Rabbit Care Logo
ใช้ใจแคร์ ดูแลครบ
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ในการเก็บข้อมูลเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการใช้งาน และเพื่อเก็บข้อมูลสถิติ ท่านสามารถศึกษารายละเอียด เพิ่มเติมได้ที่นโยบายคุกกี้
user profile image
เขียนโดยTawan A.วันที่เผยแพร่: Mar 07, 2022

ตอบครบทุกปัญหาเรื่อง ใบขับขี่ตลอดชีพ ใบขับขี่สากล และใบขับขี่ประเภทอื่น

เพราะทุกวันนี้การทำใบขับขี่ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก สำหรับผู้ที่ต้องการใช้รถใช้ถนนในประเทศไทย แต่ด้วยความหลากหลายของประเภทใบขับขี่ จึงอาจทำให้ประชาชนทุกคนเกิดความสับสนขึ้นมา ดังนั้น แรบบิท แคร์ จึงเลือกตอบคำถามที่มีความน่าสงสัยมากที่สุด คือ เรื่องของใบขับขี่ตลอดชีพกับปัญหาต่าง ๆ, ตอบทุกข้อมูลเกี่ยวกับใบขับขี่สากล, รายละเอียดในเรื่องของใบขับขี่รถตู้ และสุดท้าย ตอบคำถามผู้สูงอายุ ถ้าอายุมากแล้วจะยังต่อใบขับขี่ได้อยู่หรือไม่ พร้อมนำเสนอเรื่องอื่นที่เกี่ยวข้องแบบครบทุกด้าน ตอนนี้คงได้เวลาไปคำตอบกันแล้ว สามารถเลื่อนลงไปอ่านทีละหัวข้อได้เลย

ใบขับขี่ตลอดชีพคืออะไร ต่างจากใบขับขี่ประเภทอื่น ๆ อย่างไร

ใบขับขี่ตลอดชีพคือใบอนุญาตในการขับขี่รถที่ผู้ขับสอบผ่านแล้วสามารถใช้งานได้ตลอดไป ไม่ต้องต่อใบขับขี่หรือทำการทดสอบทำใบขับขี่ใหม่เหมือนใบขับขี่รถยนต์ในยุคปัจจุบัน หรือกล่าวได้ว่าใบขับขี่ตลอดชีพเป็นเอกสารรับรองให้คุณขับรถได้ตลอดชั่วชีวิตนั่นเอง จนกระทั่งเมื่อถึงปี พ.ศ. 2546 ทางกรมขนส่งทางบกได้ออกนโยบายใหม่ ให้ผู้ที่ทำใบขับขี่ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นไปจะเป็นใบอนุญาตขับรถยนต์ที่มีอายุการใช้งาน 5 ปี พอหมด 5 ปี แล้วต้องต่อหรือทดสอบขับรถใหม่ ทำให้ใบขับขี่ตลอดชีพหลังจากปีดังกล่าวจะไม่ถูกออกมาใช้งานอีกต่อไป แต่ถ้าใครได้มาก่อนหน้านี้ก็ถือว่าเป็นประโยชน์ของผู้ขับเอง เพราะคุณยังคงสามารถใช้งานใบขับขี่ตลอดชีพใบเดิมได้ไม่ต้องออกใหม่แต่อย่างใด

จากข้อมูลของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ช่วงก่อนปี พ.ศ. 2531 การออกใบขับขี่เป็นหน้าที่ของกองทะเบียน กรมตำรวจ ซึ่งจะเป็นแบบทะเบียนกระดาษ ใบขับขี่ตลอดชีพจึงถูกออกมาด้วยเหตุผลเพื่อลดปริมาณงานการติดต่อราชการของประชาชน และภายหลังปี พ.ศ. 2531 หน้าที่นี้ถูกย้ายโอนมายังกรมขนส่งทางบก จนกระทั่งถูกยกเลิกไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 ทำให้ใบขับขี่ตลอดชีพ ถือว่าหาได้ยากในปัจจุบัน เพราะเป็นใบขับขี่ที่ออกเพียงหนึ่งครั้ง สามารถใช้ได้ตลอดไป ต่างจากปัจจุบันที่จะกำหนดอายุใบขับขี่ และมีการต่ออายุ เพื่อตรวจสอบสมรรถภาพร่างกายของผู้ขับขี่ใหม่ทุกครั้งเมื่อมีการต่ออายุใบขับขี่ นับเป็นการป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้จากความเสื่อมถอยของสมรรถภาพเมื่ออายุเพิ่มขึ้น

สรุปคือ ใบขับขี่ตลอดชีพเป็นใบขับขี่ระบบเก่าก่อนปี พ.ศ. 2546 หากใครมีแล้วก็ใช้ในนี้ได้ไปจนชั่วชีวิต แต่ถ้าใครทำใบขับขี่หลังปี พ.ศ. 2546 ก็จะเป็นใบขับขี่ที่มีอายุการใช้งาน ต้องต่อทุก ๆ 5 ปี นั่นเอง

แม้ว่าใบขับขี่ตลอดชีพจะไม่สามารถทำได้แล้วในยุคปัจจุบัน แต่ผู้ที่มีใบขับขี่แบบนี้ก็ไม่ต้องตกใจไปเพราะคุณสามารถใช้งานใบขับขี่ใบเดิมได้ แม้ว่าใบขับขี่ใบเดิมอาจเก่าหรือเสื่อมโทรมตามอายุการใช้งานไป คุณก็สามารถติดต่อขนส่งทางบกให้ออกใบขับขี่ตลอดชีพใบใหม่ได้เช่นกัน (ขนส่งจะออกใบขับขี่แบบตลอดชีพให้ใหม่เฉพาะผู้ที่เคยมีใบเก่ามาแล้วเท่านั้น)

ใบขับขี่ตลอดชีพ ต้องเปลี่ยนใหม่หรือไม่ อยากขอใบขับขี่ตลอดชีพต้องทำอย่างไร?

