จดทะเบียนสมรสสำคัญไฉน? จด หรือไม่จดดีนะ?
จริงอยู่ที่ไทยเรานั้นมีความเชื่อว่า ต้องแต่งงานกันก่อน ถึงจะอยู่ร่วมบ้านกันได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การอยู่กินกันก่อนแต่งงานไม่ใช่เรื่องที่ผิดแปลกอีกต่อไป ซ้ำยังได้ทดลองการอยู่ร่วมกันอีกด้วย แล้วแบบนี้ ทะเบียนสมรสยังจำเป็นอยู่ไหม? มี ข้อดี-ข้อเสีย ยังไง ถ้าตัดสินใจจะจด หรือไม่จด ไปหาคำตอบกับ Rabbit Care กันดีกว่า!
ทะเบียนสมรสสำคัญไฉน ? จด หรือไม่จดดีนะ ?
ทำไมเราต้องจดทะเบียนสมรสด้วยนะ ?
ทะเบียนสมรสนั้น ถือได้ว่าเป็นเอกสารทางกฎหมาย ที่ใช้ยืนยันความสัมพันธ์ของคู่แต่งงานอย่างเป็นทางการ และเป็นหลักฐานที่ใช้สำหรับการยืนยันสิทธิต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างสามีภรรยา เช่น การรับรองบุตร ซึ่งจะทำให้บุตรได้รับสิทธิต่างๆ ตามกฎหมาย การแบ่งสินสมรส การฟ้องหย่าในกรณีสามีหรือภรรยามีชู้ เป็นต้น
สำหรับการจดทะเบียนสมรสที่ถูกต้องตามกฎหมาย ทะเบียนสมรสก็จะมีผลทางกฎหมายหรือมีอายุยาวตลอดไปจนกว่าจะมีการจดทะเบียนหย่า ซึ่งการจดทะเบียนหย่าก็เป็นไปตามข้อตกลงของทั้งสองฝ่าย หรือถ้าไม่สามารถตกลงกันได้ก็ต้องมีการฟ้องหย่าโดยให้ศาลเป็นผู้พิจารณา เพื่อใช้เหตุผลและหลักฐานต่างๆ ประกอบ รวมถึงการหาข้อตกลงต่างๆ เช่น การแบ่งสินสมรส สิทธิการดูแลบุตร ค่าเลี้ยงดู เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า การจดทะเบียนสมรสนั้น จะเป็นการขึ้นอยู่กับความสมัครใจของแต่ละคู่ ด้วยเหตุนี้ทำให้บางคู่อาจจะไม่ได้เลือกจดทะเบียนสมรสทันที อาจจะด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น ทดลองอยู่กินด้วยกันก่อน แล้วค่อยตกลงปลงใจกันอีกหนในเรื่องจดทะเบียนสมรส
หรือในกรณีที่คู่สามีภรรยาที่ทำธุรกิจ หรือนักการเมือง เพราะการจดทะเบียนสมรสทำให้ต้องมีการตรวจสอบทางบัญชีการเงินของทั้งสามีภรรยา เป็นขั้นตอนที่ยุ่งยาก ซับซ้อน หรืออาจเกิดการฟ้องร้องได้
แต่ในขณะเดียวกันการแต่งงานโดยไม่จดทะเบียนสมรสก็กลายเป็นช่องโหว่ทางกฎหมาย ที่ทำให้สามีหรือภรรยาโอนทรัพย์สินของตัวเองไปยังบัญชีของอีกฝ่าย เพื่อเลี่ยงการตรวจสอบหรือการเสียภาษีได้เช่นกัน
จดทะเบียนสมรส มีประโยชน์ยังไงบ้าง ?
ในแง่กฎหมายแล้ว จะค่อนข้างเอื้อประโยชน์ให้คู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการจัดการธุระต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับด้านกฎหมาย มากมาย ไม่ว่าจะเป็น
- ทำให้สามีภรรยามีสิทธิ์จัดการสินสมรสร่วมกันได้ (แต่ต้องเป็นทรัพย์ที่ได้มาระหว่างสมรส)
- ทำให้สามีหรือภรรยา และบุตร มีสิทธิ์รับมรดกของคู่สมรสเมื่ออีกฝ่ายเสียชีวิตไปก่อน
- มีสิทธิ์รับเงินจากทางราชการหรือนายจ้าง เช่น กรณีที่คู่สมรสตายเพราะปฏิบัติหน้าที่ หรือจากการทำงาน (บำเหน็จตกทอด) หรือการรับเงินสงเคราะห์บุตรตามกฎหมายแรงงาน
- มีสิทธิ์ฟ้องร้อง ดำเนินคดี เรียกค่าเสียหายหรือค่าทดแทน จากผู้ที่ทำให้คู่สมรสของตัวเองเสียชีวิตได้ เช่น สามีโดนรถชน ภรรยาสามารถเรียกค่าเสียหายถึงชีวิตกับผู้ขับรถชนได้ หรือสามีโดนคนพูดจาหมิ่นประมาทว่าร้าย ภรรยาก็สามารถฟ้องหมิ่นประมาทฝ่ายตรงข้ามแทนสามีได้
- หากพบว่าคู่สมรสมีชู้ สามารถเรียกค่าเสียหายได้ทั้งจากคู่สมรสของตัวเอง และเรียกค่าเสียหายได้จากชู้ด้วย
