รู้จักสแกมเมอร์สายต่าง ๆ ปัจจุบันมาในรูปแบบไหนบ้าง หลอกให้รัก? หลอกให้ลงทุน?
ในยุคที่ภัยร้ายอย่างสแกมเมอร์นั้นเกลื่อนเมือง เราทุกคนต่างก็ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพที่จ้องจะขโมยเงินที่หามาอย่างยากลำบากออกไปจากกระเป๋าของเราในทุกวิถีทาง และกระบวนการยุติธรรมก็ไม่สามารถยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือได้ทุกครั้งไป เนื่องจากสแกมเมอร์เหล่านี้นั้นมักที่จะพัฒนาวิธีการใหม่ ๆ เพื่อเข้ามาหลอกเหยื่อให้เสียหาย ทำให้หลายรายนั้นถึงขั้นล้มละลายหรือหมดตัว
ด้วยเหตุผลเหล่านี้ การรู้เท่าทันกลอุบายรวมถึงลักษณะของสแกมเมอร์ที่จะเข้ามาหาเรานั้นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพื่อที่จะได้รู้เท่าทันและสร้างเกราะป้องกันให้กับตนเอง จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของเหล่าสแกมเมอร์ได้ง่าย ๆ วันนี้ แรบบิท แคร์ จึงหยิบยกเรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับสแกมเมอร์มาสรุปให้ทุกคนทราบกันไว้ ทั้งช่องทางการเข้าหาเหยื่อของสแกมเมอร์ รูปแบบของสแกมเมอร์ ข้อสังเกตว่าใครเป็นสแกมเมอร์ วิธีจับโป๊ะว่าใครเป็นสแกมเมอร์ และวิธีป้องกันตัวเองเบื้องต้นเพื่อไม่ให้ต้องตกเป็นเหยื่อจนสูญเสียเงินก้อนโตแบบที่ออกข่าวกันอยู่ทุกวันนั่นเอง
สแกมเมอร์คือ
คำว่า Scammer (สแกมเมอร์) นั้น ต้นกำเนิดมาจากรากศัพท์ในภาษาอังกฤษอย่างคำว่า Scam ซึ่งมีความหมายว่า เล่ห์อุบาย หรือการหลอกลวง และคำว่า Scammer นั้นก็หมายถึง ตัวบุคคล หรือ กลุ่มคนซึ่งเป็นผู้ที่หลอกลวงบนโลกออนไลน์ ซึ่งก็ถูกนำมาใช้และพัฒนารูปแบบไปตามแต่ละยุคสมัย
ในปัจจุบันเราต่างทราบกันดีว่า Scammer สแกมเมอร์ คือ มิจฉาชีพที่มักแฝงตัวหรือใช้โลกออนไลน์ในการหลอกลวงผู้คน โดยมักที่จะทำกันเป็นขบวนการ ทั้งในรูปแบบของการตีสนิท เข้ามาชักจูง เชิญชวน หรือแม้กระทั่งข่มขู่ให้เหยื่อที่ได้พบเจอนั้นโอนเงินจนหมดตัว มีแม้กระทั่งรูปแบบที่หลอกถามข้อมูลส่วนตัว ชวนให้โหลดแอปพลิเคชันติดตั้งบนสมาร์ตโฟนเพื่อควบคุมและดูดเงินออกจากบัญชีจนหมดเกลี้ยงอีกด้วย
ดังนั้นด้วยระดับความร้ายแรงเหล่านี้ดังเช่นที่โพสต์ทูเดย์รายงานสถิติจำนวนบัญชีที่ถูกมิจฉาชีพหลอกเฉลี่ยวันละ 800 รายต่อวัน ซึ่งเป็นข้อมูลจาก นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ได้เผยว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) พบสถิติจำนวนบัญชีที่ถูกมิจฉาชีพหลอกลวงอยู่ในคดีเฉลี่ยถึงวันละ 800 ราย แรบบิท แคร์ จึงได้ตัดสินใจที่จะรวบรวมข้อมูลที่ควรรู้เกี่ยวกับสแกมเมอร์หรือมิจฉาชีพออนไลน์มาให้ จะได้ระวังกันไว้ ไม่ตกเป็นเหยื่อง่าย ๆ นั่นเอง