หลายคนคงรู้ถึงข้อดีของใบขับขี่ตลอดชีพ และอยากได้มาครอบครอง แต่ประเด็นคือจะทำเรื่องขอด้อย่างไร? ปัจจุบันยังทำได้หรือไม่? ซึ่งเราขอดับฝันทุกท่านด้วยการบอกว่าตอนนี้ไม่สามารถขอใบขับขี่ตลอดชีพได้แล้ว เพราะใบขับขี่แบบนี้ได้ถูกยกเลิกไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 แล้ว หากคุณติดต่อทำใบขับขี่ตอนนี้ก็จะได้ใบขับขี่บุคคลปกติที่ต้องต่ออายุทุก ๆ 5 ปี เท่านั้น เนื่องจากนโยบายของกรมขนส่งทางบกที่ต้องการยกระดับความปลอดภัยบนท้องถนนมากขึ้น ด้วยการให้ผู้ขับขี่ต้องมาทดสอบสมรรถภาพบ่อย ๆ ว่าพร้อมในการขับขี่หรือไม่ ซึ่งเป็นการช่วยคัดกรองให้คนขับรถรุ่นใหม่ขับขี่อย่างมีคุณภาพมากขึ้น เท่านั้น ถ้าใครยังมีใบขับขี่ตลอดชีพอยู่ก็ถือว่าโชคดี ไม่ต้องมาต่อใบขับขี่หรือทดสอบสมรรถภาพทุก ๆ 5 ปี นั่นเอง

ใบขับขี่ตลอดชีพหายต้องสอบใหม่หรือไม่ จะยังได้ใบขับขี่ตลอดชีพอยู่หรือเปล่า

เพราะในปัจจุบัน ไม่มีการออกใบขับขี่ตลอดชีพให้สำหรับผู้ใช้รถอีกต่อไปแล้ว ทำให้ใครหลายคนที่ถือครองใบขับขี่แบบนี้อาจจะกังวลว่า ถ้าใบขับขี่หายจะต้องสอบใหม่หรือไม่ ก็สามารถคลายกังวลได้เลยว่า ไม่จำเป็นต้องสอบใหม่ เพราะเราสามารถติดต่อกรมการขนส่งทางบกเพื่อทำบัตรใหม่ได้เลย เนื่องจากกรมขนส่งทางบกจะมีข้อมูลและประวัติการถือใบขับขี่และประเภทการอนุญาตของแต่ละบุคคลอยู่แล้ว รวมไปถึงการทำบัตรใหม่ก็ยังคงได้รับเป็นใบขับขี่ตลอดชีพอยู่เช่นกัน

เอกสารที่ต้องใช้กรณีใบขับขี่ตลอดชีพสูญหาย

  1. บัตรประชาชน หรือเอกสารยืนยันตัวตนที่หน่วยงานราชการออกให้
  2. ใบแจ้งความ (กรณีเป็นใบอนุญาตขับขี่รถยนต์สาธารณะหรือ แท็กซี่)

ขั้นตอนการจองคิวใบขับขี่ตลอดชีพใหม่

ในปัจจุบันนั้นการต่ออายุใบขับขี่หรือการทำบัตรใหม่มีความสะดวกสบายมากขึ้น เพียงแค่เราจองคิวการทำใบขับขี่ล่วงหน้าผ่านระบบออนไลน์ได้ที่แอปพลิเคชัน DLT Smart Queue ที่รองรับทั้งระบบ Android และ iOS เริ่มต้นจากการเลือกรายชื่อสำนักงานขนส่งใกล้บ้าน จากนั้นเลือกประเภทบริการงานใบอนุญาต พร้อมกรอกรายละเอียดต่างๆ ในระบบและทำการเลือกวันเวลาที่สะดวก ก็เป็นอันเสร็จสิ้น เพียงเท่านี้เราก็สามารถเข้าไปที่สำนักงานขนส่งพร้อมเอกสารตามวันเวลาที่นัด เพื่อขอใบขับขี่ตลอดชีพใบใหม่โดยไม่ต้องรอคิวยาวอีกต่อไป

ใบขับขี่ตลอดชีพควรถูกยกเลิกหรือไม่?

นับว่าเป็นประเด็นทางสังคมกันมาสักพักแล้วกับปัญหาใบขับขี่ตลอดชีพ เพราะผู้ที่ครอบครองใบขับขี่ประเภทนี้มักเป็นผู้สูงอายุที่ทำใบขับขี่ก่อนปี พ.ศ. 2546 ซึ่งประเด็นก็คือผู้สูงอายุบางคนที่มีใบขับขี่ตลอดชีพเริ่มประสบปัญหาด้านร่างกาย สายตา การตัดสินใจ จนเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนบ่อยครั้ง ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่าควรมีมาตรการให้ผู้ที่มีใบขับขี่ตลอดชีพเข้ามาทดสอบสมรรถภาพร่างกายใหม่หรือไม่

จากสถิติสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่ามีผู้ใช้งานใบขับขี่ตลอดชีพ 12 ล้านคนรวมถึงผู้ขับขี่ในช่วงอายุ 50 - 80 ปี นั้น มีการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนมากกว่าช่วงอายุ 25 - 50 ปี อย่างเห็นได้ชัด จึงอนุมานได้ว่ายิ่งถึงวัยชราภาพ สมรรถภาพร่างกายย่อมเสื่อมถอยทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายจริง ๆ นั่นเอง นอกจากนี้ยังมีโรคร้ายและอาการป่วยต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ ความดัน เบาหวาน เส้นประสาท ฯลฯ อาจทำให้เกิดภาวะหมดสติเฉียบพลัยขณะขับขี่ได้เช่นกัน การมีใบขับขี่ตลอดชีพจึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่สร้างความเสี่ยงอุบัติเหตุบนท้องถนน

ปัญหาของใบขับขี่ตลอดชีพนั้นยังคงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด และต้องมีการประเมินสถิติและผลวิจัยอื่น ๆ มาประกอบ เพื่อให้แก้ไขปัญหาได้ตรงจุด ไม่ว่าทิศทางใบขับขี่ตลอดชีพในอนาคตนั้นจะออกมาเป็นเช่นไรเรามิอาจคาดการณ์ได้ แต่มีสิ่งหนึ่งที่เรายังสามารถดูแลและปกป้องความปลอดภัยของตัวเราเองได้ก็คือการขับขี่ด้วยความไม่ประมาทและเคารพต่อกฎจราจร

ใบขับขี่สากล คืออะไร

จากข้อมูลของ สำนักสวัสดิภาพการขนส่งทางบกล่าวถึงใบขับขี่สากล ว่าใบขับขี่ดังกล่าว คือ เอกสารที่ใช้ยืนยันตัวตนของผู้ขับขี่ เพื่อให้สามารถขับขี่ได้ภายในประเทศหรือดินแดนที่ไม่ใช่บ้านเกิด ใบขับขี่ประเภทนี้มีชื่อทางการว่า ใบขับขี่ระหว่างประเทศ (International Driving Permit: IDP) โดยการใช้งานของใบขับขี่ประเภทนี้ คือการที่เราต้องแสดงใบขับขี่ชนิดนี้ควบคู่กับใบขับขี่จากประเทศบ้านเกิด เพื่อยืนยันและอนุญาตให้ผู้ขับขี่นั้น ๆ สามารถขับขี่ออกนอกประเทศได้อย่างถูกกฎหมาย สำหรับใบขับขี่สากล กรมการขนส่งทางบกได้เป็นหนึ่งในสมาชิกภาคีอนุสัญญาเจนีวาและอนุสัญญาเวียนนา ซึ่งครอบคลุมการทำใบขับขี่ที่สามารถใช้ได้ในมากกว่า 100 ประเทศ

