ่งถ้าเรามีความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับองค์ประกอบติดตัวไว้ เวลาที่สังเกตตัวยางจริงจะสามารถทำความเข้าใจถึงประสิทธิภาพเหล่านั้นได้ทันที

ดอกยางสำคัญอย่างไร

เหตุใดจึงต้องผลิตยางรถยนต์ให้มีดอกยาง

เหตุใดจึงต้องผลิตยางรถยนต์ให้มีดอกยาง คำตอบ คือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการยึดเกาะถนนไม่ว่าจะเป็นเวลาถนนเปียกหรือถนนแห้ง เพราะถ้าถนนเปียกจะมีส่วนของร่องยาง ช่วยในการรีดน้ำออก ทำให้ตัวหน้ายางหรือดอกยางทั้งหมด สามารถสัมผัสกับถนนได้มากขึ้น ทำให้รถวิ่งเกาะถนนได้เป็นอย่างดี โดยที่ลดความเสี่ยงในการลื่นไถลให้น้อยลง ยิ่งไปกว่านั้นตัวดอกหรือหน้ายางเองยังมีส่วนช่วยในเรื่องกระจายน้ำหนักไปสู่ทิศทางต่าง ๆ ให้ทั่วผิวถนนอีกด้วย

ประเภททั้งหมดของดอกยาง

ประเภททั้งหมดของดอกยาง มีอยู่ประมาณ 4 ประเภท คือ แบบละเอียด (Rib Pattern), แบบบั้ง (Lug Pattern), แบบผสม (Rib Lug Pattern) และ แบบบล็อก (Block Pattern) สำหรับข้อมูลของประเภทที่กล่าวมา จะเป็นการขยายคุณสมบัติ หรือประสิทธิภาพเพิ่มเติมของแต่ละหน้ายางให้มีความละเอียดมากขึ้น ถึงสิ่งที่แต่ละประเภทสามารถทำได้ดีตามเอกลักษณ์

  • แบบละเอียด (Rib Pattern) มีความเป็นแนวยาวบนหน้ายางตามวงรอบของขอบ ทำให้เสียหน้าสัมผัสระหว่างร่องยางกับผิวถนนไม่มาก ช่วยรีดน้ำได้เร็ว มีเสียงรบกวนเข้าไปยังห้องโดยสารน้อย เหมาะสมกับรถยนต์ที่วิ่งบนทางเรียบเป็นประจำ
  • แบบบั้ง (Lug Pattern) เป็นบั้งขวางไปบนหน้ายาง หรือขวางตามแนวเส้นรอบวง เน้นประสิทธิภาพในการตะกุยไปบนพื้นถนน ช่วยให้วิ่งได้ดีบนผิวที่มีความขรุขระ มีร่องยางค่อนข้างลึก เพื่อเพิ่มอายุการใช้งานให้ยาวนาน หากใช้งานบนถนนปกติ จะเหมาะสมที่ความเร็วต่ำ
  • แบบผสม (Rib Lug Pattern) การผสมผสานระหว่างแบบละเอียดกับแบบบั้งเข้าด้วยกัน โดยส่วนละเอียดจะอยู่บริเวณกลาง ส่วนแบบบั้งจะอยู่ขนาบขอบยางทั้งสองด้าน ช่วยให้เหมาะสมต่อการใช้งานทั้งบนถนนที่เรียบและขรุขระสลับกันได้อย่างลงตัว
  • แบบบล็อก (Block Pattern) จะมีรูปลักษณ์เป็นแบบก้อน หรือแบบจุดที่เป็นบล็อกเหลี่ยมและกลมตามการออกแบบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตะกุยให้สูงขึ้นกว่าแบบบั้งหลายเท่าตัว เหมาะสมอย่างมากกับการเดินทางไปยังถนนที่ขรุขระมากกว่าปกติ โดยเฉพาะรถโหด ๆ อย่างออฟโรด มักจะเลือกใช้งานแบบบล็อกกันเป็นหลัก

