บริจาคร่างกาย บริจาคอวัยวะ ทำได้ที่ไหน? ดำเนินการอย่างไร?
ชีวิตคนเรา แม้จะดับสูญตายจาก ทิ้งเหลือไว้เพียงร่างเนื้อกายหยาบ ก็ยังสามารถสร้างประโยชน์ได้ ในรูปแบบของการบริจาคร่างกาย บริจาคอวัยวะ เพื่อเป็นมหากุศลครั้งสุดท้าย เพราะชีวิตไม่เที่ยง ร่างกายไม่จีรัง วัยไหนก็สามารถบริจาคร่างกายไว้ก่อน เผื่อถึงเคราะห์คราวอันสมควร เราจะได้ทำให้ร่างกายที่เราเคยรัก เคยหวงแหน มีประโยชน์ ต่อชีวิตผู้อื่นได้เป็นครั้งสุดท้าย
บริจาคร่างกาย กับบริจาคอวัยวะ แตกต่างกันอย่างไร ?
ก่อนอื่นสิ่งที่ทุกคนจะต้องเข้าใจก็คือความแตกต่างระหว่างการบริจาคร่างกาย และการบริจาคอวัยวะ ซึ่งสำคัญมาก ๆ และต้องรับรู้ก่อน เพราะการบริจาคเฉพาะอวัยวะ จะมีข้อจำกัดมากกว่าการบริจาคร่างกายทั่วไป ฉะนั้นหากผู้ที่ต้องการบริจาคเฉพาะอวัยวะที่เฉพาะเจาะจงอาจจะต้องมีข้อกำหนดที่ชัดเจน และมีเงื่อนไขที่ละเอียดกว่า
บริจาคร่างกาย คือ?
บริจาคร่างกาย คือการอุทิศร่างกายทั้งหมดของคุณ ให้นักศึกษาได้ใช้เป็นสื่อการศึกษา หรือที่เรียกกันว่า ‘อาจารย์ใหญ่’ ซึ่งการบริจาคร่างกาย นอกจากจะได้เป็นร่างให้นิสิตแพทย์ แพทย์เฉพาะทาง และแพทย์ประจำบ้าน ได้ฝึกผ่าตัด หัตถการ ยังสามารถนำเนื้อเยื่อไปทำงานวิจัย และโครงกระดูกยังสามารถนำไปศึกษาต่อได้ในเชิงโครงสร้างอีกด้วย
บริจาคอวัยวะ คือ?
คือการบริจาคเพียงอวัยวะเฉพาะส่วน เพื่อที่จะนำไปปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วยระยะสุดท้าย หรือผู้ป่วยที่มีภาวะอวัยวะล้มเหลว ฉะนั้นจะสามารถทำได้ในกรณีที่อวัยวะนั้นยังสามารถใช้งานได้ และมีความสมบูรณ์ จึงต้องตรวจสอบค่อนข้างเยอะ ก่อนที่จะนำอวัยวะมาปลูกถ่ายกับผู้ป่วยได้จริง
สรุปความแตกต่างเบื้องต้น บริจาคร่างกาย และบริจาคอวัยวะ
บริจาคอวัยวะ | บริจาคร่างกาย | |
เงื่อนไข | เสียชีวิตจากภาวะสมองตายเท่านั้น (กรณีไม่เสียชีวิต ต้องมีอวัยวะที่สมบูรณ์และร่างกายแข็งแรง) | บริจาคร่างกายเมื่อเสียชีวิตด้วยสาเหตุธรรมชาติ และยังมีอวัยวะอยู่ครบ |
ขั้นตอน | แพทย์ต้องเก็บเกี่ยวอวัยวะโดยเร็วที่สุด จากนั้นจึงตบแต่งร่างกลับคืนญาติ และทำพิธีทางศาสนาตามเจตจำนงของญาติ | แจ้งโรงพยาบาลที่บริจาคร่างให้มารับภายใน 24 ชั่วโมง อุทิศร่างให้ศึกษา ~2 ปี จากนั้นโรงพยาบาลจะทำพิธีบำเพ็ญกุศลให้ |
ลงชื่อบริจาค | ติดต่อสภากาชาดไทย และโรงพยาบาลประจำจังหวัด | ติดต่อสภากาชาด และคณะแพทย์ได้ทุกแห่ง โดยเงื่อนไขจะขึ้นอยู่กับแต่ละโรงพยาบาล |
บริจาคอวัยวะ อะไรได้บ้าง?