ผู้ที่ต้องการทำใบขับขี่ประเภทนี้ จำเป็นต้องได้รับใบขับขี่ประเภทใบอนุญาตขับรถส่วนบุคคล รถยนต์สามล้อส่วนบุคคล หรือรถจักรยานยนต์มาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับใบขับขี่ประเภทนี้ได้ที่เว็บไซต์ของกรมการขนส่งทางบก

ใบขับขี่สากล ใช้ที่ไหนได้บ้าง

จากข้อมูลของสำนักสวัสดิภาพการขนส่ง รายชื่อประเทศภาคีภายใต้อนุสัญญา ที่รวบรวมรายชื่อประเทศที่เข้าร่วมอนุสัญญาว่าด้วยการจราจรทางถนน ณ กรุงเจนีวา ค.ศ. 1949 และอนุสัญญาว่าด้วยการจราจรทางถนน ณ กรุงเวียนนา ค.ศ.1968 โดยมีประเทศภาคีภายใต้อนุสัญญาเจนีวา ค.ศ. 1949 อยู่ 101 ประเทศ และมีประเทศภาคีภายใต้อนุสัญญาเวียนนา ค.ศ. 1968 อยู่ 84 ประเทศ โดยผู้ที่ทำใบขับขี่ดังกล่าวจะสามารถใช้ใบขับขี่ประเภทนี้ในประเทศภาคีภายใต้อนุสัญญาเจนีวาได้เป็นระยะเวลา 1 ปี และผู้ที่ทำใบขับขี่ประเภทดังกล่าวจะสามารถใช้ใบขับขี่ในประเทศภาคีภายใต้อนุสัญญาเวียนนาได้เป็นระยะเวลา 3 ปี ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ รายชื่อของประเทศที่สามารถทำใบขับขี่สากล กรมการขนส่งทางบก โดยรายชื่อประเทศภาคีภายใต้อนุสัญญาเจนีวา ค.ศ.1949 และอนุสัญญาเวียนนา ค.ศ. 1968 มีดังต่อไปนี้

รายชื่อประเทศภาคีภายใต้อนุสัญญาเจนีวา ค.ศ.1949

จากที่กล่าวไว้ข้างต้น มีประเทศภาคีภายใต้อนุสัญญาเจนีวาอยู่ 102 ประเทศ ได้แก่ แอลบาเนีย แอลจีเรีย อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย ออสเตรีย บังกลาเทศ บาร์เบโดส เบลเยียม เบนิน บอตสวานา บรูไนดารุสซาลาม บัลแกเรีย บูร์กินาฟาโซ กัมพูชา แคนาดา สาธารณรัฐแอฟริกากลาง ชิลี คองโก โกตดิวัวร์ โครเอเชีย คิวบา ไซปรัส สาธารณรัฐเช็ก สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เดนมาร์ก สาธารณรัฐโดมินิกัน เอกวาดอร์ อียิปต์ เอสโตเนีย ฟิจิ ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส จอร์เจีย กานา กรีซ กัวเตมาลา เฮติ ฮ่องกง ฮังการี ไอซ์แลนด์ อินเดีย ไอร์แลนด์ อิสราเอล อิตาลี จาเมกา ญี่ปุ่น จอร์แดน คีร์กีซสถาน ลาว เลบานอน เลโซโท ลิกเตนสไตน์ ลิทัวเนีย ลักเซมเบิร์ก มาเก๊า มาดากัสการ์ มาลาวี มาเลเซีย มาลี มอลตา โมนาโก มอนเตเนโกร โมร็อกโก นามิเบีย เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ ไนเจอร์ ไนจีเรีย นอร์เวย์ ปาปัวนิวกินี ปารากวัย เปรู ฟิลิปปินส์ โปแลนด์ โปรตุเกส โรมาเนีย รัสเซีย รวันดา ซานมาริโน เซเนกัล เซอร์เบีย เซียร์ราลีโอน สิงคโปร์ สโลวาเกีย สโลวีเนีย แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ สเปน ศรีลังกา สวีเดน ซิเรีย ไทย โตโก ตรินิแดดและโตเบโก ตูนิเซีย ตุรกี ยูกันดา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา นครรัฐวาติกัน เวเนซุเอลา เวียดนาม และซิมบับเว ซึ่งสามารถตรวจสอบได้จากรายชื่อของประเทศที่สามารถทำใบขับขี่สากล กรมการขนส่งทางบก

รายชื่อประเทศภาคีภายใต้อนุสัญญาเวียนนา ค.ศ.1968

จากที่กล่าวไว้ข้างต้น มีประเทศภาคีภายใต้อนุสัญญาเวียนนา ค.ศ. 1968 อยู่ 84 ประเทศ ได้แก่ แอลเบเนีย อาร์เมเนีย ออสเตรีย อาเซอร์ไบจาน บาฮามาส บาห์เรน เบลารุส เบลเยียม บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา บราซิล บัลแกเรีย การ์บูเวร์ดี สาธารณรัฐแอฟริกากลาง โกตดิวัวร์ โครเอเชีย คิวบา สาธารณรัฐเช็ก สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เดนมาร์ก เอสโตเนีย ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส จอร์เจีย เยอรมนี กรีซ กายอานา ฮอนดูรัส ฮังการี อิหร่าน อิรัก อิสราเอล อิตาลี คาซัคสถาน เคนยา คูเวต คีร์กีซสถาน ลัตเวีย ไลบีเรีย ลิกเตนสไตน์ ลิทัวเนีย ลักเซมเบิร์ก มอลโดวา โมนาโก มองโกเลีย มอนเตเนโกร โมร็อกโก เมียนมา เนเธอร์แลนด์ ไนเจอร์ ไนจีเรีย มาซิโดเนียเหนือ นอร์เวย์ โอมาน ปากีสถาน เปรู ฟิลิปปินส์ โปแลนด์ โปรตุเกส กาตาร์ โรมาเนีย รัสเซีย ซานมาริโน ซาอุดีอาระเบีย เซเนกัล เซอร์เบีย เซเชลส์ สโลวาเกีย สโลวีเนีย แอฟริกาใต้ ปาเลสไตน์ สวีเดน สวิสเซอร์แลนด์ ทาจิกิสถาน ไทย ตูนิเซีย ตุรกี เติร์กเมนิสถาน ยูเครน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร อุรุกวัย อุซเบกิสถาน เวียดนาม และซิมบับเว ซึ่งสามารถตรวจสอบได้จากรายชื่อของประเทศที่สามารถทำใบขับขี่สากล กรมการขนส่งทางบก