- ทำให้บุตรที่เกิดมา มีฐานะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ได้รับการลดหย่อนค่าภาษีเงินได้
นอกจากนี้ยังสามารถเซ็นเอกสาร ทำนิติกรรมต่างๆ หรือดำเนินการต่างๆ ด้านกฎหมายได้แทนคู่สมรส ส่วนในกรณีที่ต้องได้เข้ารับการผ่าตัด ก็สามารถเป้นผู้เซ็นรับรองเอกสารการรักษาได้แทน ในกรณีที่คู่สมรสยังไม่ได้สติอีกด้วย
ส่วนในกรณีที่ไม่จดทะเบียนสมรสนั้น หลายคนอาจจะประสบปัญหาในขั้นตอนการทำนิติกรรมต่างๆ ทดแทนคู่สมรสได้
สรุปแล้ว ถ้าไม่ได้จดทะเบียนสมรส แทบไม่มีสิทธิอะไรในทรัพย์สินของคู่สมรสเลย เราจะแนะนำจดทะเบียนดีกว่า หรือหากไม่อยากจด ไม่สะดวกจะจดจริงๆ แนะนำให้ทำพินัยกรรมไว้ หรือมีการร่างเอกสารสัญญาต่างๆ ในเรื่องของทรัพย์สินต่างๆ ให้เป็นผู้ถือครองร่วมกัน ก็เป็นอีกทางแก้ที่ดีเลยล่ะ
สรุป ข้อดี-ข้อเสีย หลักๆ จากการจดทะเบียนสมรส
ข้อดี – ข้อเสีย ของ จดทะเบียนสมรส
ข้อดี
- มีสิทธิ์ในเรื่องของทรัพย์สินคู่สมรส เช่น สิทธิ์รับเงินจากทางราชการ หรือนายจ้าง หรือ การรับเงินสงเคราะห์บุตรตามกฎหมายแรงงาน, สิทธิ์ในการจัดการสินสมรสร่วมกัน, การมีสิทธิ์เป็นทายาทมรดกทันที
- ลดหย่อนค่าภาษีเงินได้ หลังจากจดทะเบียนสมรสแล้ว ไม่ว่าฝ่ายไหนจะรายได้มากกว่ากัน ก็ลดหย่อนภาษีเงินได้ได้
- บุตรที่เกิดมาเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฏหมายทั้ง 2 ฝ่าย และได้รับสิทธิ์ด้านมรดกทันที
- สามารถทำนิติกรรมต่างๆ ได้ เช่น กการฟ้องร้อง ดำเนินคดี ทดแทนคู่สมรสได้
ข้อเสีย
- จดทะเบียนสมรสแล้ว ไม่ว่าจะ เงินก้อน หรือ หนี้สิน ทั้งสามีภรรยาต้องร่วมกันรับผิดชอบ รวมทั้งเรื่องอื่นๆ
- เจ้าสาวที่มีชื่อเป็นหุ้นส่วนในหลายๆ บริษัท การทำธุรกรรมต่าง ๆ จะยุ่งยากมากขึ้น และต้องยุ่งยาก เปลี่ยนข้อมูลทางนิติกรรม ทั้งเปลี่ยน Passport เปลี่ยนข้อมูลส่วนตัวต่างๆ
- เมื่อแต่งงานแล้ว ทรัพย์สินของสามี หรือ ภรรยา ที่ได้มาหลังจากจดทะเบียนสมรสจะกลายเป็นสินสมรสทั้งหมด
- การทำนิติกรรมตาม มาตรา 1476 ต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งก่อนจึงจะทำได้
- ถ้าสามีภรรยาเป็นลูกหนี้ร่วมกัน ให้ชำระหนี้นั้นจากสินสมรสและสินส่วนตัวของทั้ง 2 ฝ่าย
- การจดทะเบียนสมรสทำให้สามีภรรยาที่ทำความผิดระหว่างกัน เช่น สามีขโมยเงินภรรยา ภรรยาบุกเข้าบ้านสามี ผู้ที่ทำผิดไม่ต้องรับโทษตามกฎหมาย
ข้อดี – ข้อเสีย ของการไม่จดทะเบียนสมรส
ข้อดี
- ทรัพย์สินเงินทองของสามีภรรยาจะแยกออกจากกัน ไม่มีสินสมรส ไม่ต้องจัดการเรื่องสินสมรสให้ยุ่งยาก
- ไม่ต้องยุ่งยากเมื่อต้องเลิกรา
ข้อเสีย
- แทบไม่มีสิทธิอะไรในทรัพย์สินของคู่สมรสเลย ยกเว้นแต่คู่สมรสทำพินัยกรรมทิ้งไว้ รวมถึงสิทธิ์ต่างๆ ด้านการเช่น เช่น ไม่มีสิทธิ์ได้รับมรดกของคู่สมรส, สิทธิ์ได้รับเงินประกัน
- ในกรณีที่มีบุตร อาจจะเพิ่มความยุ่งยากด้านการทำเอกสารรับรองบุตร และฝ่ายหญิงไม่มีสิทธิ์เรียกร้องค่าอุปการะบุตรจากฝ่ายชาย
- ไม่มีสิทธิ์ฟ้องร้อง เรียกค่าเสียหาย หากอีกฝ่ายนอกใจได้
- ทำนิติกรรมต่างๆ ทดแทนกันไม่ได้
นักเขียนรุ่นไฮบริด เขียนบทความด้านการบริหารเงินส่วนบุคคลและการลงทุนต่าง ๆ กว่า 7 ปี เริ่มต้นที่งานเขียนที่ Rabbit Finance จนย้ายมาที่ Rabbit Care และ Asia Direct