ไทยนิยมยั่งยืน! ผุดโครงการจ้างงาน คาดเงินหมุนเวียนกว่า 6 หมื่นล้าน
- กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับงบประมาณจำนวน 24,987.42 ล้านบาท คาดว่าจะผลให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้แก่ประชาชน และเหล่าเกษตรกรรวมทั้งสิ้น 3 ล้านรายทั่วประเทศ
- โครงการผลักดันการจ้างงานเพื่อเกษตรกร ให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในขั้นตอนต่างๆ รวมทั้งการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งน้ำอย่างทั่วถึง อาทิ ฝายชะลอน้ำ เพื่อการเกษตรที่ยั่งยืนต่อไป
ไทยนิยมยั่งยืน ผุดโครงการจ้างงาน สานต่อความสำเร็จ
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เปิดเผยผลจากการดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรตามแนวโครงการไทยนิยมยั่งยืน ซึ่งถือว่าประสบผลสำเร็จในการดำเนินงาน และได้ริเริ่มโครงการใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเพื่อสนับสนุนการจ้างงาน โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยต่อแหล่งข่าวว่าด้วยเรื่องของโครงการไทยนิยมยั่งยืน ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับงบประมาณจำนวน 24,987.42 ล้านบาท สำหรับดำเนินตามแผนงาน 2 แผนงาน รวม 22 โครงการ
- ทั้งนี้ ทางสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้วิเคราะห์ว่า งบประมาณที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับ จะส่งผลให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนและเหล่าเกษตรกรรวมทั้งสิ้น 3 ล้านราย
รวมถึงก่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจทั้งในระดับครัวเรือน ชุมชน จังหวัด จนถึงระดับประเทศ จากค่าจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ทางการเกษตร และส่งผลด้านรายได้จากค่าว่าจ้างแรงงานในโครงการต่างๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งจะกลายเป็นรายได้ของแรงงาน ที่จะถูกนำไปใช้จ่ายเพื่อการบริโภคและกระจายไปเป็นรายได้ของร้านค้า รวมถึงธุรกิจในชุมชน
โครงการผลักดันการจ้างงาน เพื่อเกษตรกร
ในส่วนของกระบวนการเสนอโครงการดังกล่าว เน้นความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในขั้นตอนต่างๆ ดังนี้
- เกษตรกร สถาบันเกษตรกร เสนอความต้องการผ่านเวทีประชาคมของหมู่บ้าน
- หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำโครงการตามความประสงค์ของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร โดยเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ปี 2561
- เกษตรกรชุมชนร่วมกำหนดพื้นที่เป้าหมายของโครงการ เสนอโครงการชุมชนเพื่อทำการขอรับเงินสนับสนุนเพื่อไปทำกิจกรรมต่างๆ ชุมชนละ 300,000 บาท
- โครงการที่มีการจัดซื้อจัดจ้าง เปิดให้เกษตรกรร่วมเป็นคณะกรรมการตรวจรับงานจ้างและการจัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์
เนื่องจากประเทศไทยมีพื้นที่สำหรับการทำเกษตรกรรมค่อนข้างมาก ซึ่งกระบวนการผลิตเพื่อให้เกิดผลผลิตที่ดีจะต้องใช้ “น้ำ” เป็นปัจจัยสำคัญในการผลิต การเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งน้ำอย่างทั่วถึงจึงมีความจำเป็น และเป็นบทบาทหน้าที่ของรัฐ โดยมีประชารัฐและประชาชนร่วมกันในการบริหารจัดการ ร่วมกันดูแลรักษา และใช้ประโยชน์ จึงได้มีโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานน้ำในระดับชุมชน
ซึ่งผลจากโครงการนี้พบว่าเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการทำเกษตรกรรมในพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำชลประทาน รวมถึงมีการพัฒนาเพิ่มขึ้นของโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตร จากกิจกรรมสร้างฝายชะลอน้ำเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ ซึ่งจะช่วยสร้างความยั่งยืนในการทำการเกษตรในอนาคต
“ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากงบประมาณโครงการที่ใช้จ่ายลงไปในระบบ จากการวิเคราะห์ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร งบประมาณที่ได้รับจะส่งผลสำเร็จให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนและเกษตรกร รวมทั้งสิ้นกว่า 3 ล้านราย ซึ่งก่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในระดับครัวเรือน ชุมชน จังหวัด และระดับประเทศ คิดเป็นมูลค่า 63,599 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.54 เท่าของเงินงบประมาณ”
ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรไทยมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีต้นทุนการผลิตลดลง คุณภาพชีวิตและการหมุนเวียนเงินทุนเพื่อการเกษตรในระยะยาวก็จะเข้าที่เข้าทางมากขึ้น
ที่มา : มติชน, ข่าวสด
ทีมกองบรรณาธิการ กลุ่มนักเขียนผู้มีประสบการณ์ด้านรถยนต์ การเงิน และประกันภัย ของ แรบบิท แคร์ ที่เปิดดำเนินการมาแล้วมากกว่า 10 ปี