ประกันโรคร้ายแรง เลือกยังไง? มีแบบไหนบ้างนะ?
ประกันโรคร้ายมีหลากหลายแผน มีให้เลือกหลายประเภท ซึ่งเป็นไอเทมที่ได้รับความสนใจอย่างมากในช่วงนี้ แต่จะเลือกซื้อยังไงให้ความคุ้มครองนั้นครอบคลุมและคุ้มค่าที่สุด วันนี้ Rabbit Care มีเทคนิคง่าย ๆ มาฝากกัน
เลือก “ประกันโรคร้าย” ยังไงดี?
ทำความรู้จักประกันโรคร้ายกันก่อน
ทำความเข้าใจกันก่อนว่า ประกันโรคร้ายนั้นจะเน้นไปที่ความคุ้มครองโรคร้ายโดยเฉพาะโรคร้ายแรง 5 โรคที่เราทำไว้ เช่น ทำประกันโรคร้ายมะเร็ง เบาหวาน ก็จะคุ้มครองแค่การรักษาในส่วนนั้น แต่จะไม่คุ้มครองการรักษาพยาบาลทั่วไป เช่น หกล้ม มีดบาด หรือโรคอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในขอบเขตการคุ้มครอง หลายคนจึงเลือกซื้อประกันโรคร้ายเพิ่มเติมจากแผนประกันสุขภาพที่มีอยู่ โดยทั่วไปแล้ว ประกันโรคร้ายจะแบ่งตามลักษณะของการคุ้มครอง ซึ่งปัจจุบันจะมีอยู่ 2 แบบ คือ
-
แบบคุ้มครองตลอดชีวิต
เป็นประกันโรคร้ายที่มีสัญญาคล้ายกับประกันชีวิตตลอดชีพ ยาวไปจนถึงอายุ 80 – 90 ปี มีการจ่ายเบี้ยคงที่ เมื่อครบสัญญามีเงินคืน แต่จะต้องจ่ายต่อเนื่องยาวนานเป็น 10 – 20 ปี ส่วนลักษณะการคุ้มครอง จะจัดเป็น ระยะเริ่มต้น หรือระยะลุกลาม ซึ่งจะจ่ายค่าชดเชยเป็นเปอร์เซ็นจากจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ทำไว้
เช่น หากตรวจพบว่าเป็นโรคร้ายแรงในระยะเริ่มต้นจะจ่าย 20% ของจำนวนเงินเอาประกันภัย และหากตรวจพบว่าเป็นในระยะลุกลาม บริษัทประกันจะจ่าย 100% ของจำนวนเงินเอาประกันภัย หรือตามวงเงินที่เหลืออยู่
นอกจากนี้ ยังให้ความคุ้มครองกรณีเสียชีวิต ไม่ว่าจะมีสาเหตุจากโรคร้ายแรงหรือสาเหตุใด ๆ ก็ตาม
แต่ค่าเบี้ยต่อปีค่อนข้างแพง และต้องจ่ายเบี้ยให้ครบตามสัญญา ซึ่งบางแห่งยาวนานเป็น 10 – 20 ปี หากต้องการยกเลิกในระหว่างอายุสัญญา ก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการยกเลิก แถมจำนวนโรคร้ายแรงที่ให้ความคุ้มครองก็มีน้อยกว่าแบบสัญญาเพิ่มเติม
-
แบบสัญญาเพิ่มเติม คุ้มครองปีต่อปี
ลักษณะสัญญาของประกันโรคร้ายนี้จะเป็นแบบสัญญาเพิ่มเติมแยกต่างหาก คุณอาจจะต้องเลือกซื้อพร้อมกับประกันชีวิตซึ่งเป็นสัญญาหลัก หรือต้องมีสัญญาหลักก่อนจึงจะซื้อสัญญาเพิ่มเติมได้ หลัก ๆ จะคุ้มครองเฉพาะกรณีตรวจพบในระยะลุกลาม หรือเสียชีวิตจากโรคร้ายแรงเท่านั้น
สำหรับแบบสัญญาเพิ่มเติม จะต้องจ่ายเบี้ยตลอดอายุสัญญา และต่อสัญญากันแบบปีต่อปี เบี้ยแพงขึ้นเรื่อย ๆ ตามอายุของผู้ทำประกัน และเป็นเบี้ยจ่ายทิ้ง โดยทั่วไปจะคุ้มครองจนถึงอายุ 70 – 85 ปี
ส่วนมากจะเหมาะกับคนอายุน้อย เพราะจะได้จ่ายเบี้ยที่ถูกกว่า และเหมาะกับคนที่มีประกันตัวหลักอยู่แล้ว อยากซื้อสัญญาอื่น ๆ คุ้มครองในโรคที่ตัวเองมีความเสี่ยง
นอกจากจะช่วยให้เราวางแผนคุ้มครองค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลได้ครอบคลุมมากกว่า (มีมากถึง 30 – 40 กว่าโรค) ยังสามารถปรับเปลี่ยนได้เรื่อย ๆ ถ้ารู้สึกว่าสัญญาเดิมไม่ตอบโจทย์
