รู้หรือยัง? ความหมายสัญลักษณ์จราจรบนท้องถนน
ในชีวิตประจำวันของคนเราแทบทุกคนนั้น จะต้องมีการเดินทางสัญจรโดยยานพาหนะต่าง ๆ เชื่อว่าใน 1 วันคุณจะต้องได้ใช้เวลาอยู่บนท้องถนนกันอย่างน้อยประมาณ 1 ชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็นผู้ขับขี่ยานพาหนะด้วยตนเอง หรือเป็นผู้ที่โดยสารไปกับยานพาหนะต่าง ๆ ล้วนแต่ต้องเคยพบเห็นสัญลักษณ์การจราจรบนท้องถนนทั้งสิ้น ซึ่งสัญลักษณ์เหล่านี้จะเป็นสิ่งที่กำกับวิธีการขับขี่ของผู้ใช้รถใช้ถนนให้อยู่ในกฎระเบียบ และลดความเสี่ยงอุบัติเหตุต่าง ๆ
สัญลักษณ์จราจรเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคน ควรเข้าใจความหมายของมัน เพื่อจะได้ปฏิบัติไปในทางเดียวกัน และช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการสัญจรไป-มา บนท้องถนนได้ บทความนี้ Rabbit Care จะขอพาคุณมารู้จักกับสัญลักษณ์ที่ทุกคนน่าจะเห็นบ่อย ๆ มาดูกันว่าคุณจะรู้ความหมายของสัญลักษณ์เหล่านี้แล้วหรือยัง?
ความหมายของสัญลักษณ์จราจรบนท้องถนน ที่ทุกคนควรรู้
บนท้องถนนมีสัญลักษณ์จราจรมากมาย ทั้งในรูปแบบของป้าย, รูปภาพต่าง ๆ, ไฟกระพริบบนถนน, สีบนพื้นถนน และอีกมากมาย ซึ่งเราได้หยิบยกสิ่งที่ทุกคนน่าจะเห็นบ่อย ๆ ในชีวิตประจำวันมาอธิบายความหมาย โดยจะมีสัญลักษณ์ดังต่อไปนี้
เส้นประสีเหลือง
สัญลักษณ์เส้นประสีเหลือง คือ เส้นที่ใช้ในการแบ่งทิศทางจราจรปกติ หมายความว่า เป็นเส้นแสดงการแบ่งแยกการจราจรของรถที่มีทิศทางตรงกันข้าม ผู้ขับขี่ต้องขับรถทางด้านซ้ายของเส้น กล่าวคือ ให้เส้นอยู่ฝั่งขวามือของคนขับ
เส้นทึบสีเหลืองเดี่ยวหรือคู่
สัญลักษณ์บนท้องถนนที่เป็นเส้นทึบสีเหลืองเส้นเดี่ยวหรือเส้นคู่ คือ เส้นที่ใช้สำหรับแบ่งทิศทางจราจรห้ามแซง อาจพบได้ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงอันตราย เช่น ทางโค้ง ทางลาดชัน หากพบสัญลักษณ์นี้ หมายความว่า ผู้ขับขี่ต้องขับรถไปทางด้านซ้ายของเส้น ห้ามคร่อมเส้นโดยเด็ดขาด เพราะอาจเกิดอันตรายได้
เส้นทึบสีเหลืองคู่กับเส้นประสีเหลือง
คือ เส้นสำหรับแบ่งทิศทางจราจรห้ามแซงเฉพาะด้าน หมายความว่า รถยนต์ที่อยู่ทางด้านเส้นทึบห้ามขับรถผ่านหรือคร่อมเส้นทึบโดยเด็ดขาด ส่วนรถยนต์ที่อยู่ทางด้านเส้นประ สามารถขับแทรกไปด้านหน้ารถคันอื่น หรือข้ามเส้นดังกล่าวนี้ได้ หากตัวผู้ขับสังเกตโดยรอบแล้วว่ามีพื้นที่มากพอที่จะสามารถแทรกรถได้ ทั้งนี้ ต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง
สัญลักษณ์เส้นประสีขาว
เชื่อว่าทุกคนต้องเคยเห็นสัญลักษณ์เส้นประสีขาวคือ เส้นแบ่งช่องเดินรถ หรือ เส้นสำหรับแบ่งช่องจราจร หมายความว่า ผู้ขับขี่จะต้องขับรถภายในช่องทางเดินรถ หรือช่องจราจร ตามที่กำหนดเอาไว้ให้ ห้ามขับรถคร่อมเส้นประบนท้องถนนเด็ดขาด เว้นแต่ในกรณีที่ผู้ขับต้องการที่จะเปลี่ยนช่องทางเดินรถ หรือเปลี่ยนช่องจราจร