อวัยวะชิ้นใหญ่ที่สามารถบริจาคได้คือ : ไต 2 ข้าง, ปอด 2 ข้าง, หัวใจ, ตับ, ตับอ่อน
เนื้อเยื่อที่ปลูกถ่ายได้ คือ : ลิ้นหัวใจ, หลอดเลือด, ผิวหนัง, กระดูก, เส้นเอ็น, กระจกตา
เงื่อนไข บริจาคอวัยวะ
- อายุไม่เกิน 65 ปี*
- เสียชีวิตจากภาวะสมองตาย*
- ปราศจากโรคติดเชื้อ และโรคมะเร็ง*
- ไม่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน, หัวใจ, โรคไต, ความดันโลหิตสูง, โรคตับ และไม่ติดสุรา*
- อวัยวะที่จะบริจาคต้องทำงานได้ดี*
- ปราศจากเชื้อที่ถ่ายทอดทางการปลูกถ่ายอวัยวะ เช่น ไวรัสตับอักเสบชนิดบี, ไวรัสเอดส์ ฯลฯ*
- ควรแจ้งเรื่องการบริจาคให้บุคคลในครอบครัวหรือญาติรับทราบด้วย*
*เงื่อนไขการบริจาคอวัยวะอ้างอิงจากสภากาชาดไทย
ทำไมอวัยวะจึงขาดแคลน
เนื่องจากเงื่อนไขค่อนข้างยาก โดยเฉพาะเงื่อนไขที่ว่าผู้ตายจะต้องเสียชีวิตจากภาวะสมองตาย โดยสมองมีหน้าที่ควบคุมอวัยวะทุกส่วนในร่างกาย ฉะนั้นภาวะสมองตายก็คือเท่ากับเสียชีวิตแล้วนั้นเอง ซึ่งภาวะสมองตายในแต่ละประเทศก็จะมีความหมายไม่เหมือนกัน อย่างในประเทศไทยจะถือว่าหากก้านสมองตาย ก็คือสมองตายและถือว่าบุคคลนั้นเสียชีวิตแล้ว ซึ่งสามารถเกิดจากหลากหลายสาเหตุ เช่นอุบัติเหตุได้รับความกระทบกระเทือนบริเวณสมอง เนื้องอกในสมอง ติดเชื้อในสมอง หรือความดันในสมอง
โดยกรมสุขภาพของสหรัฐอเมริการะบุ การเสียชีวิตจากภาวะสมองตาย เกิดขึ้นเพียง 2% ของการเสียชีวิตทั้งหมด เพราะการเสียชีวิตส่วนมากมักมีต้นเหตุมาจากส่วนอื่น เช่นการเสียเลือดมาก มะเร็งในส่วนอื่นของร่างกาย แล้วจึงค่อยนำไปสู่ภาวะสมองตายในภายหลัง ฉะนั้นผู้ที่เสียชีวิตจากภาวะสมองตาย โดยที่อวัยวะอื่นยังสมบูรณ์ และผ่านทุกเงื่อนไข พร้อมหน่วยแพทย์สามารถเข้าถึงได้ทันท่วงที จึงมีค่อนข้างน้อย
เงื่อนไข บริจาคตา
- ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป*
- ปราศจากเชื้อที่มีการถ่ายทอดทางการปลูกถ่ายกระจกตา เช่น ไวรัสเอดส์ ไวรัสตับอักเสบ บี ซี เป็นต้น*
โดยผู้ที่มีสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง ผู้ที่ผ่านการทำเลสิค หรือเคยผ่าตัดต้อกระจก สามารถบริจาคดวงตาได้ ไม่มีปัญหา*
*อ้างอิงจากศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย
เงื่อนไข บริจาคร่างกาย
- อายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี และไม่เกิน 80 ปี*
- ไม่เป็นโรคติดต่อ เช่นโรคเอดส์ วัณโรค และโรคเรื้อน โรคไวรัสตับอักเสบบี และโรคติดต่อร้ายแรงอื่น ๆ*
- ไม่เป็นผู้พิการทางร่างกายจนไม่เหมาะสมแก่การศึกษา เช่น แขน ขาขาด หรือพิการแต่กำเนิดทำให้ร่างกายผิดรูป*
- บริจาคร่างกายเมื่อเสียชีวิตโดยร่างนั้นจะต้องไม่เกี่ยวพันกับคดีความใด ๆ
*อ้างอิงจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
บริจาคร่างกาย บริจาคอวัยวะ บริจาคดวงตาได้ที่ไหนบ้าง?