ในขณะเดียวกัน มีประเทศที่เป็นประเทศภาคีภายใต้อนุสัญญาเจนีวาและอนุสัญญาเวียนนาด้วย ซึ่งมีอยู่ 49 ประเทศ ได้แก่ แอลเบเนีย ออสเตรีย เบลเยี่ยม บัลแกเรีย สาธารณรัฐแอฟริกากลาง โกตดิวัวร์ โครเอเชีย คิวบา สาธารณรัฐเช็ก สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส จอร์เจีย กรีซ ฮังการี อิสราเอล อิตาลี คีร์กีซสถาน ลิกเตนสไตน์ ลิทัวเนีย ลักเซมเบิร์ก โมนาโก มอนเตเนโกร โมร็อกโก เนเธอร์แลนด์ ไนเจอร์ ไนจีเรีย นอร์เวย์ เปรู ฟิลิปปินส์ โปแลนด์ โปรตุเกส โรมาเนีย รัสเซีย ซานมาริโน เซเนกัล เซอร์เบีย สโลวาเกีย สโลวีเนีย แอฟริกาใต้ สวีเดน ไทย ตูนิเซีย ตุรกี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร เวียดนาม และซิมบับเว ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ รายชื่อของประเทศที่สามารถทำใบขับขี่สากล กรมการขนส่งทางบก

ใบขับขี่สากล ทำที่ไหนได้บ้าง ต่างจังหวัดทำได้หรือไม่

สำหรับการทำใบขับขี่สากลกรมการขนส่งระบุไว้ว่าสามารถทำได้ที่สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-5 และสำนักงานขนส่งจังหวัดทั่วประเทศ กรณีอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดแล้วต้องการทำใบขับขี่สากล กรมการขนส่งทางบกระบุไว้ว่าสามารถติดต่อเพื่อทำใบขับขี่ประเภทนี้ได้ที่สำนักงานขนส่งทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หมายเลข 1584 ตลอด 24 ชั่วโมง

ทำใบขับขี่สากลต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง

สำหรับผู้ที่สงสัยว่าใบขับขี่สากล เอกสารใช้อะไรบ้าง ในการทำใบขับขี่สากล กรมการขนส่งทางบกระบุไว้ว่า เอกสารที่ต้องใช้ในการทำได้แก่ สำเนาหนังสือเดินทางเล่มปัจจุบัน หน้าประวัติส่วนตัวของหนังสือเดินทางและส่วนที่มีรายการแก้ไข พร้อมทั้งหนังสือเดินทางฉบับจริง บัตรประจำตัวประชาชน สำเนาใบขับขี่รถส่วนบุคคลพร้อมฉบับจริง รูปถ่ายหน้าตรงขนาด 2 นิ้ว จำนวน 2 รูป ซึ่งรูปถ่ายจะต้องมีอายุไม่เกิน 6 เดือนนับจากวันที่ถ่ายรูป สำเนาหลักฐานในการแก้ไขชื่อ-สกุล (ถ้ามี) ทะเบียนสมรส (ถ้ามี) ใบหย่า (ถ้ามี) ในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการด้วยตนเองได้ จะต้องใช้หนังสือมอบอำนาจ พร้อมทั้งสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบและผู้รับมอบอำนาจด้วย

ใบขับขี่สากล อายุกี่ปี

สำหรับผู้ที่สงสัยว่าใบขับขี่สากล อายุกี่ปี สำหรับใบขับขี่สากล กรมการขนส่งทางบกระบุไว้ว่า ใบขับขี่ประเภทดังกล่าวมีอายุตามประเทศที่เป็นประเทศภาคีภายใต้อนุสัญญานั้น ๆ กล่าวคือ หากเป็นใบขับขี่ที่เป็นประเทศภาคีภายใต้อนุสัญญาเจนีวา ค.ศ. 1949 ใบขับขี่นั้นจะมีอายุการใช้งาน 1 ปี หากเป็นใบขับขี่ที่เป็นประเทศภาคีภายใต้อนุสัญญาเวียนนา ค.ศ. 1968 ใบขับขี่นั้นจะมีอายุการใช้งาน 3 ปี หรือหากเป็นใบขับขี่ที่เป็นของประเทศภาคีภายใต้อนุสัญญาเจนีวาและอนุสัญญาเวียนนา ใบขับขี่นั้นก็จะมีอายุการใช้งาน 3 ปีเช่นเดียวกัน และอายุการใช้งานจะต้องไม่เกินอายุของใบขับขี่ภายในประเทศที่มีอยู่ด้วย มากไปกว่านั้น สำหรับประเทศที่เป็นภาคีอนุสัญญาทั้งสองฉบับ สามารถใช้ใบขับขี่ที่ออกตามอนุสัญญาเวียนนา ค.ศ. 1968 เพียงฉบับเดียวได้

ทำใบขับขี่รถตู้ ต้องทำอย่างไร?

ใบขับขี่รถตู้ จะจัดอยู่ในใบขับขี่ประเภท 2 คือเป็นใบอนุญาตสำหรับขับรถที่มีน้ำหนักบรรทุกรวมกันเกินกว่า 3,500 กิโลกรัม โดยไม่ใช่รถขนส่งผู้โดยสาร หรือสำหรับรถขนส่งผู้โดยสารเกินกว่า 20 คน เช่น รถตู้ รถเมล์, รถบัส, รถบรรทุกสินค้า หรือรถ 6 ล้อ โดยใบขับขี่รถตู้ หรือใบขับขี่ประเภท 2 จะมีอายุการใช้งาน 3 ปี

ใบขับขี่ประเภท 2 สามารถขับรถได้ทุกประเภทอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งรถส่วนบุคคลและรถสาธารณะ โดยจำแนกย่อยๆ ได้ 2 ชนิด คือ

  1. ใบขับขี่ประเภท 2 บ.2 เป็นใบขับขี่สำหรับรถยนต์ส่วนบุคคลป้ายทะเบียนสีขาว ที่ไม่ได้ใช้ในเชิงพาณิชย์ อนุญาตให้สามารถขับขี่เพื่อขนส่งส่วนบุคคล
  2. ใบขับขี่ประเภท 2 ท.2 เป็นใบขับขี่สำหรับรถสาธารณะป้ายทะเบียนสีเหลือง ที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ สามารถขับขี่เพื่อขนส่งได้ทุกประเภท ทั้งใช้สำหรับการขนส่งเพื่อการค้า ใช้ขนส่งเพื่อรับจ้าง หรือประกอบธุรกิจการขนส่งก็ได้เช่นกัน

ทำใบขับขี่รถตู้ มีเงื่อนไขอะไรบ้าง?

