ป้ายภาษีรถ (ป้ายวงกลม) หายต้องทำอย่างไร? ขอป้ายภาษีรถมอเตอร์ไซค์ใหม่ได้ที่ไหน?
ป้ายภาษีรถหรือป้ายวงกลม คือ ป้ายสติ๊กเกอร์สำหรับใช้แสดงเป็นหลักฐานการชำระภาษีรถประจำปีและต่ออายุ พ.ร.บ. หากป้ายภาษีรถหายหรือชำรุด สามารถขอป้ายภาษีใหม่ได้โดยต้องแจ้งความหรือลงบันทึกถ้อยคำเอกสารสูญหายที่สำนักงานขนส่งที่รถจดทะเบียนไว้เท่านั้น ไม่สามารถขอป้ายภาษีออนไลน์ได้ และกรณีรถติดไฟแนนซ์ ต้องดำเนินการผ่านไฟแนนซ์เท่านั้น
แรบบิท แคร์ พร้อมตอบทุกคำถามป้ายภาษีรถหาย หรือที่หลายคนเรียกติดปากว่า “ป้ายวงกลม” ไม่ว่าจะเป็นป้ายภาษีรถยนต์หายต้องแจ้งความไหม? ป้ายภาษีรถมอเตอร์ไซค์หายต่างจังหวัดต้องทำอย่างไร? พร้อมสรุปวิธีขอป้ายภาษีรถใหม่มาฝากกัน
ป้ายภาษีรถต้องติดตรงไหน?
กฎกระทรวงกําหนดขนาด ลักษณะ และสีของแผ่นป้ายทะเบียนรถและการแสดงแผ่นป้ายทะเบียนรถและเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจําปี พ.ศ. 2554 ข้อ 6 กำหนดว่าเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจําปี (ป้ายภาษีรถยนต์) ให้ติดที่ด้านในของกระจกกันลมด้านหน้ารถ โดยหันข้อความด้านหน้าของเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจําปีออกด้านนอกรถ
ป้ายภาษีรถจักรยานยนต์ ให้ติดในที่ที่สามารถมองเห็นข้อความด้านหน้าของเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจําปีได้ชัดเจน ดังนั้นแล้ว ป้ายภาษีรถมอเตอร์ไซค์จึงควรติดบริเวนด้านหน้ารถ หรือเก็บไว้ในแคปซูลสำหรับใส่ป้ายภาษีรถมอเตอร์ไซค์บริเวณป้ายทะเบียน ไม่ควรเก็บไว้ใต้เบาะ เนื่องจากอาจโดนเรียกปรับฐานไม่แสดงเครื่องหมายเสียภาษี ไม่เกิน 2,000 บาท
ป้ายภาษี (ป้ายวงกลม) หายได้จากกรณีใดบ้าง?
ป้ายภาษีรถสูญหายเกิดได้จากหลายกรณี เช่น ป้ายภาษีรถยนต์บริเวณหน้ากระจกรถยนต์หลุดลอกออกมาจากหน้ารถในระหว่างขับขี่ หรือป้ายภาษีรถมอเตอร์ไซค์ใน “แคปซูลป้ายภาษี” ร่วงหล่นหายระหว่างทาง เนื่องจากไขน็อตบริเวณที่ติดเชื่อมกับแผ่นป้ายทะเบียนได้ไม่แน่น รวมถึงกรณีได้รับป้ายวงกลมมาแล้ว แต่ไม่ติดในทันทีจนลืม หรือสูญหายระหว่างจัดส่งทางไปรษณีย์
ป้ายภาษีหาย ต้องแจ้งความไหม?
