ธนาคารแห่งประเทศไทย BOT (BANK OF THAILAND)
สถานที่ตั้งและข้อมูลติดต่อธนาคารแห่งประเทศไทย
ที่ตั้ง : 273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร (วังบางขุนพรหม) 10200
Facebook :
https://www.facebook.com/bankofthailandofficial
เบอร์โทรศัพท์ : 0-2356-7799
เวลาทำการ : จันทร์ - ศุกร์ 9.30 - 16.30 น.
ข้อมูลทั่วไปของธนาคารแห่งประเทศไทย
ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ BOT (BANK OF THAILAND) หรือหลายคนรู้จักกันในนามแบงค์ชาติ เป็นธนาคารกลางของประเทศที่ดูแลและกำกับเรื่องการเงินของชาติไทย ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎเกณฑ์ต่าง ๆ รวมถึงคอยดูแลกำกับสถาบันทางการเงินที่ตั้งในประเทศไทย ดูแลอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท ตลอดจนทำหน้าที่ออกเงินธนบัตรหมุนเวียนในประเทศ และควบคุมอัตราการถ่ายโอนเงินระหว่างประเทศอีกด้วย
แนวคิดเรื่องการก่อตั้งธนาคารกลางของไทยนั้นเริ่มมีตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว แต่ด้วยสภาพความพร้อมในตอนนั้นทำให้ยังไม่สามารถก่อตั้งได้อย่างจริงจัง จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2485 ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยตามหลังจากธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ของภาครัฐและเอกชนที่เริ่มทยอยเปิดให้บริการไปแล้วก่อนหน้านั้น เพื่อธนาคารแห่งประเทศไทยจะคอยควบคุมธนาคารต่าง ๆ ให้อยู่ภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน ซึ่งจะสร้างประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชนในชาติมากที่สุด ทั้งนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเป็นองค์กรอิสระที่ไม่นับเป็นส่วนงานราชการรวมถึงรัฐวิสาหกิจ
การก่อตั้งธนาคารกลางแห่งประเทศไทยเกิดขึ้นได้จากนาย ปรีดี พนมยงค์ ร่วมกับพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย โดยเริ่มแรกจะเป็นสำนักงานธนาคารชาติไทย ก่อนที่จะเป็นต้นแบบของธนาคารแห่งประเทศไทยในภายหลัง ธนาคารแห่งประเทศไทยเริ่มประกอบกิจการในวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2485 โดยมีพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย เป็นผู้ว่าการธนาคารพระองค์แรก และได้ดำเนินการพัฒนาระเบียบแบบแผนการทำงานจนมั่นคงได้จนถึงยุคปัจจุบัน
หน้าที่และภารกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย BOT (BANK OF THAILAND)
ธปท. จะไม่ได้บริการเงินฝาก-ถอน หรือให้บริการผลิตภัณฑ์ทางการเงินเหมือนธนาคารพาณิชย์ทั่วไป แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย จะทำหน้าที่ดูแลควบคุมธนาคารต่าง ๆ รวมถึงดูแลสถานะทางการเงินของประเทศตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2551) ดังนี้
- ดำเนินการออกธนบัตรของรัฐบาลและธนาคาร ตามกฎหมายว่าด้วยเงินตรา ซึ่งเป็นสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย
- กำหนดนโยบายทางการเงินให้กับธนาคารและสถาบันทางการเงินต่าง ๆ เช่น เงินฝากอัตราดอกเบี้ย การกู้ยืมเงิน การซื้อขายหลักทรัพย์ เป็นต้น
- บริหารจัดการสินทรัพย์ของ ธปท. โดยเป็นการนำสินทรัพย์ไปลงทุนเพื่อสร้างผลประโยชน์ต่อประเทศเป็นหลัก
- เป็นนายธนาคารของภาครัฐ ทำหน้าที่รับเงิน จ่ายเงิน และเก็บรักษาเงิน รวมถึงสินทรัพย์ต่าง ๆ ของกระทรวงการคลัง ตลอดจนการลงทุนซื้อขายสินทรัพย์ในรูปแบบต่าง ๆ
- เป็นนายธนาคารให้กับสถาบันการเงิน โดยจะให้กู้ยืม เก็บรักษาหลักทรัพย์ และช่วยเหลือสถาบันการเงินในรูปแบบต่าง ๆ ตลอดจน สั่งให้สถาบันการเงินรายงานเรื่องที่เกี่ยวกับทรัพย์สินต่าง ๆ