ในการขอทำใบขับขี่รถตู้ หรือใบขับขี่ประเภท 2 จะมีเงื่อนไขมากกว่าปกติ โดยผู้ยื่นขอใบขับขี่จะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

1.มีอายุไม่ต่ำกว่า 22 ปีบริบูรณ์
2.มีสัญชาติไทย
3.ไม่มีคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 46

  • มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์
  • มีความรู้และความสามารถในการขับรถ
  • มีความรู้ในข้อบังคับการเดินรถตามพระราชบัญญัติและตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก
  • ไม่เป็นผู้มีร่างกายพิการจนเป็นที่เห็นได้ว่าไม่สามารถขับรถได้
  • ไม่มีโรคประจำตัวที่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเห็นว่าอาจเป็นอันตรายขณะขับรถ
  • ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือน
  • ไม่มีใบอนุญาตขับรถชนิดเดียวกันอยู่แล้ว
  • ไม่เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกยึดหรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถ

4.ได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราวไม่น้อยกว่า 1 ปี
5.ไม่ถูกเจ้าหน้าที่เปรียบเทียบปรับตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป
6.ไม่เป็นผู้ติดสุรายาเมาหรือยาเสพติดให้โทษ
7.ไม่เคยมีความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน
8.ไม่เคยมีความผิดเกี่ยวกับเงินตรา
9.ไม่เคยมีความผิดเกี่ยวกับเพศ
10.ไม่เคยมีความผิดฐานรับของโจร
11.ไม่เคยมีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
12.ไม่เคยมีความผิดต่อชีวิต
13.ไม่เคยมีความผิดต่อร่างกาย
14.ไม่เคยมีความผิดต่อเสรีภาพ
15.ไม่เคยมีความผิดฐานยักยอก
16.ไม่เคยโดนคำพิพากษาให้ลงโทษถึงที่สุด
17.ไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถชั่วคราว


ทำใบขับขี่รถตู้ ใช้เอกสารอะไรบ้าง?

ในการขอใบขับขี่รถตู้ หรือใบขับขี่ประเภท 2 จะใช้เอกสารคล้ายๆ กับการทำใบขับขี่ตามปกติ ได้แก่

  1. ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราว
  2. บัตรประจำตัวประชาชน พร้อมสำเนา
  3. สำเนาทะเบียนบ้าน
  4. ใบรับรองแพทย์ อายุไม่เกิน 1 เดือน ส่วนขั้นตอนการขอใบขับขี่รถตู้ หรือใบขับขี่ประเภท 2 จะเหมือนกับการขอใบขับขี่ปกติ คือ ยื่นเอกสารให้กับเจ้าหน้าที่ เมื่อ เจ้าหน้าที่นำเอกสารไปตรวจสอบความถูกต้องเรียบร้อยแล้ว ผู้ขอใบขับขี่จะต้องทดสอบสมรรถภาพ ได้แก่ ตรวจตาบอดสี การตัดสินใจการเบรก และการเช็คสายตาทางลึกและทางกว้าง

ยังมีหลายคนที่เข้าใจผิดว่าแค่มีใบขับขี่ก็สามารถขับรถอะไรก็ได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วรถแต่ละประเภทจะต้องใช้ใบขับขี่ที่แตกต่างกัน ดังนั้นแนะนำให้ศึกษาเรื่องนี้ให้ละเอียด ตรวจเช็คดูว่ารถอะไร ต้องทำใบขับขี่ประเภทไหน ไม่อย่างนั้นอาจมีความผิดทางกฎหมาย โดนตำรวจจับเอาได้

ถ้าอายุเยอะแล้วยังทำใบขับขี่ได้อยู่ไหม?

กรมควบคุมโรคได้เปิดเผยสถิติที่จำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนน่าสนใจออกมา พบว่าช่วงอายุ 15-24 ปี และช่วง 50-80 ปี มีอัตราการเสียชีวิตสูงสุดเมื่อเทียบกับช่วงอายุอื่น

นอกจากนี้ ยังมี โครงการศึกษาเพื่อพัฒนาระบบใบอนุญาตขับรถให้เหมาะสมกับประเทศไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยเสริมว่า อายุที่มากขึ้นและสมรรถภาพทางร่างกายที่ลดลง เช่น

  • การหมดสติอย่างฉับพลันในหมู่ผู้สูงอายุ
  • ปัญหาด้านการมองเห็น
  • ความผิดปกติของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ
  • ความผิดปกติของระบบประสาท เช่น ความว่องไวในการตอบสนองต่อเหตุการณ์คับขันช้าลง, การทำงานระหว่างอวัยวะต่าง ๆ ให้ประสานกันได้ไม่ดี และสมาธิลดลง
  • อ่อนล้าง่ายถ้าต้องขับรถนาน ๆ
  • มีโรคประจำตัว
  • ผู้สูงอายุบางคนยังต้องทานยาซึ่งอาจจะมีผลต่อความสามารถในการการขับรถ

และปัญหาสุขภาพอีกหลาย ๆ อย่าง ซึ่งอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้นของกลุ่มผู้ขับขี่ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป นอกจากนี้ หากมีแนวโน้มเกิดอุบัติเหตุที่รุนแรง ผู้สูงอายุจะได้รับอันตรายมากกว่าและโอกาสถึงแก่ชีวิตสูงกว่าคนหนุ่มสาวถึง 9 เท่า แม้จะมีการคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งแล้วก็ตาม

ส่วนสถิติจากทางต่างประเทศ อย่างสหรัฐฯ แม้บางรัฐฯ จะไม่มีตัวเลขอายุที่ขีดเส้นกำหนดกฎหมายแน่นอน ว่าอายุเท่าไหร่จึงไม่ควรขับรถ แต่ข้อมูลสถิติพบว่า คนขับรถที่สูงอายุมีสถิติเกิดอุบัติเหตุปางตายต่อระยะทางเป็นไมล์มากกว่ากลุ่มอื่น และมักจะเกิดเหตุฝ่าฝืนกฎจราจรและอุบัติเหตุไม่ถึงตายมากกว่าคนหนุ่มสาว

แม้จะยังไม่มีผลวิจัยเจาะจงว่าอายุมีผล แต่ปฎิเสธไม่ได้เลยว่า ปัจจัยด้านสุขภาพล้วนมีผล และการที่อายุเยอะมากขึ้นเอง ก็ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ นี่เองที่ทำให้ปัจจุบัน ไทยเองก็ได้ทำการยกเลิกใบขับขี่ตลอดชีพลงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 ที่ผ่านมา

จะเห็นจากสถิติว่าบางฝ่ายอาจจะรู้สึกเห็นด้วย เพราะมองเป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคล และควรเช็กจากสภาพร่างกายของแต่ละบุคคลเป็นหลัก แถมในไทยระบบการขนส่งยังไม่เอื้อต่อการเดินทางสำหรับผู้สูงอายุ แต่อีกฝ่ายก็แสดงความเห็นว่าเป็นความเสี่ยงที่อันตราย และไม่เห็นด้วยกับการให้ผู้สูงอายุออกมาขับขี่รถยนต์บนท้องถนน

เรียกได้ว่าเป็นข้อถกเถียงที่น่าสนใจกันเลยทีเดียวกับเรื่องของอายุผู้ขับขี่บนท้องถนน

สามารถต่ออายุใบขับขี่ได้จนถึงอายุเท่าไร?