ช่องทางการเข้าหาของสแกมเมอร์
อย่างที่ทราบกันดีว่าสแกมเมอร์นั้นคือมิจฉาชีพที่หลอกลวงคนอยู่บนโลกออนไลน์ แล้วสแกมเมอร์เหล่านี้นั้นมักใช้ช่องทางไหน ? หรือใช้แพลตฟอร์มใดในการเข้าหาเหยื่อ ลองมากศึกษากันไว้ จะได้ระวังกันได้และรู้เท่าทันพวกมิจฉาชีพเหล่านี้นั่นเอง
สแกมเมอร์ IG (Instagram)
สแกมเมอร์ IG เป็นสแกมเมอร์ที่มักกด Follow และเลือกที่จะเข้ามาทำความรู้จักในเชิงชื่นชมรูปลักษณ์และไลฟ์สไตล์ของเจ้าของบัญชีผู้ใช้ โดยส่วนมากนั้นจะใช้แอ็กเคานต์ปลอมที่สร้างขึ้นเข้ามาทำความรู้จัก โดยแอ็กเคานต์ปลอมเหล่านั้นมักจะลงรูปที่หน้าตาดี ดูดี ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตสุดหรูดู Luxury และหากได้รับความสนใจหรือการพูดคุยด้วยจากเหยื่อ ก็จะเริ่มพูดคุยในเชิงจีบก่อนที่จะเริ่มลงมือหลอกลวงหาเงินจากเหยื่อ จุดสังเกตคือรูปที่ลงในไอจีมักเป็นรูปที่ลงในวันเดียวกันหรือเวลาไล่เลี่ยกันมาก ๆ ไม่เป็นธรรมชาติ
สแกมเมอร์ Facebook
สแกมเมอร์ Facebook มักเลือกส่งคำขอเป็นเพื่อนและเข้ามาตีสนิทในเชิงของเพื่อนหรือผู้หวังดีก่อน จากนั้นจะค่อย ๆ ทำความรู้จักกับเหยื่อและเริ่มชักชวนหลอกให้รัก ให้โอนเงินให้หรือชักชวนให้ทำการลงทุน เมื่อพูดคุยสนิทสนมกันพักหนึ่งมักมีการขอไลน์และเริ่มไปพูดคุยชักชวนในไลน์แทน ซึ่งโปรไฟล์เฟซบุ๊กของสแกมเมอร์เหล่านี้นั้นมักสร้างโปรไฟล์ตัวเองให้ดูเป็นนักลงทุน หรือนักธุรกิจ จุดสังเกต คือ ชอบโพสต์อวดความสำเร็จ ความรวย และให้กำลังใจผู้ที่กำลังสร้างตัว
สแกมเมอร์ แอปหาคู่
ฐานทัพหลักอันเก่าแก่ของสแกมเมอร์อย่างแอปพลิเคชันที่ใช้ในการหาคู่ต่าง ๆ นั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่มีคนโดนหลอกมากที่สุด เนื่องจากมิจฉาชีพเหล่านี้มักเข้ามาให้ความรักความเอาใจใส่ในรูปแบบที่หลายคนกำลังมองหา อีกทั้งยังสามารถปลอมแปลงตัวตนและปกปิดตัวตนที่แท้จริงได้ง่าย โดยมากจึงมักเข้ามาหาเหยื่อภายในแอปและชักชวนไปคุยต่อผ่านไลน์ หลอกให้รัก หลอกให้เชื่อใช่ แล้วค่อยหลอกให้โอนเงินหรือลงทุนนั่นเอง
สแกมเมอร์ SMS/Email
สแกมเมอร์ที่เข้ามาตามช่องทาง SMS หรือ Email นั้น ส่วนมากจะเป็นการส่งข้อความพร้อมแนบ Link มาให้กด หรือเป็น Link กดยืนยันตัวตน ซึ่งหากเผลอกดไปโดยไม่ทันระวังตัว อาจโดนดูดเงินออกไปจนหมดบัญชีในคลิกเดียว วิธีป้องกันคือไม่เปิดข้อความ อีเมล รวมถึงคลิก Link ที่ไม่ที่มาที่ไปแน่ชัดนั่นเอง
สแกมเมอร์มีรูปแบบไหนบ้าง?