สามารถบริจาคได้โดยการติดต่อโรงพยาบาลรัฐบาล หรือเอกชนขนาดใหญ่ เช่นโรงพยาบาลจุฬาฯ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และอื่น ๆ อีกมากมาย หากแต่วิธีการบริจาคร่างการ ที่ง่ายที่สุด คือการบริจาคกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เพราะสามารถทำได้ถึง 3 วิธีแล้วแต่ความสะดวก สามารถบริจาคร่างกาย และบริจาคดวงตาพร้อม ๆ กัน
วิธีลงชื่อ บริจาคร่างกาย ออนไลน์
บริจาคร่างกาย กับสภากาชาดไทย สามารถลงทะเบียออนไลน์ได้ทั้งหมด โดยวิธีการลงทะเบียนออนไลน์ จะแบ่งออกเป็น บริจาคอวัยวะบริจาคร่างกาย และบริจาคดวงตา ซึ่งสามารถ สามารถกรอกข้อมูล ชื่อ บัตรประชาชน ที่อยู่บ้านได้เลย โดยจะสามารถเลือกได้ว่าจะรับบัตรรึเปล่า หากรับทางสภากาชาดจะพิจารณาและติดต่อกลับมาพร้อมส่งบัตรแข็งกลับมาให้ทางไปรษณีย์
- ลงชื่อ บริจาคร่างกายออนไลน์ : https://anatomydonate.kcmh.or.th/anatomy
- ลงชื่อ บริจาคอวัยวะออนไลน์ : https://www.organdonate.in.th/auth/login_register
- (กรณีนี้จะต้องแจ้ง และได้รับคำยินยอมจากทายาท 1-3 ท่านด้วย)
- ลงชื่อ บริจาคดวงตาออนไลน์ : https://ebis.redcross.or.th/Register.aspx
นอกจากนั้นหากอยากลงทะเบียนบริจาคร่างกายออนไลน์กับโรงพยาบาลโดยตรง ก็สามารถทำได้ ทั้งบริจาคร่างกายออนไลน์ ศิริราช และ บริจาคร่างกายออนไลน์ จุฬาฯ ซึ่งการบริจาคร่างกาย ศิริราช และจุฬาฯ สามารถทำได้ทั้งออนไลน์ และ ออฟไลน์เช่นกัน
วิธีลงชื่อ บริจาคร่างกาย ณ สภากาชาดไทย
สามารถไปลงชื่อบริจาคร่างกาย ได้เลยที่สภากาชาด ณ อาคารเทิดพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร ถนนอังรีดูนังต์ ซึ่งสามารถขึ้นไปชั้น 5 เพื่อทำเรื่องบริจาคร่างกาย และ ต่อด้วยชั้นที่ 7 เพื่อทำเรื่องบริจาคดวงตา
สิ่งที่ต้องเตรียมมีเพียงอย่างเดียว นั่นก็คือ บัตรประชาชนตัวจริง ใช้เวลาทำเรื่องบริจาคร่างกาย บริจาคดวงตา รวมกันประมาณ 45 นาที ถึง 1 ชั่วโมง (กรณีคนไม่เยอะ) และได้บัตรออกมาเก็บไว้เลยทันที
สภากาชาดไทย เดินทางอย่างไร?