เบื้องต้น เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ทางกรมการขนส่งทางบกได้กำหนดอายุขั้นต่ำของผู้ทำใบขับขี่แต่ละประเภทเอาไว้อย่างชัดเจน ซึ่งรถแต่ละประเภทต่างก็กำหนดเกณฑ์อายุขั้นต่ำแตกต่างกันออกไป ดังนี้

  • ใบขับขี่รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราว ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี (ในกรณีที่ขอใบขับขี่รถจักรยานยนต์ชั่วคราว สามารถทำได้ตั้งแต่ 15 ปี แต่ต้องเป็นรถจักรยานยนต์ไม่เกิน 110 ซีซี เท่านั้น
  • ใบขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราว ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี
  • ใบขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี
  • ใบขับขี่รถยนต์สาธารณะ, ใบขับขี่รถยนต์สามล้อสาธารณะ ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 22 ปี
  • ใบขับขี่รถบดถนน, ใบขับขี่รถแทรกเตอร์ และใบขับขี่รถชนิดอื่นตามมาตรา 43 ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี จะเห็นได้ว่า ในการทำใบขับขี่ของไทยไม่ว่าจะประเภทให้ก็ตาม จะยังไม่มีการกำหนดขอบเขตอายุที่ห้ามขับรถอย่างชัดเจน ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ก็ได้หยิบยกความเสี่ยงนี้ เกิดมาเป็นแนวทางการป้องกันความเสี่ยงเป็นกฎหมายต่าง ๆ ออกมา

เช่น ในกลุ่มสหภาพยุโรป ส่วนใหญ่จะกำหนดให้มีการตรวจสอบสมรรถภาพทางกายอีกครั้งเมื่อผู้ขับขี่มีอายุครบตามเกณฑ์ที่กำหนด อย่าง สวีเดน เมื่ออายุถึง 45 ปี จะต้องมีการตรวจสมรรถภาพทางกายใหม่ และตรวจซ้ำทุก 10 ปีหากยังต้องการขับรถต่อ หรือ ฝรั่งเศส กำหนดเกณฑ์อายุที่ 60 ปี และต้องตรวจอีกครั้งในทุก 2-5 ปี หากยังต้องการขับรถต่อ

หรือกรณีออสเตรเลีย แม้รัฐจะไม่ได้กำหนดเกณฑ์อายุสูงสุดไว้แต่มีมาตรการควบคุมดูแลผู้ขับขี่ที่มีอายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไป จะต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจสอบว่ามีอาการหรือมีความผิดปกติตามหลักเกณฑ์ที่รัฐกำหนดหรือไม่ และออกใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่ามีสุขภาพดีพอที่จะขับขี่รถ

ส่วนในไทย หลายฝ่ายเองก็มองเห็นถึงความเสี่ยง จึงมีการยกเลิกใบขับขี่ตลอดชีพแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 ที่ผ่านมา และมีการตั้งกฎใหม่ ออกมาว่า

การขอรับและต่ออายุใบขับขี่ ตั้งแต่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 เป็นต้นไป จะต้องมีเอกสารใบรับรองแพทย์เป็นหลักฐานประกอบการดำเนินการทุกครั้ง

เนื่องจากตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกเดิมจะไม่มีการกำหนดให้ใช้เอกสารใบรับรองแพทย์ แต่ด้วยสมรรถภาพของร่างกายของผู้ขับรถมีการเปลี่ยนแปลงไปตามวัยที่เพิ่มมากขึ้นและอาจมีโรคประจำตัว หรืออาจมีเหตุให้สมรรถภาพของร่างกายบกพร่องจนไม่สามารถขับรถได้ จึงจำเป็นต้องกำหนดให้ผู้ขับรถเข้ารับการตรวจรับรองจากแพทย์ก่อนเบื้องต้นก่อนการต่ออายุใบขับขี่ เพื่อเป็นการคัดกรอง และรับรองจากทางแพทย์ว่าผู้มาต่ออายุใบขับขี่นั้น ยังคงสามารถขับขี่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

นอกจากนี้แล้ว ผู้สูงอายุเอง หรือคนในครอบครัว ก็ควรประเมินตนเองเบื้องต้นก่อนการไปต่ออายุใบขับขี่ โดยอาจประเมินเบื้องต้นจาก

  • มีประวัติหกล้มง่ายหรือไม่ เพราะอาจเป็นสัญญาเตือนว่าระบบประสาทและสมองเสื่อมลง
  • เคยมีอุบัติเหตุเล็ก ๆ หรือฝ่าฝืนกฎจราจรโดยไม่ได้ตั้งใจหรือไม่ เช่น ขับฝ่าไฟแดงบ้างไหม
  • สายตาเป็นอย่างไร สามารถอ่านหนังสือตัวเล็ก ๆ ได้ไหม, อ่านป้ายจราจรได้ดีแค่ไหน
  • มีความสามารถทางร่างกายเป็นอย่างไร ยังสามารถเดินเหินลุกนั่งคล่องตัวหรือไม่
  • มีโรคประจำตัวที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ไหม เช่น โรคลมชักหรือลมบ้าหมู, โรคหัวใจขาดเลือดรุนแรงจนเกิดหัวใจวาย หรือหัวใจเต้นผิดปกติจนเกิดอัมพาตเฉียบพลันขณะขับรถ
  • ยารักษาโรคประจำตัวมีผลข้างเคียงทำให้ง่วงซึมลดความสามารถในการขับรถหรือไม่ เช่น ยาแก้แพ้, ยากล่อมประสาท หรือยาต้านความเครียด ฯลฯ
  • พฤติกรรมในช่วงสูงอายุเปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหน เช่น บางคนเมื่ออายุ 60 ปี อาจง่วงหลับง่าย ต้องมีการงีบพักผ่อนระหว่างวัน เป็นต้น หรือหากผู้สูงอายุบางราย ยังมีความจำเป็นต้องขับรถยนต์อยู่ ก็อาจจะต้องลองประเมินว่ามีข้อจำกัดอะไรบ้าง เช่น บางรายเลือกขับแค่ละแวกบ้านที่คุ้นเคยไม่ขับทางไกล, บางรายต้องไม่กินยาก่อนการขับรถ โดยอาจปรึกษาเภสัชกรในการปรับเปลี่ยนยา หรือการเปลี่ยนเวลาทานยา เป็นต้น

สอนวิธีเปิดใช้ ใบขับขี่อิเล็กทรอกนิกส์

หากใครเคยสนใจเกี่ยวกับการทำใบขับขี่อิเล็กทรอนิกส์ ต้องบอกเลยว่าขั้นตอนไม่ยุ่งยากอย่างที่คิด เพียงแค่ทำตาม 5 ขั้นตอนง่าย ๆ คือ ดาวน์โหลดแอป DLT QR License, จากนั้นทำการลงทะเบียน, ตั้งรหัสผ่าน, สแกน QR Code ด้านหลังใบขับขี่ และเข้าสู่หน้าแสดงใบขับขี่เหมือนจริงได้เลย