แต่จะไม่คุ้มหากทำต่อเนื่อง เพราะเบี้ยมีการปรับขึ้นในทุก ๆ 1 – 5 ปี และไม่เหมาะจะทำเพื่อคุ้มครองโรคร้ายแรงในระยะยาว แถมคุ้มครองเฉพาะกรณีเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงระยะลุกลามเท่านั้น ไม่คุ้มครองตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ทำให้ต้องจ่ายค่ารักษาในระยะเริ่มต้นเอง หรือต้องทำประกันสุขภาพอื่น ๆ เพิ่มเติม
สรุปแล้ว ถ้าใครตัดสินอยู่ว่าจะเลือกยังไง ให้เช็กประกันตัวหลักที่คุณทำไว้ว่าครอบคลุมมากแค่ไหน ถ้าเน้นคุ้มครองยาว ๆ เป็นคนที่เริ่มมีอายุ การเลือกทำแบบคุ้มครองชีวิตไปเลยจะคุ้มค่ากว่า แต่ถ้าคุณเป็นเด็กจบใหม่ ไฟแรง อยากได้ความคุ้มครองเกี่ยวกับโรคที่ตัวเองเสี่ยง ก็ซื้อแบบสัญญาปีต่อปีแทน
หรือใครที่รู้ตัวว่าสุขภาพไม่แข็งแรง รู้ตัวว่าป่วยได้ง่าย เสี่ยงกับโรคทางกรรมพันธุ์ อาจจะซื้อทั้งสองแบบ แต่เลือกความคุ้มครองที่หลากหลาย ครอบคลุมโรคหลาย ๆ แบบ หรือจะเลือกเปลี่ยนสัญญาคุ้มครองปีต่อปี ไปเรื่อย ๆ ตามไลฟ์สไตล์ก็ได้ เช่น ช่วงนี้หน้าฝนก็เน้นประกันโรคร้ายที่มากับยุง เป็นต้น
เช็กลิสต์ ก่อนเลือกซื้อ ประกันโรคร้ายแรง
หลัก ๆ การเลือกซื้อประกันสุขภาพโรคร้ายนั้นมีความละเอียดอ่อน หลาย ๆ ครั้งที่คุณต้องเช็กรายละเอียดต่าง ๆ ให้ถี่ถ้วนก่อนเลือกทำ เพราะประกันเหล่านี้จะมีเงื่อนไขมากมาย และมีรายละเอียดที่ซับซ้อนอยู่พอสมควร หากไม่เลือกให้ดี แทนที่จะเบิกเคลมได้อย่างสบายใจ ก็อาจจะได้ประกันที่ไม่ตอบโจทย์ ไม่ครอบคลุม เผลอ ๆ เบิกเคลมไม่ได้อีกต่างหาก โดยหลัก ๆ ที่เราควรเช็ก มีดังนี้
- ต้องสำรองก่อนจ่ายหรือไม่ เพราะไม่ใช่ทุกเวลา ที่เรามีเงินก้อน พร้อมจ่าย
- มีระยะเวลารอคอยโรคนานกี่วันจึงจะเริ่มคุ้มครอง
- มีโรคร้ายอะไรบ้างที่คุ้มครอง และโรคร้ายแบบไหนที่ไม่คุ้มครอง
- ระยะเริ่มต้น ระยะลุกลาม มีการคุ้มครองยังไง เพราะบางแห่งจ่ายในระยะเริ่มต้น บางแห่งจ่ายแค่ช่วงระยะลุกลามแล้ว?
- จำกัดจำนวนครั้ง หรือจำกัดวงเงินในการเบิกไหม?
- ต่ออายุความคุ้มครองยังไง ต่อโดยอัตโนมัติ หรือต้องยื่นเรื่องในการต่อ
และนี่เป็นเพียงเช็กลิสต์คร่าว ๆ ที่คุณควรเช็กก่อนการซื้อประกันสุขภาพโรคร้าย ส่วนเงื่อนไขต่าง ๆ ก็เป็นสิ่งที่เราควรเช็ก หากไม่เข้าใจก็ควรสอบถามโบรกเกอร์ประกัน บริษัทประกัน หรือนายหน้าที่ทำประกันโดยทันที ไม่ควรปล่อยผ่านไปเฉย ๆ นะคะ
ที่สำคัญ อย่าเชื่อว่าไม่ตรวจสุขภาพก็ทำได้ เพราะแท้จริงแล้ว การทำประกันควรจะตรวจสุขภาพก่อนเสมอ และแจ้งบริษัทประกันตลอด เพื่อป้องกันการเกิดเคสโมฆะ หรือไม่จ่ายเบี้ยประกัน เพราะบริษัทฯสามารถยกเลิกได้ โดยอ้างเหตุผลว่าคุณปกปิดโรค
โรคร้ายเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คุณคิด อย่าปล่อยให้เกิดขึ้นก่อน เสริมเกราะป้องกันด้วย ประกันโรคร้ายแรง จาก Rabbit Care ที่ทำได้ผ่านออนไลน์แล้ว นอกจากนี้ เรายังมีบริการเปรียบเทียบประกันสุขภาพโรคร้ายต่าง ๆ ให้คุณได้เลือกซื้อตามไลฟ์สไตล์และความเสี่ยงของคุณอีกด้วย
นักเขียนรุ่นไฮบริด เขียนบทความด้านการบริหารเงินส่วนบุคคลและการลงทุนต่าง ๆ กว่า 7 ปี เริ่มต้นที่งานเขียนที่ Rabbit Finance จนย้ายมาที่ Rabbit Care และ Asia Direct