หากทำป้ายภาษีหรือป้ายวงกลมหาย ต้องแจ้งความหรือลงบันทึกประจำวันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อใช้ใบแจ้งความเป็นหลักฐานแสดงความบริสุทธิ์กรณีผู้อื่นนำป้ายภาษีรถยนต์หรือป้ายภาษีรถมอเตอร์ไซค์ไปใช้แอบอ้างหรือกระทำความผิด รวมถึงเพื่อใช้ยื่นประกอบคำขอรับป้ายภาษี (ป้ายวงกลม) ใหม่
กรณีป้ายภาษีรถ (ป้ายวงกลม) ชำรุด เช่น หลุดลอก ฉีกขาด ไม่ต้องแจ้งความ และให้นำป้ายที่ชำรุดไปแสดงประกอบการยื่นขอรับป้ายภาษีรถยนต์หรือป้ายรถจักรยานยนต์แผ่นใหม่ได้ที่สำนักงานขนส่งที่รถจดทะเบียนไว้
หากไม่สะดวกเข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจเพื่อนำใบแจ้งความมาใช้ประกอบการขอแผ่นป้ายภาษีใหม่ สามารถแจ้งขอลงบันทึกถ้อยคำกรณีเอกสารป้ายภาษีรถยนต์สูญหายไว้เป็นหลักฐานกับนายทะเบียน ณ สำนักงานขนส่งที่รถจดทะเบียนไว้แทนได้เช่นกัน
ป้ายภาษีหาย รถติดไฟแนนซ์ ต้องทำอย่างไร?
กรณีรถติดไฟแนนซ์หรือรถยังอยู่ในระหว่างผ่อน และต้องการขอป้ายภาษีรถยนต์หรือป้ายภาษีรถมอเตอร์ไซค์ใหม่ เนื่องจากป้ายวงกลมหายหรือชำรุด ต้องติดต่อบริษัทไฟแนนซ์หรือธนาคารได้โดยตรงเพื่อมอบอำนาจให้ดำเนินการคัดป้ายภาษีรถยนต์ หรือป้ายวงกลมใหม่ภายในไม่เกิน 15 วัน นับจากป้ายภาษีหาย และมีค่าบริการคัดแผ่นป้ายภาษีรถยนต์อยู่ที่ 500-600 บาท
คัดป้ายภาษีรถ รถติดไฟแนนซ์ ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง?
เอกสารสำหรับใช้ยื่นขอคัดป้ายภาษีใหม่ กรณีป้ายแสดงการเสียภาษีหาย แต่รถยังผ่อนไม่หมดหรือติดไฟแนนซ์อยู่ ต้องใช้แบบฟอร์มคำขอให้ดำเนินการทางทะเบียนเพื่อคัดป้ายภาษีรถ (ป้ายวงกลม) ของไฟแนนซ์ แบบฟอร์มคำขออื่นๆ ของสำนักงานขนส่ง ใบแจ้งความ หรือบันทึกถ้อยคำ กรณีแจ้งเอกสารหรือแผ่นป้ายทะเบียนรถสูญหาย และเอกสารอื่นๆ ดังนี้
- แบบฟอร์มคำขอดำเนินการคัดป้ายภาษี (ไฟแนนซ์)
- แบบคำขออื่นๆ (สำนักงานขนส่ง)
- หนังสือมอบอำนาจ
- สำเนาบัตรประชาชน
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- ใบแจ้งความ (ตัวจริง)
- บันทึกถ้อยคำ (สำนักงานขนส่ง)
ขอป้ายภาษีใหม่ด้วยตัวเอง ต้องทำอย่างไร?
กรณีเป็นเจ้าของรถคันที่ป้ายวงกลมหาย และไม่ติดไฟแนนซ์ สามารถขอป้ายวงกลมรถยนต์หรือป้ายวงกลมรถมอเตอร์ไซค์ใหม่ได้โดยแจ้งขอป้ายภาษีใหม่ที่สำนักงานขนส่งทางบกพื้นที่ที่รถจดทะเบียนไว้เท่านั้น ภายในระยะเวลาไม่เกิน 15 วัน นับจากป้ายภาษีหาย ทั้งนี้ กรณีป้ายภาษีหาย ต้องนำใบแจ้งความมาแสดง หรือกรณีป้ายภาษีชำรุด ต้องนำป้ายที่ชำรุดมาแสดงด้วยเช่นกัน
ขอป้ายภาษีรถแผ่นใหม่ ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง?
