ครึ่งปีแรก ยอดร้องเรียนปัญหา ‘บัตรเครดิต’ สูงสุด
- ครึ่งปีแรกมีประชาชนร้องเรียนปัญหาบริการด้านการเงินรวมแล้วกว่า 701 ราย ในเรื่องของการไม่ได้รับความเป็นธรรมของอัตราดอกเบี้ย ขณะที่การร้องเรียนด้านสินเชื่อพบว่ามี 449 รายการ ส่วนใหญ่เป็นเรื่อง บัตรเครดิต มากสุด
- ธปท.ออกมาตรการกำกับดูแลด้านการบริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม (มาร์เก็ต คอนดักส์) อย่างเข้มงวด และดูแลระบบธุรกรรมอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันประชาชนจากการถูกล่อลวงให้โอนเงินไปต่างประเทศ
ธปท. เผยยอดร้องเรียนครึ่งปีหลัง
ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยถึงรายงานการร้องเรียนจากศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน(ศคง.) ต่อผลการร้องเรียนของประชาชนช่วง 6 เดือนแรกของปี 2561 ที่ผ่านมา ประชาชนร้องเรียนด้านบริการทางการเงิน 701 รายการ เพิ่มขึ้นจากครึ่งปีหลัง 2560 ที่ 130 รายการ หรือเพิ่มขึ้น 22.8%
โดยเรื่องร้องเรียนด้านเงินให้สินเชื่อ ยังคงมีจำนวนสูงสุด ส่วนใหญ่เกี่ยวกับเรื่องค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ยที่คำนวณไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม รวมถีงพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินการ หรือดำเนินการล่าช้า หรือให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง เป็นต้น
พบว่า ประชาชนเข้ามาร้องเรียนด้านสินเชื่อพบว่ามี 449 รายการ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องบัตรเครดิต เรื่องปฏิเสธรายการเรียกเก็บค่าสินค้าหรือบริการของร้านค้า ซึ่งลูกค้าไม่ได้ซื้อสินค้าหรือไม่ได้รับบริการ หรือได้รับบริการไม่เป็นไปตามที่ตกลง การไม่ได้รับสิทธิตามโปรโมชั่น และยังมีเรื่องการแจ้งยกเลิกบัตรเครดิต บางรายสมัครบัตรเครดิตไปได้ไม่นาน แต่สถาบันการเงินไม่ดำเนินการและยังมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าติดตามทวงถามหนี้ เป็นต้น
และปัญหาสินเชื่อเช่าซื้อส่วนใหญ่พบว่า เป็นเรื่องเงินต้น ยอดหนี้ ไม่ถูกต้อง ค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ย ที่ลูกค้าเห็นว่าคำนวณไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม เช่น ดอกเบี้ยหรือค่าปรับล่าช้า ค่าติดตามทวงถามหนี้ เจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน เป็นต้น
ขณะที่ การร้องเรียนอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น การฝากเงิน แต่ยอดเข้าไม่ครบ การโอนเงินแต่ไม่เข้าบัญชีปลายทาง รวมถึงการถอนเงินแต่ไม่ได้รับหรือได้รับไม่ครบ และปัญหาจากการทำธุรกรรมกับเจ้าหน้าที่และการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอีแบงกิ้ง รวมถึงผู้ร้องเรียนหลายรายถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรศัพท์หลอกถามข้อมูลส่วนตัวและนำไปสมัครใช้อินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง และกรณีเจ้าหน้าที่สถาบันการเงินทุจริต
ธปท. หาทางออกที่ดีที่สุด
สำหรับการให้คำปรึกษาและการแจ้งเบาะแสภัยที่เกี่ยวกับการเงิน มีเพียง 464 รายการ ลดลงจากครึ่งปีหลัง (2560) 229 รายการ หรือลดลง 33% ส่วนใหญ่ยังคงเป็นการขอคำปรึกษาและแจ้งเบาะแสการหลอกลวงทางทาง E-mail และ Social Media 80 รายการ เช่น การถูกหลอกลวงให้โอนเงินจากชาวต่างชาติที่ติดต่อผ่าน Facebook เรื่องการโอนเงินหรือส่งพัสดุมาให้และต้องจ่ายค่าธรรมเนียม ค่าภาษีก่อน การถูกแฮ็ก อีเมลและเปลี่ยนบัญชีผู้รับโอนเงินชำระค่าสินค้า
อย่างไรก็ดี ปัญหาที่พบว่า ลดลงจากปีที่ผ่านมา มีเรื่องการร้องเรียนด้านโทรขายผลิตภัณฑ์ หลังจากธปท.ได้ออกมาตรการกำกับดูแลด้านการบริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม (มาร์เก็ต คอนดักส์) อย่างเข้มงวด
ส่งผลให้ในปีหน้า ธปท.เตรียมที่จะขยายขอบเขตการกำกับดูแลมาร์เก็ต คอนดักส์ ให้ครอบคลุม เพื่อยกระดับการบริหารจัดการด้านนี้ให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ รวมถึงบริษัทบริหารสินทรัพย์ (บบส.) และบริษัทผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับที่มิใช่สถาบันการเงิน
มีประสบการณ์สร้างสรรค์ผลงานออนไลน์ 10 ปี เขียนด้านเงิน การลงทุน บทความวิเคราะห์สถานการณ์การเงินในประเทศ และฝากผลงานไว้ที่ Rabbit Care ถึง 4 ปี