- MRT สามย่าน ออกทางออกเดียวกับจามจุรีสแควร์ เดินเลียบถนนพระราม 4 ประมาณ 6 นาทีถึงสภากาชาดไทย
- BTS ศาลาแดง เดินมาทางซอยธานิยะ และข้ามฝั่ง เลี้ยวเข้าถนนอังรีดูนัง ใช้เวลาประมาณ 10 นาทีถึงสภากาชาดไทย
สิ่งที่ผู้บริจาคร่างกาย ไม่ควรมองข้าม
- คุยกับที่บ้านให้ทราบเจตจำนงของเราในการบริจาคร่างกาย อย่างชัดเจน
มีการระบุก่อนที่จะทำการบริจาคร่างกายเมื่อเสียชีวิตทุกกรณีว่า ‘ทายาทมีสิทธิ์ไม่มอบศพให้กับโรงพยาบาลได้โดยไม่ต้องแจ้งศูนย์รับร่างฯ โดยไม่มีความผิดทางกฎหมาย’ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยมาก ๆ หากผู้เสียชีวิตไม่ได้บอกกับทายาทอย่างเป็นรูปธรรม สุดท้ายแล้วทายาทจะปฎิเสธการบริจาคร่างกายเมื่อเสียชีวิต ด้วยสาเหตุของความเชื่อส่วนบุคคล ความไม่สะดวกสบาย หรือใด ๆ ก็ตาม ฉะนั้นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก หลังจากลงทะเบียน บริจาคใด ๆ ต้องแจ้งกับที่บ้าน ทายาทให้เข้าใจร่วมกัน
- ทายาทจะต้องรู้วิธีการดำเนินการด้วย
เมื่อญาติทราบถึงความต้องการของผู้ตายในการบริจาคร่างกายเมื่อเสียชีวิต ควรโทรหาสภากาชาดไทยทันทีหลังผู้บริจาคเสียชีวิต โดยแจ้งได้ที่ โทร. 1666 หรือ 0-2256-4045-6 เพื่อให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสามารถปฎิบัติการได้ทันท่วงที
- ต้องการทำศพตามความเชื่อทางศาสนา
หากต้องการร่างในการทำพิธีทางศาสนาสำหรับครอบครัว อาจเลือกการบริจาคเฉพาะอวัยวะ หรือบริจาคดวงตา เพราะหากบริจาคร่างกาย หลังจากเป็นอาจารย์ใหญ่ ร่างจะถูกประกอบพิธีโดยทางโรงพยาบาลเลย หากแต่บริจาคเฉพาะส่วนอวัยวะ ยังสามารถนำร่างกลับมาประกอบพิธีศาสนาตามศรัทธาของครอบครัวได้
บริจาคร่างกาย บริจาคอวัยวะ บริจาคดวงตา ได้บุญอย่างไร?
อ้างอิงจากพระคุณเจ้าพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) ที่ได้เขียนหนังสือคัดย่อเกี่ยวกับพระพุทธศาสนากับการบริจาคร่างกาย โดยได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่าการบริจาคร่างกายเมื่อเสียชีวิต ไม่มีความผิดทางศาสนาพุทธอย่างแน่นอน ในทางกลับกัน จะถือว่าเป็นการบำเพ็ญทานในขั้น “ทานระดับรอง” และ “ทานปรมัตถบารมี” ซึ่งเป็นการบริจาคชีวิตเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น หรือเพื่อรักษาธรรม จึงถือว่าเป็นบุญอย่างแน่นอน
ซึ่งผลบุญจากการบริจาคอวัยวะ ผู้ที่ได้บุญ คือผู้บริจาคร่างกายเมื่อเสียชีวิต นอกจากนั้นจะสามารถเป็นบุญต่อเนื่องยาวต่อไปได้ เพราะผู้ที่ได้รับอวัยวะ สามารถนำชีวิตของตนไปบำเพ็ญบุญต่อ ซึ่งส่วนบุญเหล่านั้นจะส่งต่อมาถึงเราผู้เป็นผู้บริจาคอวัยวะนั้น ๆ หรือผู้บริจาคที่ได้ทำประโยชน์ ต่อยอดวิชาให้เหล่านักศึกษาได้ค้นคว้าต่อไปในภายภาคหน้า
สุดท้ายนี้ แรบบิท แคร์ อยากให้ทุกท่านคิดกับเรื่องของการตายจาก เป็นเรื่องปกติ และสิ่งสำคัญคือรับจะรับมือกับการสูญสิ้นอย่างไรให้สง่างาม และสมศักดิ์ศรีที่สุด หนึ่งในนั้นก็คือการบริจาคร่างกายเมื่อเสียชีวิต ซึ่งนอกเหนือจากร่างกายของเรา อีกสิ่งที่ต้องใส่ใจคือทรัพย์สินของเรา ซึ่งบัตรเครดิต แรบบิท แคร์ โอนแต้ม โอนพอยต์ ทำบุญให้กับวัด ช่วยเหลือสังคมได้
ทีมกองบรรณาธิการ กลุ่มนักเขียนผู้มีประสบการณ์ด้านรถยนต์ การเงิน และประกันภัย ของ แรบบิท แคร์ ที่เปิดดำเนินการมาแล้วมากกว่า 10 ปี