ปัจจุบันสแกมเมอร์นั้นได้พัฒนาวิธีในการหลอกลวงที่หลากหลาย แต่จริง ๆ แล้วก็จะมีรูปแบบหลัก ๆ อยู่ไม่กี่รูปแบบ ดังนี้
Romance Scam หลอกให้รัก
การทำทีเข้ามาตีสนิทเชิงชู้สาว จีบเหยื่อให้รู้สึกหวั่นไหวและไว้ใจ (ทั้งเพศหญิง เพศชาย เพศทางเลือก) จากนั้นจะเริ่มประเมินสถานการณ์หรือวิธีการหลอกล่อเหยื่อ เช่น หากเหยื่อเป็นคนมีฐานะมากแต่ไร้คู่ก็จะทำให้รู้สึกว่าจริงจังอยากพัฒนาความสัมพันธ์ด้วย จากนั้นอาจมีการขอความช่วยเหลือจากเหยื่อ หลอกให้โอนเงินช่วยในด้านต่าง ๆ หรือหากเหยื่อเป็นผู้ที่มักมีเรื่องทุกร้อนใจ ก็มักจะเข้ามาเป็นผู้รับฟัง คอยใส่ใจ เมื่อได้ใจก็อาจจะลองเสนอวิธีช่วยเหลือต่าง ๆ หนึ่งในนั้นก็คือการนำเงินไปลงทุนนั่นเอง ซึ่งในครั้งแรก ๆ เหยื่อจะได้รับเงินลงทุนจริง จนเกิดความเชื่อและต้องไปหาเงินก้อนใหญ่ กู้หนี้ยืมสินเพื่อนำมาลงทุนอีกครั้ง กว่าจะรู้ตัวก็สูญเงินไปหมดแล้ว
หลอกให้ลงทุน
สแกมเมอร์รูปแบบนี้อาจมีความใกล้เคียงกับ Romance Scam เพียงแต่อาจจะประเมินแล้วว่าคนคนนี้ไม่สามารถเข้าหาด้วยการจีบได้ สามารถใช้ความโลภของเหยื่อในการหลอกล่อได้มากกว่า อาจเข้ามาหาเหยื่อในรูปแบบของมิตรภาพ ชักชวนเหยื่อไปลงทุน โชว์ผลงานความสำเร็จของตนเองหรือผู้ที่ตนเองเคยให้การแนะนำก่อนหน้า จากนั้นก็จะสอนให้ลงทุนในแอปพลิเคชันหรือแพลตฟอร์มที่เตรียมเอาไว้ แรก ๆ ได้ หลัง ๆ ก็ต้องสูญเงินไป จากนั้นเมื่อจะถอนเงินออกก็จะบอกว่าต้องเสียภาษี จ่ายค่าบริการซึ่งเป็นจำนวนมหาศาล เพื่อหลอกให้เหยื่อโอนเงินเข้าไปเพิ่มให้ได้มากที่สุด
สแกมเมอร์ส่ง link ให้กด
วิธีที่ง่ายแสนง่ายและมีหลายคนเผลอตัวไปโดยไม่รู้ตัว คือการที่สแกมเมอร์ปลอมตัวเป็นหน่วยงานต่าง ๆ ส่งข้อความมาเพื่อแจ้งอัปเดตข่าวสารพร้อมแนบ Link ให้เหยื่อกดเพื่อเป็นการยืนยันตัวตน กว่าจะรู้ตัวก็โดนดูดเงินหมดบัญชี
Check List วิธีจับโป๊ะสแกมเมอร์
- ทักเข้ามาตามแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ โดยไม่มีที่มาที่ไป
- มีพฤติกรรมตีสนิท จีบ หรือแสดงความชอบต่อตัวเราอย่างรวดเร็ว
- บางกรณีมีการขอคบ ขอสานสัมพันธ์ ขยับสถานะอย่างรวดเร็ว
- โซเชียลมีเดียดูดี มีภูมิฐาน โปรไฟล์ดีเกินความเป็นจริง
- มักมีดีกรีเรียนจบนอก อยู่ต่างประเทศ เป็นนักลงทุน
- วันเวลาในการลงโพสต์ ลงรูป บนโซเชียลมีเดียดูไม่เป็นธรรมชาติ
- มักแสดงให้เห็นหรือเนียนให้ข้อมูลว่าตัวเองมีเงิน ร่ำรวยจากการลงทุน
วิธีป้องกันตัวจากสแกมเมอร์
- หลีกเลี่ยงการพูดคุยหรือรับเพื่อนทางอินเทอร์เน็ตที่ดูเป็นคนแปลกหน้า
- รู้จักสังเกตพฤติกรรมของผู้ที่สนทนาด้วยอย่างละเอียด ไม่ปล่อยให้ความโลภหรือความรักบังตา
- ไม่ยอมลงทุนจากการชักชวนของคนแปลกหน้า
- ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัว หรือกด Link ที่ไม่น่าไว้วางใจ
นอกจากการที่จะโดนหลอกให้รักแล้ว ปัจจุบันจะเห็นได้ชัดว่าหลายคนมักโดนสแกมเมอร์หลอกจากความโลภ ที่อยากจะทำให้เงินที่มีอยู่ในมือนั้นงอกเงยเพิ่มขึ้นมากมายโดยที่ไม่ต้องเหนื่อยทำอะไร ดังนั้น แรบบิท แคร์ จึงขอเสนอทางเลือกอีกทางอย่างการทำประกันออมทรัพย์ ซึ่งสามารถเพิ่มพูนเงินเก็บของทุกคนให้มากขึ้นได้ ไม่ต้องเหนื่อยทำอะไรมากมาย และไม่โดนสแกมเมอร์หลอกอย่างแน่นอน!
นักเขียนรุ่นไฮบริด เขียนบทความด้านการบริหารเงินส่วนบุคคลและการลงทุนต่าง ๆ กว่า 7 ปี เริ่มต้นที่งานเขียนที่ Rabbit Finance จนย้ายมาที่ Rabbit Care และ Asia Direct