เอกสารสำหรับยื่นขอแผ่นป้ายเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปี (ป้ายภาษีรถ หรือป้ายวงกลม) แผ่นใหม่จากหน่วยงานของกรมการขนส่งทางบก กรณีป้ายภาษีหายหรือชำรุด สำหรับรถที่ผ่อนหมดแล้วและไม่ติดไฟแนนซ์ใดใด ต้องใช้เอกสารจดทะเบียนประจำรถ เอกสารประจำตัวเจ้าของรถ ใบแจ้งความ ป้ายภาษีรถยนต์ที่ชำรุดเสียหาย และเอกสารอื่นๆ ดังนี้
- บันทึกถ้อยคำ (สำนักงานขนส่ง)
- แบบคำขออื่นๆ (สำนักงานขนส่ง)
- เล่มทะเบียนรถ (ตัวจริง)
- สำเนาเล่มทะเบียนรถ
- บัตรประชาชน (ตัวจริง)
- สำเนาบัตรประชาชน
- หนังสือมอบอำนาจ
- สำเนาบัตรประชาชนผู้รับมอบอำนาจ
- สำเนาใบแจ้งความ
- ป้ายภาษีที่ชำรุด (ถ้ามี)
ค่าธรรมเนียมขอป้ายภาษีใหม่ ต้องจ่ายเท่าไร?
ค่าธรรมเนียมในการขอป้ายภาษีแผ่นใหม่ กรณีป้ายภาษี (ป้ายวงกลม) เสียหายหรือชำรุด ที่หน่วยงานของกรมการขนส่งทางบก จะอยู่ที่ทั้งหมด 25 บาท ประกอบด้วยค่าคำขอ ฉบับละ 5 บาท และค่าธรรมเนียมใบแทนเครื่องหมายการเสียภาษีประจำปี ฉบับละ 20 บาท และอาจมีค่าอากรแสตมป์ใช้ติดหนังสือมอบอำนาจ เพิ่มอีกฉบับละ 10 บาท กรณีเจ้าของรถไม่สามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง
ในขณะที่ค่าธรรมเนียมในการขอคัดป้ายภาษีรถแผ่นใหม่ กรณีป้ายภาษีสูญหายหรือชำรุด สำหรับรถติดไฟแนนซ์หรือรถที่กำลังผ่อนอยู่ จะมีค่าบริการคัดป้ายภาษีอยู่ 500-600 บาท โดยค่าบริการจะขึ้นอยู่กับบริษัทไฟแนนซ์หรือธนาคารแต่ละแห่ง
ป้ายภาษีหาย ต่างจังหวัด ต้องทำอย่างไร?
กรณีป้ายภาษีรถหายต่างจังหวัด หรือหายในพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้รถเป็นประจำ โดยเฉพาะป้ายภาษีรถมอเตอร์ไซค์ เจ้าของรถต้องทำเรื่องขอป้ายภาษีใหม่กับสำนักงานขนส่งที่รถจดทะเบียนไว้เท่านั้น ไม่สามารถทำเรื่องกับสำนักงานขนส่งตามสะดวกได้ และกรณีรถติดไฟแนนซ์ต้องดำเนินการผ่านบริษัทไฟแนนซ์เท่านั้น หากไม่สะดวกดำเนินการด้วยต้วเองที่สำนักงานขนส่งที่รถจดทะเบียนไว้ สามารถมอบอำนาจให้ผู้อื่นดำเนินการแทนได้
ขอแผ่นป้ายภาษีรถยนต์ใหม่ทางออนไลน์ได้ไหม?
ไม่สามารถขอแผ่นป้ายภาษีใหม่ได้ผ่านช่องทางออนไลน์ แต่สามารถต่อชำระภาษีรถประจำปีใหม่ผ่านทางอินเทอร์เน็ต (https://eservice.dlt.go.th/esvapp/login.jsf#) เพื่อขอรับแผ่นป้ายภาษีใหมได้ในกรณีที่ไม่สะดวกเข้าแจ้งความที่สถานที่ตำรวจ และเข้าดำเนินการขอแผ่นป้ายภาษี (ป้ายวงกลม) ใหม่ด้วยตนเองที่สำนักงานขนส่งที่รถจดทะเบียนไว้
รถไม่ติดป้ายภาษี หรือใช้ป้ายภาษีหมดอายุ มีโทษอะไรบ้าง? ปรับเท่าไร?
