บัตรเอทีเอ็มแบบชิปการ์ดดีกว่าแถบแม่เหล็กอย่างไร?
เป็นที่ทราบกันดีว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ จะยกเลิกการใช้บัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตแบบแถบแม่เหล็ก ภายในวันที่ 15 มกราคม 2563 นี้ และหลังจากวันที่ 16 มกราคม 2563 เป็นต้นไป จะไม่สามารถใช้บริการกดเงินหรือรูดบัตรที่ร้านค้าได้ ดังนั้นผู้ที่ยังถือบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตแบบแถบแม่เหล็กต้องไปเปลี่ยนเป็นบัตรแบบชิปการ์ดที่ธนาคาร
ว่าแต่ชิปการ์ดสำคัญยังไง แล้วทำไมต้องเปลี่ยน? ตาม Rabbit Care ไปดูรายละเอียดกันเลย
ทำไมต้องเปลี่ยนเป็นบัตรชิปการ์ด
จากนโยบายของคณะกรรมการระบบการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ธนาคารพาณิชย์เปลี่ยนบัตรให้เป็นชิปการ์ด เพราะถือว่าเป็นบัตรที่ยอมรับกันในระดับสากล ในเรื่องของความปลอดภัย เพราะบัตรชิปการ์ดสามารถป้องกันการคัดลอกข้อมูล และทำบัตรปลอมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
หลายประเทศทั่วโลก ได้มีการปรับใช้บัตรเครดิต บัตรเดบิต และบัตรเอทีเอ็มเป็นแบบชิปการ์ดแล้ว เช่น ในทวีปยุโรป และทวีปออสเตรเลีย นอกจากนี้ประเทศในกลุ่มสมาชิกอาเซียนอย่าง สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ก็มีการเปลี่ยนมาใช้ชิปการ์ดแล้วเช่นกัน เพื่อแก้ปัญหาการปลอมแปลงบัตร ที่นำไปสู่การโจรกรรมข้อมูล หรือสกิมมิ่งนั่นเอง
ชิปการ์ด หรือ Smart Card หรือ EMV (ย่อมาจาก Europay, MasterCard และ Visa) คือ บัตรที่มีการเก็บข้อมูลของผู้ถือบัตรไว้ในชิปที่เปรียบเสมือนคอมพิวเตอร์ขนาดจิ๋ว ที่ช่วยให้เราสามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น
โดยประเทศไทย ได้ใช้ชิปการ์ดกับบัตรเครดิตไปก่อนหน้านี้แล้ว ส่วนบัตรเดบิตและบัตรเอทีเอ็มนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ออกบัตรเดบิตและบัตรเอทีเอ็มให้เป็นแบบชิปการ์ด รวมถึงเครื่องเอทีเอ็มของธนาคารจะต้องรองรับชิปการ์ดอีกด้วย
บัตรเอทีเอ็มแบบชิปการ์ดดียังไง?
ธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมธนาคาร และสถาบันการเงิน ในการผลักดันเพื่อปรับเปลี่ยนบัตรเดบิตและบัตรเอทีเอ็มจากรูปแบบบัตรแถบแม่เหล็ก ให้เป็นบัตรชิปการ์ด ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา เพื่อต้องการยกระดับความปลอดภัยในการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นป้องกันการปลอมแปลงบัตร และการโจรกรรมข้อมูล นำไปทำบัตรปลอม และใช้ทำธุรกรรมทางการเงินผ่านเครื่องเอทีเอ็มตามที่พบเห็นได้บ่อย ๆ ตามข่าว
เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากภัยไซเบอร์ที่เพิ่มมากขึ้น และให้ผู้ถือบัตรสามารถใช้งานบัตรได้อย่างต่อเนื่องและปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางการเงิน นอกจากการเปลี่ยนตัวบัตรเป็นชิปการ์ดแล้ว ธนาคารจะยังกำหนดให้ตั้งรหัส PIN จากเดิม 4 หลัก ให้เป็น 6 หลัก เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้รหัสถูกคาดเดาได้ยากขึ้นอีกด้วยนะคะ เรียกว่าช่วยเซฟให้ผู้ถือบัตรสุด ๆ
สำหรับใครที่ยังไม่ได้เปลี่ยนบัตรเอทีเอ็ม และบัตรเดบิตเป็นแบบชิปการ์ด สามารถนำบัตรบัตรประจำตัวประชาชน บัตรเดบิตหรือบัตรเอทีเอ็มใบเดิม และสมุดบัญชีเงินฝาก ของธนาคารที่ใช้บริการทุกสาขา แจ้งความจำนงในการขอเปลี่ยนบัตรได้เลยโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ
บัตรแถบแม่เหล็กต่างจากชิปการ์ดอย่างไร
วิธีการสังเกตความแตกต่างระหว่างบัตรแถบแม่เหล็ก และแบบชิปการ์ดที่ถืออยู่นั้น ไม่ยากเลยค่ะ ดังนี้
- บัตรแถบแม่เหล็ก จะไม่มีตัวชิป (Chip) อยู่บนหน้าบัตร
- แถบแม่เหล็กอยู่ด้านหลังบัตรเท่านั้น
- บัตรชิปการ์ด จะมีตัวชิปสี่เหลี่ยมขนาดเล็กที่ติดอยู่บนด้านหน้าของบัตร
- ด้านหลังของบัตรจะยังคงรูปแบบเดิมไว้คือมีแถบแม่เหล็กสำหรับให้ผู้ถือบัตรเซ็น/ลงลายมือชื่อ
บัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตแบบชิปการ์ดนี้ มีประโยชน์กับทุกคนที่ถือ เพราะสามารถเพิ่มความปลอดภัยให้กับเงินของเราในบัญชีเงินฝากได้ เนื่องจากสามารถป้องกันการคัดลอกข้อมูลได้มากกว่าบัตรแถบแม่เหล็กที่พบว่า ถูกโจรกรรมข้อมูลจากมิจฉาชีพ แล้วนำแถบแม่เหล็กนั้นไปคัดลอกข้อมูลจากบัตร เมื่อผู้ถือบัตรทำรายการที่ตู้เอทีเอ็มต่าง ๆ ได้ โดยที่เราไม่รู้ตัวนั่นเอง
ปัจจุบันยังมีประชาชนถือบัตรเอทีเอ็มและเดบิตทั้งหมด 67 ล้านใบ แยกเป็นส่วนที่ยังใช้บัตรแบบแถบแม่เหล็กอยู่ประมาณ 20 ล้านใบทั่วประเทศ ซึ่งจะต้องเปลี่ยนบัตรใหม่เป็นบัตรชิปการ์ด เพื่อให้ใช้งานบัตรได้อย่างต่อเนื่องก่อนวันที่ 15 มกราคา 2563 นี้
หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ธนาคารพาณิชย์ทุกสาขา
หรือศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท. โทร. 1213
มีประสบการณ์สร้างสรรค์ผลงานออนไลน์ 10 ปี เขียนด้านเงิน การลงทุน บทความวิเคราะห์สถานการณ์การเงินในประเทศ และฝากผลงานไว้ที่ Rabbit Care ถึง 4 ปี