นอกเหนือจากนั้นประโยชน์ของใบขับขี่อิเล็กทรอนิกส์ ที่ทำให้เราไม่ต้องพกบัตรจริง ทางระบบยังมีตัวช่วยในการแจ้งเตือนหากใบขับขี่ใกล้หมดอายุ หรือต้องเปลี่ยนไปเป็นใบขับขี่ส่วนบุคคล 5 ปี ก็จะช่วยให้เราสามารถวางแผนดำเนินการได้โดยง่ายนั่นเอง

ขั้นตอนการขอใบขับขี่ตลอดชีพใหม่ในกรณีทำหาย

หากคุณทำใบขับขี่ตลอดชีพหายและต้องการขอใบใหม่ คุณสามารถดำเนินการได้ดังนี้:

  1. เตรียมเอกสาร :
    • บัตรประชาชนตัวจริง พร้อมสำเนา
    • สำเนาทะเบียนบ้าน
    • ใบแจ้งความจากสถานีตำรวจ (กรณีใบขับขี่หาย)
    • กรณีที่มีสำเนาใบขับขี่เก่าให้เตรียมมาแสดงด้วย
  2. เดินทางไปที่สำนักงานขนส่ง : นำเอกสารทั้งหมดไปยังสำนักงานขนส่งที่สะดวกในการติดต่อ
  3. ยื่นคำขอ : แจ้งเจ้าหน้าที่ถึงการขอทำใบขับขี่ตลอดชีพใหม่เนื่องจากการสูญหาย และยื่นเอกสารที่เตรียมไว้
  4. ชำระค่าธรรมเนียม : คุณจะต้องชำระค่าธรรมเนียมในการออกใบขับขี่ใหม่
  5. รับใบขับขี่ใหม่ : หลังจากดำเนินการเสร็จสิ้น คุณจะได้รับใบขับขี่ตลอดชีพใหม่

ที่สำคัญปัจจุบันยังสะดวกกว่า เพราะสามารถจองคิวผ่านแอปพลิเคชัน DLT smart Queue ของกรมการขนส่งฯ ได้ตามขั้นตอนต่อไปนี้

  • ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน DLT Smart Queue ซึ่งสามารถใช้งานได้ทั้งบนระบบ Android และ iOS
  • เปิดแอปพลิเคชันและเข้าสู่ระบบโดยใช้หมายเลขบัตรประชาชนของคุณ
  • กรอกข้อมูลส่วนตัวให้ครบถ้วนตามคำแนะนำของระบบ และตั้งรหัสผ่านสำหรับการเข้าใช้งานแอปพลิเคชัน
  • เลือกบริการออกใบขับขี่ จากนั้นเลือกประเภทงานเป็น งานใบอนุญาต
  • เลือกประเภทบริการที่ต้องการ ซึ่งในกรณีนี้คือออกใบแทน ชำรุด สูญหาย (ใช้สำหรับการทำใบขับขี่ตลอดชีพหรือใบขับขี่อื่น ๆ ที่สูญหาย)
  • เลือกวันที่และเวลาที่สะดวกสำหรับการจองคิวทำใบขับขี่
  • กดยืนยันการจองคิว
  • แคปหน้าจอ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการยื่นต่อเจ้าหน้าที่ในวันนัดหมาย

ใบขับขี่ตลอดชีพ ต้องเปลี่ยนใหม่หรือไม่

ใบขับขี่ตลอดชีพแบบเก่าไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน หากยังอยู่ในสภาพดีและยังใช้งานได้ตามปกติ คุณสามารถใช้ใบขับขี่ตลอดชีพแบบเก่าต่อไปได้โดยไม่ต้องดำเนินการเปลี่ยนเป็นแบบใหม่ อย่างไรก็ตาม หากใบขับขี่ตลอดชีพของคุณชำรุดหรือสูญหาย คุณจะต้องดำเนินการขอใบขับขี่ใหม่ ซึ่งในกรณีนี้จะได้รับใบขับขี่รูปแบบใหม่แทน

ใบขับขี่ตลอดชีพหาย ต้องสอบใหม่หรือเปล่า

หากใบขับขี่ตลอดชีพของคุณหาย ไม่จำเป็นต้องสอบใหม่ คุณเพียงแค่ดำเนินการขอออกใบขับขี่แทนใบเดิมที่สูญหาย โดยเตรียมเอกสารที่จำเป็นและติดต่อที่สำนักงานขนส่งเพื่อขอรับใบขับขี่ใหม่ในรูปแบบปัจจุบัน

ใบขับขี่ตลอดชีพหาย ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง

หากใบขับขี่ตลอดชีพของคุณหายและต้องการขอใบใหม่ คุณจะต้องเตรียมเอกสารดังต่อไปนี้:

  1. บัตรประชาชนตัวจริง พร้อมสำเนา
  2. สำเนาทะเบียนบ้าน
  3. ใบแจ้งความ จากสถานีตำรวจที่ระบุว่าใบขับขี่ของคุณสูญหาย
  4. สำเนาใบขับขี่เดิม (ถ้ามี)

เมื่อเตรียมเอกสารครบถ้วนแล้ว ให้นำไปยื่นที่สำนักงานขนส่งเพื่อดำเนินการขอใบขับขี่ตลอดชีพใหม่ ทั้งนี้ การขอใบขับขี่ใหม่ในกรณีใบขับขี่ตลอดชีพหายจะไม่จำเป็นต้องใช้ใบรับรองแพทย์ แต่ถ้าต้องการเปลี่ยนใบขับขี่ตลอดชีพแบบกระดาษเป็นแบบสมาร์ทการ์ด จะใช้บัตรประจำตัวประชาชนและใบขับขี่ตลอดชีพใบเดิมเท่านั้น

ถือใบขับขี่สากลขับรถในต่างประเทศ ประกันรถยนต์คุ้มครองหรือไม่

การคุ้มครองประกันรถยนต์สำหรับการขับขี่ในต่างประเทศนั้นขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของกรมธรรม์และประเภทของประกันที่คุณทำไว้ โดยทั่วไปแล้ว ประกันรถยนต์ในประเทศไทยจะไม่คุ้มครองเมื่อเกิดอุบัติเหตุในต่างประเทศ ยกเว้นในบางกรณีที่มีการระบุไว้ในกรมธรรม์อย่างชัดเจน ดังนี้