กรณีไม่ติดป้ายภาษีรถให้เห็นชัดเจน ใช้ป้ายภาษีหมดอายุ หรือใช้ป้ายภาษีรถปลอม อาจมีความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 และประมวลกฎหมายอาญา ทั้งโทษจำคุก หรือโทษปรับ ตั้งแต่ 2,000 – 100,000 บาท มีรายละเอียดความผิดแลโทษปรับ ดังนี้
พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2522
กรณีไม่ติดป้ายภาษีรถให้ชัดเจนถูกต้อง มีความผิดตามาตรา 11 หรือกรณีใช้ป้ายภาษีรถหมดอายุ ใช้รถที่ยังไม่ได้เสียภาษีประจำปี มีความผิดตามมาตรา 6 มีโทษปรับตามมาตรา 60 ไม่เกิน 2,000 บาท
พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535
กรณีเจ้าของรถไม่จัดทำประกันภัยภาคบังคับ พ.ร.บ. รถยนต์ หรือ พ.ร.บ. รถมอเตอร์ไซค์ ทำให้ไม่สามารถต่อภาษีรถประจำปีได้ มีความผิดตามมาตรา 7 มีโทษปรับตามมาตรา 37 ไม่เกิน 10,000 บาท และกรณีผู้ใช้รถคันที่ไม่ได้ทำประกันภัยภาคบังคับ พ.ร.บ. มีความผิดตามมาตรา 11 มีโทษปรับตามมาตรา 39 ไม่เกิน 10,000 บาทเช่นกัน เนื่องจากการต่อภาษีรถประจำปีต้องแสดงเอกสาร พ.ร.บ. ที่ยังไม่หมดอายุร่วมด้วยทุกครั้ง
ประมวลกฎหมายอาญา
กรณีใช้ป้ายภาษีรถปลอม ปลอมแปลงเอกสารราชการ และใช้เอกสารราชการปลอม มีความผิดตามมาตรา 265 มีโทษจำคุก 6 เดือน – 5 ปี และโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท
รถที่ใช้ป้ายภาษีหมดอายุ ประกันแต่ละชั้นคุ้มครองหรือไม่
การใช้รถที่ป้ายภาษีหมดอายุมีผลต่อความคุ้มครองของประกันรถยนต์ โดยปกติแล้ว การที่ป้ายภาษีรถหมดอายุอาจส่งผลกระทบต่อความคุ้มครองจากประกันรถยนต์ แต่ผลกระทบจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับประเภทของประกันรถยนต์ที่คุณมี นี่คือรายละเอียดเกี่ยวกับความคุ้มครองของประกันรถยนต์แต่ละประเภทเมื่อป้ายภาษีหมดอายุ
1. ประกันชั้น 1
- ความคุ้มครอง: ประกันชั้น 1 ยังคงคุ้มครองในกรณีเกิดอุบัติเหตุ แม้ว่าป้ายภาษีของรถจะหมดอายุ แต่บางบริษัทอาจพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ด้วย เช่น ความถูกต้องของเอกสารต่าง ๆ ซึ่งอาจมีผลต่อการเคลมประกัน
- การเคลมประกัน: ในกรณีนี้ แม้ว่าคุณยังสามารถเคลมประกันได้ แต่การที่ป้ายภาษีหมดอายุอาจทำให้กระบวนการเคลมซับซ้อนขึ้น และอาจถูกสอบถามจากบริษัทประกันเกี่ยวกับความถูกต้องของเอกสารทะเบียนรถ
2. ประกันชั้น 2+
- ความคุ้มครอง: ประกันชั้น 2+ ยังคงให้ความคุ้มครองในกรณีที่เกิดการชนกับรถคันอื่น แม้ว่าป้ายภาษีจะหมดอายุ แต่เช่นเดียวกับประกันชั้น 1 คุณควรมีเอกสารรถยนต์ที่ถูกต้อง เช่น ใบอนุญาตขับขี่ ใบภาษีที่ต่ออายุแล้ว เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาในกระบวนการเคลมประกัน
- การเคลมประกัน: หากเกิดอุบัติเหตุและคุณเป็นฝ่ายผิด บริษัทประกันจะยังคงจ่ายค่าเสียหายให้คู่กรณี แต่ค่าเสียหายของรถคุณเองอาจมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับความคุ้มครองเต็มที่หากเอกสารต่าง ๆ ไม่ถูกต้อง
3. ประกันชั้น 3+