- จัดตั้งหรือสนับสนุนการจัดตั้งระบบการชำระเงิน อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ
- ตรวจสอบสถาบันทางการเงิน และบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงินให้ออกมาอย่างเสถียรภาพ
- บริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ตามกฎหมายว่าด้วยเงินตรา
- ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน
นโยบายการดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทย
ทาง ธปท. ได้มุ่งเน้นให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศรองรับกับสภาพแวดล้อมทางการเงิน รวมถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะผลกระทบจากวิกฤตโรคโควิด-19 ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย และเพื่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ทางธนาคารแห่งประเทศไทยยังได้มุ่งเป้าที่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม การพัฒนาระบบชำระเงิน การแก้ไขปัญหาหนี้สินภายในครัวเรือน การกระจายผลประโยชน์อย่างทั่วถึง การดูแลฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย และเตรียมพร้อมรับความเสี่ยงใหม่ ๆ ให้ทันต่อเหตุการณ์ของโลก
คณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย
- นายปรเมธี วิมลศิริ - ประธานกรรมการ
- นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ - รองประธานกรรมการ
- นายเมธี สุภาพงษ์ - กรรมการ
- นายรณดล นุ่มนนท์ - กรรมการ
- นางรุ่ง มัลลิกะมาส - กรรมการ
- นายดนุชา พิชยนันท์ - กรรมการ
- นายพรชัย ฐีระเวช - กรรมการ
- นายนนทิกร กาญจนะจิตรา - กรรมการ
- นายมนัส แจ่มเวหา - กรรมการ
- นายปกรณ์ นิลประพันธ์ - กรรมการ
- นายรพี สุจริตกุล - กรรมการ
- นายสุภัค ศิวะรักษ์ - กรรมการ
- นางสุวรรณา เชื้อบุญชัย - เลขานุการ
- นางสาวพรเพ็ญ สดศรีชัย - ผู้ช่วยเลขานุการ
หน่วยงานที่อยู่ในการควบคุมของธนาคารแห่งประเทศไทย
ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงค์ชาติ มีหน้าที่หลักคือควบคุมธนาคารและสถาบันทางการเงินที่ทำธุรกิจในประเทศไทยให้ออกมาเป็นมาตรฐาน และยุติธรรมต่อประชาชน ซึ่งหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทยมีดังนี้
- ธนาคารและสถาบันทางการเงินที่เปิดให้บริการในราชอาณาจักรไทย
- สำนักงานผู้แทนธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ
- บริษัทบริหารสินทรัพย์ (บบส.)
- Non Bank หรือผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันทางการเงิน
คำถามและข้อสงสัยที่พบบ่อย
Bank of Thailand คืออะไร?
Bank of Thailand หรือ แบงค์ชาติ หรือ ธปท. คือธนาคารกลางแห่งประเทศไทย เป็นหน่วยงานอิสระที่ควบคุมการเงินของประเทศ รวมถึงแนวทางการทำงานของพาณิชย์ทุก ๆ แห่งในประเทศไทยให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน รวมถึงการแลกเปลี่ยนเงินตรากับต่างประเทศ
ธนาคารแห่งประเทศไทย มีหน้าที่อะไรบ้าง?
ธปท. หรือแบงค์ชาติ มีหน้าที่สำคัญหลายประการ ซึ่งหลัก ๆ แล้วจะมีหน้าที่กำหนดนโยบายทางการเงินของประเทศ ดูแลเรื่องการผลิตพันธบัตร การควบคุมการทำงานของธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย การดูแลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเงินระหว่างประเทศ ดูแลทรัพย์สินและการใช้เงินของภาครัฐ รวมถึงดูแลตรวจสอบสถาบันทางการเงินในไทยให้ออกมาโปร่งใส เป็นต้น จะเห็นได้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย นั้นมีหน้าที่อันสำคัญยิ่ง หากไม่มี ธปท. ก็จะไม่มีแผนยุทธศาสตร์ทางการเงินให้กับประเทศไทย
บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT SecureNET) คืออะไร มีบริการอะไรบ้าง?