1. ประกันรถยนต์มาตรฐานในประเทศไทย

  • ความคุ้มครอง : โดยทั่วไปประกันรถยนต์มาตรฐานจะให้ความคุ้มครองเฉพาะภายในประเทศไทยเท่านั้น ไม่ครอบคลุมการขับขี่ในต่างประเทศ ดังนั้นหากเกิดอุบัติเหตุในต่างประเทศ ไม่ว่าประกันชั้น 1, 2+, หรือ 3+ จะไม่คุ้มครองความเสียหายใดๆ ทั้งสิ้น
  • ข้อยกเว้น : บางกรมธรรม์อาจมีการขยายความคุ้มครองไปถึงประเทศเพื่อนบ้านในกรณีที่ทำการขอขยายความคุ้มครองพิเศษ หรือการเดินทางในบางประเทศที่อยู่ในข้อตกลง เช่น ลาว กัมพูชา หรือมาเลเซีย แต่จะต้องมีการแจ้งและขอขยายความคุ้มครองล่วงหน้า

2. การขอขยายความคุ้มครองไปต่างประเทศ

หากคุณต้องการนำรถยนต์ส่วนตัวไปขับในต่างประเทศ ควรแจ้งบริษัทประกันของคุณล่วงหน้าเพื่อขอขยายความคุ้มครอง โดยบริษัทประกันจะประเมินและพิจารณาว่าจะสามารถขยายความคุ้มครองได้หรือไม่ รวมถึงมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอย่างไร เช่น การขอขยายความคุ้มครองไปยังประเทศในอาเซียนที่สามารถนำรถข้ามแดนได้

3. การทำประกันภัยภายในประเทศปลายทาง

สำหรับกรณีที่ประกันภัยในประเทศไทยไม่ครอบคลุม คุณอาจต้องทำประกันภัยรถยนต์ภายในประเทศที่คุณจะไปขับขี่ เช่น การทำประกันภัยรถยนต์ในประเทศนั้นๆ เพื่อให้ครอบคลุมความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งบางประเทศมีข้อบังคับให้ผู้ขับขี่รถจากต่างประเทศต้องทำประกันภัยชั่วคราวเมื่อเข้าประเทศ เช่น ประเทศมาเลเซียหรือสิงคโปร์

4. กรณีเช่ารถในต่างประเทศ

  • หากคุณเช่ารถขับในต่างประเทศ บริษัทเช่ารถมักจะมีการเสนอประกันภัยที่ครอบคลุมในกรณีเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งคุณสามารถซื้อประกันเพิ่มเติมจากบริษัทเช่ารถได้ เช่น ประกันคุ้มครองความเสียหายตัวรถ (Collision Damage Waiver: CDW) หรือประกันคุ้มครองบุคคลภายนอก (Third-Party Liability Insurance)

หากคุณมีแผนที่จะขับรถในต่างประเทศ ไม่ว่าจะนำรถไปเองหรือเช่ารถ ควรตรวจสอบรายละเอียดของประกันรถยนต์ที่คุณทำไว้ว่าครอบคลุมการขับขี่ในต่างประเทศหรือไม่ หากไม่ครอบคลุม ควรขอขยายความคุ้มครองหรือทำประกันเพิ่มเติมภายในประเทศที่คุณจะไป เพื่อให้มั่นใจว่าคุณได้รับการคุ้มครองอย่างเหมาะสมในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ

อายุผู้ขับขี่ส่งผลต่อการทำประกันรถยนต์ไหม?

แรบบิท แคร์ บอกได้เลยว่ามีผลออย่างแน่นอน แต่เป็นผลในทางที่ดี เพราะบริษัทฯหลายแห่ง จะให้ส่วนลดพิเศษเมื่อผู้ทำประกันรถยนต์มีอายุมาก ก็จะยิ่งได้ส่วนลดเบี้ยประกันรถยนต์มากขึ้นเท่านั้น แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับบริษัทฯนั้นๆ ด้วยว่ากำหนดอัตราส่วนลดไว้มากน้อยแค่ไหน

เช่น บริษัทฯ A อาจให้ส่วนลด สำหรับเจ้าของรถยนต์ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ได้รับส่วนลดมากถึง 20% แต่บริษัทฯ B เน้นให้ส่วนลด 20% กับผู้ขับที่มีอายุ 30 - 40 ปี

หลัก ๆ แล้ว การทำประกันรถยนต์นั้น สิ่งที่จะช่วยประเมินการรับทำประกันฯ หรือกำหนดเบี้ยราคาประกันรถยนต์มักมาจากปัจจัยอื่น ๆ มากกว่า อย่าง อายุการใช้งานของรถยนต์, ประวัติการเคลม, ประวัติการขับรถ เป็นหลักมากกว่า

ตัวอย่าง คุณห่วงใย อายุ 50 ปี มีใบขับขี่ตลอดชีพ และรถยนต์อายุการใช้งานมากถึง 15 ปี แต่มีประวัติการขับขี่ที่ดี ไม่เคยผิดกฎการจราจร ประวัติเบิกเคลมน้อย แบบนี้มีสิทธิจะได้ส่วนลดเบี้ยประกันฯ และยังเป็นที่ชื่นชอบของบริษัทฯอีกด้วย

ตรงข้ามกับ คุณแคร์ อายุ 30 ปี แม้จะมีรถยนต์ที่อายุการใช้งานน้อย 5 ปี แต่มักจะมีประวัติการเกิดอุบัติเหตุบ่อย ๆ แบบนี้อาจจะได้ส่วนลดประกันรถน้อยลง

ส่วนการเบิกเคลมก็หมดห่วง หากเป็นไปตามเงื่อนไขการทำประกันฯ แม้ผู้ขับจะมีอายุที่มาก ก็ยังสามารถเบิกเคลมได้สบาย ยกเว้นเงื่อนไขบางอย่าง เช่น นำรถไปใช้งานผิดกฎหมาย หรือมีการระบุชื่อผู้ขับ แต่ตอนเกิดเหตุ ผู้ขับไม่ใช่ชื่อที่ระบุไว้ เป็นต้น

รายละเอียดครบจบในบทความเดียวขนาดนี้ ใครมีอะไรสงสัยเกี่ยวกับการทำใบขับขี่โดยเฉพาะ ใบขับขี่ตลอดชีพที่เคยมีอยู่, ใบขับขี่สากล, ใบขับขี่รถตู้ หรือถ้าเกิดคำถามเกี่ยวกับอายุในการทำใบขับขี่ วันนี้ แรบบิท แคร์ ก็ได้ให้คำตอบไว้หมดแล้ว สามารถอ่านให้เข้าใจได้ในทันที ส่วนใครที่จบปัญหาเรื่องใบขับขี่เรียบร้อยหมดแล้ว อย่าลืมต่อประกันภัยรถยนต์เพิ่มเติม จะได้เดินทางอุ่นใจ ปลอดภัยในทุกสถานการณ์ ด้วยการดูแลจากบริษัทประกันชั้นนำระดับประเทศที่ แรบบิท แคร์ คัดสรรมาไว้ให้หมดแล้ว

ความคุ้มครองประกันรถยนต์

ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ของเรา