ทีนี้คงเห็นภาพชัดเจนขึ้นแล้วว่าประเภทของดอกยางทั้งหมด มีประสิทธิภาพแตกต่างกันอย่างชัดเจน หากเราเป็นรถยนต์ปกติที่ใช้งานในชีวิตประจำวัน การเลือกใช้งานแบบละเอียดจะดูเหมาะสมที่สุด แต่หากออกต่างจังหวัดบ่อยครั้ง เจอผิวถนนที่สลับไปมา แบบผสมก็ดูตอบโจทย์ใช่น้อย ฉะนั้นก่อนเลือกต้องดูให้ดี ว่าการใช้งานรถยนต์ของเราเข้ากับประเภทใดมากที่สุด

ลักษณะของลายดอกยาง

ลักษณะของลายดอกยาง ก็จะมีแยกเพิ่มเติมออกไปอีก 4 ลักษณะเช่นกัน คือ แบบทิศทางเดียวกัน (Directional), แบบ 2 ทิศทาง (Non Directional), แบบสมมาตร (Symmetric) และ แบบไม่สมมาตร (Asymmetric) เรื่องลักษณะจะเป็นการเพิ่มเติมเรื่องการใช้งานให้ลึกขึ้นกว่าเดิมอีกเล็กน้อย โดยข้อมูลที่น่าสนใจมีดังต่อไปนี้

  • แบบทิศทางเดียวกัน (Directional) ที่แก้มยางจะมีลักษณะแสดงทิศทางการหมุน เพราะต้องใส่ยางให้ถูกต้อง เนื่องจากตัวยางถูกออกแบบมาให้เหมาะสมต่อการหมุนไปในทิศทางเดียว โดยตัวนี้จะมีคุณสมบัติการรีดน้ำที่โดดเด่นยิ่งกว่าแบบ 2 ทิศทาง (Non Directional)
  • แบบ 2 ทิศทาง (Non Directional) เป็นยางที่ออกแบบมาให้ใช้งานได้นานมากขึ้น เนื่องจากการสลับใช้งานที่สามารถทำได้อย่างครอบคลุม ช่วยยืดอายุยางได้เป็นอย่างดี
  • แบบสมมาตร (Symmetric) คือ ลักษณะที่เห็นกันได้บ่อยมากที่สุดในท้องตลาด จะมีการแบ่งลวดลายดอกยางอย่างสมมาตรบนหน้ายาง หากแบ่งออกเป็น 2 ส่วนจะดูเท่ากันแบบพอดี
  • แบบไม่สมมาตร (Asymmetric) เน้นการออกแบบที่แตกต่างทั้งมุมด้านในและด้านนอกยาง โดยด้านในเน้นที่การควบคุมขับขี่ในความเร็วสูง ส่วนด้านนอกจะออกแบบมาให้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการยึดเกาะถนน เวลาใส่ยางจะมีคำระบุไว้ชัดเจนว่าต้องใส่ยางในด้านไหน

หากเราศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับลักษณะของดอกยาง จะยิ่งมีโอกาสเลือกได้ดียิ่งขึ้น เหมาะสมและคุ้มค่าต่อการใช้งานในอนาคตอย่างแท้จริง

ผลลัพธ์การเติมลมที่ส่งผลโดยตรงต่อดอกยาง

สุดท้ายการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเติมลมยางรถยนต์ ที่จะส่งผลต่อดอกยางโดยตรงใน 2 กรณี คือ เติมลมยางอ่อนเกินไป ดอกยางเป็นยังไง และ เติมลมยางแข็งเกินไป ดอกยางเป็นยังไง ซึ่งคำตอบมีดังนี้

เติมลมยางอ่อนเกินไป ดอกยางเป็นยังไง

เติมลมยางอ่อนเกินไป ดอกยางด้านข้างจะหมดเร็วมากกว่าปกติ เนื่องจากแก้มยางที่บานออก ส่งผลให้ยางสึกไม่เท่ากันระหว่างขับขี่