แถบสีเหลืองสลับขาวที่บริเวณขอบทาง
แถบสีที่แสดงบริเวณขอบทาง ไม่ได้เป็นเพียงการลงสีเพื่อความสวยงามเท่านั้น แต่ละสีก็จะมีความหมายที่ต่างกันออกไป อยางเช่นสัญลักษณ์การจราจรในข้อนี้ คือ เครื่องหมายเส้นห้ามจอดรถ เว้นแต่หยุดรถเพื่อรับ-ส่งชั่วขณะ หมายความว่า ห้ามผู้ขับจอดรถทุกชนิดระหว่างแนวเขตที่มีการระบายสีตามที่กำหนดเอาไว้ ยกเว้นในกรณีที่ทำการหยุดรับ-ส่งคนหรือขนย้ายสัมภาระชั่วขณะซึ่งต้องกระทำการโดยเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้เป็นการกีดขวางการจราจร
แถบสีแดงสลับขาวแสดงที่ขอบทาง
แถบสีแดงสลับขาวที่มักจะพบเห็นได้บ่อยบริเวณขอบทาง คือ สัญลักษณ์ในการห้ามหยุดรถหรือห้ามจอดรถ หมายความว่า ห้ามหยุดรถหรือจอดรถทุกชนิดระหว่างแนวเขตที่กำหนดเป็นอันขาด เพราะบริเวณนั้น ๆ อาจเป็นบริเวณที่มีปริมาณรถยนต์หนาแน่น หรืออาจเป็นบริเวณที่เสี่ยงต่อการเกิดความเสียหายเมื่อต้องจอดรถ จึงมีต้องการให้รถยนต์สัญจรได้อย่างสะดวกที่สุด
แถบสีขาวกว้าง และยาวหลาย ๆ แถบประกอบกันขวางทางเดินรถ
คือ เส้นทางข้าม หมายความว่า ผู้ขับขี่ต้องขับรถให้ช้าลง และพร้อมที่จะหยุดรถได้ทันที เมื่อมีคนกำลังเดินข้ามบริเวณทางเดินที่มีสัญลักษณ์นั้น ๆ ก็ต้องหยุดรถให้คนข้ามทางไปก่อน
เส้นทึบสีเหลืองลากทะแยงตัดกันภายในกรอบเส้นทึบสีเหลือง
สัญลักษณ์นี้คือ เส้นทะแยงห้ามหยุดรถ หมายความว่าห้ามหยุดรถทุกชนิดภายในบริเวณกรอบเส้นทะแยง ยกเว้นรถยนต์ที่หยุดรอเพื่อเลี้ยวขวาไปตามทาง
ลูกศรสีขาวหรือสีเหลือง แสดงทิศทาง คือ ลูกศร
สัญลักษณ์ลูกศร หมายความว่า เมื่อปรากฏในช่องเดินรถหรือช่องจราจรใด ผู้ขับขี่ที่อยู่ในช่องเดินรถหรือช่องจราจรนั้นต้องปฏิบัติตามเครื่องหมายนั้น
ข้อความสีขาวบนพื้นทาง
หากต้องเดินทางบ่อย ๆ จะสังเกตได้ว่าในบางพื้นที่ จะมีข้อความสั้น ๆ แสดงอยู่บนพื้นถนน ซึ่งจะแตกต่างกันออกไปตามลักษณะของเส้นทางและพื้นที่รอบ ๆ ข้อความเหล่านั้นคือ ข้อความบังคับบนพื้นทาง หมายความว่า ผู้ขับขี่ต้องปฏิบัติตามข้อความนั้น ๆ เพื่อความปลอดภัยในการใช้เส้นทางร่วมกันผู้ใช้รถคนอื่น ๆ
อยากซื้อรถยนต์ เข้าไปอัปเดตรถยนต์ใหม่ ราคาดี และซื้อขายสะดวกสบาย ที่ one2car.com
สนับสนุนบทความดี ๆ โดย Autospinn อย่าลืมติดตามเรื่องรถใหม่-รถมือสองก่อนใครที่นี่ และสามารถต่อประกันรถยนต์ พร้อมบริการดี ๆ จาก Rabbit Care
Thirakan Thongseenual เป็นนักเขียนที่มีประสบการณ์มากกว่า 3 ปี ที่ RabbitCare และ Asia Direct โดยมีความชำนาญในประกันรถยนต์ เน้นเขียนบทความที่เผยแพร่บน Blog และมีความเชี่ยวชาญด้าน SEO กว่า 4 ปี ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอได้ใช้ในการสร้างความรู้และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของ RabbitCare อย่างมีประสิทธิภาพ จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ปริญญาตรี สาขา Information Technology