เพื่อความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการทั้งประชาชนทั่วไป และนิติบุคคล ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการให้บริการผ่านเว็บไซต์ ธปท. ดังนี้
1. บริการข้อมูลพันธบัตรผ่านระบบออนไลน์อินเตอร์เน็ต
2. บริการ ยื่นคำขออนุญาต e-Application
3. บริการแจ้งความประสงค์เงินลงทุนในต่างประเทศ
4. บริการส่งข้อมูลดอกเบี้ย อ้างอิงระยะสั้นตลาดกรุงเทพ (BIBOR)
5. บริการส่งข้อมูลเพื่อทำการตรวจสอบสำหรับเจ้าหน้าที่สถาบันการเงิน
6. บริการรับ-ส่งข้อมูลอิเล็กมรอนิกส์ของธนาคารแห่งประเทศไทยในรูปแบบ Web Application
7. บริการยื่นคำขออนุญาตตามมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท (ระบบคำขอมาตรการป้องปราม)
8. บริการยื่นคำขออนุญาตตามระเบียบว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน (ECARS - กม. ควบคุมฯ)
9. บริการส่งข้อมูล Event Report
10. บริการยื่นคำขออนุญาต ระบบควบคุมและตรวจสอบบุคคลผู้เข้าร่วมทำธุรกรรมเพื่อบริหารจัดการธนบัตร (BMSID)
ส่วนการสมัครใช้งานบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ BOT SecureNET ทำได้ง่าย ๆ โดยใช้หลักฐานการสมัครเป็น สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสามารถใช้หนังสือเดินทาง หรือใบต่างด้าว ของผู้ลงทะเบียน (ลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง) ได้เช่นกัน
BOT rate คืออะไร?
BOT rate หรือ BOT exchange rate คืออัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเฉลี่ย ที่ธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ในประเทศไทยซื้อขายกับลูกค้าผู้ที่ต้องการแลกเงินตรา โดยอัตราแลกเปลี่ยนนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงตลอดโดยอ้างอิงจากอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้กำหนด ซึ่งมักกำหนดในอัตรา 1 บาทต่ออัตราเงินต่างประเทศ เช่น วันที่ 29 มีนาคม 2566 เงิน 1 บาทไทยมีอัตราขายถัวเฉลี่ยของเงิน 1 USD ที่ 34.4742 บาท เป็นต้น
เช็กอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT exchange rate) ได้อย่างไรบ้าง?
ธนาคารแห่งประเทศไทย มีข้อมูลอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทกับประเทศอื่น ๆ อยู่ ซึ่งเป็นราคากลางแบบเรียลไทม์ที่อัปเดตทุก ๆ วัน และธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยทุกแห่งจะอ้างอิงตามอัตราแลกเปลี่ยนที่ BOT (BANK OF THAILAND) กำหนดไว้ ผู้ที่มีความประสงค์แลกเงินตราระหว่างประเทศสามารถ ตรวจสอบ BOT exchange rate รายวันที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดได้ ที่เว็บไซต์ของ bank of thailand โดยตรง
ตัวอย่างสกุลเงินแต่ละประเทศธนาคารพาณิชย์ของไทยรับแลกเปลี่ยนเงินตรา
สหรัฐอเมริกา,สหราชอาณาจักร, ประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโร, ญี่ปุ่น, ฮ่องกง, มาเลเซีย, สิงคโปร์, บรูไนดารุสซาลาม, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย, อินเดีย, สวิตเซอร์แลนด์, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, แคนาดา, สวีเดนเดนมาร์ก, นอร์เวย์, จีน, เกาหลีใต้, ไต้หวัน, เม็กซิโก, พม่า, กัมพูชา, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, ลาว, รัสเซีย, เวียดนาม เป็นต้น