เติมลมยางแข็งเกินไป ดอกยางเป็นยังไง

เติมลมยางแข็งเกินไป ดอกยางส่วนกลางจะหมดเร็วกว่า เพราะยางพองมากเกินไป ทำให้มีแค่ส่วนตรงกลางที่สัมผัสกับผิวถนนมากที่สุด

ทำความเข้าใจเกี่ยวกับดอกยางกันไปครบถ้วน ไม่มีขาดเรื่องไหนแล้วแบบนี้ ก็ถือว่าคุณเป็นคนที่มีความรู้เรื่องยางพอสมควรที่จะไปลองเลือกซื้อ เลือกหาด้วยตัว แต่ทางที่ดีหากไม่มั่นใจในการเลือกซื้อ อย่าลืมสอบถามกับตัวแทนจำหน่ายอีกครั้ง เพื่อให้ได้ยางที่ดีที่สุดแก่การใช้งาน และที่สำคัญจะขาดไม่ได้เลยกับประกันรถยนต์ที่ช่วยดูแลคุ้มครองเรื่องยางของเรา หากยางเสียหายจากอุบัติเหตุ บางเงื่อนไขพร้อมให้คุณเคลมค่ายางได้ถึง 50% หรืออาจจะมากกว่า ถ้าสนใจ เพียงแค่ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมกับทาง แรบบิท แคร์ ที่เบอร์ 1438 ได้ 24 ชั่วโมง


สรุป

สรุปบทความ

ดอกยางมีความสำคัญในการยึดเกาะถนนและรีดน้ำขณะขับขี่บนถนนเปียก เพื่อให้การขับขี่ปลอดภัยและไม่ลื่นไถล ดอกยางที่ดีควรมีร่องยางลึกไม่น้อยกว่า 3 มิลลิเมตร เพื่อป้องกันการลื่นไถลและรักษาประสิทธิภาพการขับขี่ องค์ประกอบของลายดอกยาง ได้แก่ บล็อกดอกยาง, แนวดอกยาง, ร่องดอกยางเล็ก, และร่องดอกยางละเอียด ซึ่งแต่ละส่วนมีหน้าที่ที่แตกต่างกัน เช่น บล็อกดอกยางช่วยให้มีการสัมผัสผิวถนนเป็นอันดับแรก และร่องดอกยางเล็กช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเกาะถนน ความลึกของดอกยางขั้นต่ำตามกฎหมายคือ 1.6 มิลลิเมตร และควรเปลี่ยนยางเมื่อใช้งานถึงขีดจำกัดนี้เพื่อความปลอดภัย

จบสรุปบทความ

ที่มา


 

บทความแคร์รถยนต์

Rabbit Care Blog Image 97234

แคร์รถยนต์

เทคนิคการเช็กรถเสียศูนย์ด้วยตัวเอง เพื่อป้องกันอันตรายบนท้องถนน

เคยได้ยินกันไหมกับคำว่า รถเสียศูนย์ ปัญหาของรถยนต์ที่มีโอกาสส่งผลให้เกิดอันตรายระหว่างขับขี่ได้สูงมาก จนอาจเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาได้ง่ายกว่าที่คิด
Natthamon
21/11/2024
Rabbit Care Blog Image 96528

แคร์รถยนต์

น้ำหยดใต้ท้องรถ เกิดจากอะไร? แบบไหนถึงเรียกว่าผิดปกติ

เคยสังเกตกันไหมว่าเวลาที่เราจอดรถยนต์นิ่งสนิท บางครั้งจะมีน้ำหยดใต้ท้องรถลงมาด้วย ซึ่งจะมากหรือน้อยเราไม่อาจคาดเดาได้เลยหากไม่ทำความเข้าใจ
Natthamon
19/11/2024
Rabbit Care Blog Image 97244

แคร์รถยนต์

เอารถเข้าศูนย์ เช็คระยะ ทำยังไง ต้องจองล่วงหน้าไหม ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นเท่าไหร่

หลังจากที่ออกรถมาใหม่ เราต้องเตรียมตัวให้พร้อมกับการเอารถเข้าศูนย์ เพื่อเช็กระยะตามที่ทางศูนย์ได้กำหนดเอาไว้
Natthamon
11/11/2024