- ความคุ้มครอง: ประกันชั้น 3+ ราคาประหยัด ยังคงคุ้มครองในกรณีชนกับยานพาหนะอื่นเช่นเดียวกับชั้น 2+ แม้ป้ายภาษีจะหมดอายุ อย่างไรก็ตาม คุณควรมีเอกสารที่ถูกต้องทั้งหมดเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่บริษัทประกันจะปฏิเสธการเคลม
- การเคลมประกัน: ความเสียหายของรถคู่กรณีจะได้รับการคุ้มครอง แต่ความเสียหายของรถคุณเองอาจไม่ได้รับความคุ้มครองหากป้ายภาษีหมดอายุ และเอกสารรถอื่น ๆ ไม่ครบถ้วน
4. ประกันชั้น 2 และชั้น 3
- ความคุ้มครอง: ประกันชั้น 2 และประกันภัยชั้น 3 จะคุ้มครองเฉพาะความเสียหายต่อคู่กรณีเท่านั้น ในกรณีที่ป้ายภาษีหมดอายุ ประกันยังคงคุ้มครองคู่กรณี แต่ไม่คุ้มครองความเสียหายที่เกิดกับรถของคุณเอง
- การเคลมประกัน: การเคลมประกันจะยังคงทำได้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคู่กรณี แต่ถ้าไม่มีการต่อภาษีรถยนต์และเกิดอุบัติเหตุ กระบวนการเคลมอาจล่าช้าเนื่องจากต้องมีการตรวจสอบเอกสารเพิ่มเติม
5. ผลกระทบจากกฎหมาย
- กฎหมายจราจร: การขับรถที่ป้ายภาษีหมดอายุถือเป็นการละเมิดกฎหมายจราจรในประเทศไทย คุณอาจถูกปรับหากถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจพบ และอาจส่งผลต่อการเคลมประกันได้เช่นกัน เนื่องจากเป็นการใช้รถโดยไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างครบถ้วน
- ความเสี่ยงในกระบวนการเคลม: หากเกิดอุบัติเหตุในขณะที่รถมีป้ายภาษีหมดอายุ การเคลมประกันอาจล่าช้าหรือถูกปฏิเสธในบางกรณี เพราะบริษัทประกันอาจพิจารณาว่าคุณไม่ได้ทำตามข้อกำหนดทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้รถ
สรุป
- ประกันชั้น 1: ยังคงคุ้มครองในกรณีป้ายภาษีหมดอายุ แต่การเคลมอาจซับซ้อนขึ้น
- ประกันชั้น 2+ และ 3+: ยังคุ้มครองกรณีชนกับรถคันอื่น แต่ต้องมีเอกสารที่ถูกต้องครบถ้วน
- ประกันชั้น 2 และ 3: คุ้มครองเฉพาะความเสียหายต่อคู่กรณี
- ผลกระทบทางกฎหมาย: การขับรถที่ป้ายภาษีหมดอายุอาจทำให้คุณถูกปรับตามกฎหมาย และส่งผลต่อการเคลมประกัน
ควรต่อภาษีรถยนต์ให้ถูกต้องและตรงตามกำหนด เพื่อป้องกันปัญหาทางกฎหมายและการเคลมประกัน
ป้ายภาษีรถยนต์ หรือป้ายภาษีรถมอเตอร์ไซค์หายไม่ต้องห่วงอีกต่อไป แรบบิท แคร์ มีให้เลือกครบทั้ง พ.ร.บ ประกันรถยนต์ และประกันมอเตอร์ไซค์ พร้อมบริการความแคร์ที่เพิ่มความคุ้มให้ทันที ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นบริการช่วยเหลือแจ้งเหตุฉุกเฉินทางถนน ตลอด 24 ชั่วโมง บริการประสานงานทุกเหตุฉุกเฉินผ่านทาง LINE Official Account หรือบริการผ่อนเงินสด หรือผ่อน 0% ผ่านบัตรเครดิต นานสูงสุด 10 เดือน โทรเลย 1438 หรือ rabbitcare.com
Tawan มีประสบการณ์สร้างสรรค์ผลงานออนไลน์ 2 ปี เขียนด้านยานยนต์ ประกันยานยนต์ที่ Rabbit Care และ Asia Direct
มีใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันชีวิตและนายหน้าประกันวินาศภัย มีความเชี่ยวชาญด้านประกันรถยนต์และประกันชีวิต