ขับรถชนคนเสียชีวิต มีโทษอย่างไรบ้าง มีโอกาสพ้นจากความผิดไหม อายุความนานเท่าไหร่ ?
เหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นอย่างการขับรถชนคนเสียชีวิตนั้นสามารถเกิดขึ้นได้บนท้องถนนในทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่ว่าจะด้วยความประมาทของผู้ขับขี่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เหตุสุดวิสัยจากปัจจัยต่าง ๆ อันใด แต่อย่างไรก็ตามการขับรถชนคนเสียชีวิตก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ร้ายแรงมาก วันนี้ แรบบิท แคร์ จึงเลือกที่จะนำข้อมูลเกี่ยวกับการขับรถชนคนเสียชีวิตมาฝาก ว่าตามกฎหมายนั้นมีโทษอย่างไรบ้าง หากขับรถชนคนเสียชีวิตจะต้องรับผิดในทุกกรณี 100% เลยหรือไม่ ? หรือจะมีการพิจารณาคดีความอย่างไร เมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้วจำเป็นที่จะต้องขึ้นศาลไหม ? อายุความนานเท่าไหร่ ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถทางบริษัทประกันภัยจะรับเคลมหรือไม่ ? ศึกษากันไว้เผื่อวันไหนมีเหตุฉุกเฉินจะมีความรู้ติดตัว
กฎหมาย ขับรถชนคนเสียชีวิต
กระทรวงยุติธรรมให้ข้อมูลเกี่ยวกับบทลงโทษของการขับรถชนคนเสียชีวิตไว้ว่า การขับรถชนคนเสียชีวิต เป็นความผิดทางอาญาโทษสำหรับผู้ที่ขับรถชนคนเสียชีวิตผิดฐานขับรถโดยประมาทจนเป็นเหตุให้ผู้อื่น ถึงแก่ความตาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับ 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291
และนอกจากโทษทางอาญาก็ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนทางแพ่งให้กับผู้เสียหายอีกด้วย ทั้งนี้จะต้องเป็นกรณีการเข้าข่าย “ประมาท” ต้องมิใช่ “เจตนา” ขับรถชนคู่กรณี
*พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 43 (4) และมาตรา 157 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 มาตรา 300 และมาตรา 390
1. ขับรถชนคนเสียชีวิต โทษหนักสามารถผ่อนเป็นเบา
ถึงแม้ว่าการขับรถชนคนเสียชีวิตด้วยความประมาทนั้นจะเป็นเหตุการณ์ที่ร้ายแรงมากจนทุกคนต่างคิดว่าไม่ว่าอย่างไรผู้ที่ขับรถชนคนเสียชีวิตก็ต้องได้รับโทษทั้งจำทั้งปรับอย่างแน่นอน แต่ความจริงแล้วนั้นก็มีหลายกรณีที่ศาลตัดสินโทษหนักให้ผ่อนเป็นเบา เช่น ใช้วิธีตัดสินให้รอลงอาญาแทนที่จะสั่งจำคุกทันที โดยเกณฑ์การพิจารณาของศาลที่จะนำมาตัดสินผู้ที่ขับรถชนคนเสียชีวิตจะมี ดังนี้
- เมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้วผู้ขับรถชนคนเสียชีวิตได้มีการจอดรถลงไปให้ความช่วยเหลือและแสดงตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือไม่
- เมื่อเกิดเหตุผู้ขับรถชนคนเสียชีวิตได้มีการแสดงความประสงค์ที่จะรับผิดชอบเยียวยาผู้เสียชีวิตรวมถึงครอบครัวของผู้เสียชีวิตหรือไม่
- ผู้ขับรถชนคนเสียชีวิตได้ให้ความร่วมมือในการให้การกับเจ้าหน้าที่ตำรวจรวมถึงขั้นตอนในการสืบสวนและดำเนินคดีต่าง ๆ ไปจนถึงการให้ความร่วมมือในการรวบรวมหลักฐานเพื่อส่งต่ออัยการและทำการฟ้องศาลหรือไม่
- หากผู้ขับรถชนคนเสียชีวิตนั้นแสดงความรับผิดชอบและให้ความร่วมมือในการยอมรับสารภาพและเข้าสู่กระบวนการตัดสินโทษมาตลอดศาลอาจตัดสินโทษผ่อนหนักให้เป็นเบา โดยสั่งจำคุกให้น้อยที่สุดหรือตัดสินให้รอลงอาญาก่อนได้นั่นเอง
2. ขับรถชนคนเสียชีวิต ต้องขึ้นศาล ไหม ?
แน่นอนว่าคดีอาญาที่ยอมความไม่ได้อย่างการขับรถชนคนเสียชีวิตนั้นจำเป็นที่จะต้องขึ้นศาลเพื่อทำการตัดสินคดีเพื่อตัดสินโทษให้แก่ผู้ที่ขับรถชนคนเสียชีวิต ซึ่งตามกฎหมายตามที่ได้กล่าวถึงไปก่อนหน้าเกี่ยวกับการขับรถชนคนเสียชีวิตโดยประมาทศาลจะมีการตัดสินโทษให้มีการจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งศาลก็จะมีการวินิจฉัยเกี่ยวกับหลักฐานประกอบและให้คำตัดสินออกมา
3. ขับรถชนคนเสียชีวิต แต่เราไม่ผิด
อย่างที่ทราบกันไปแล้วว่าขับรถชนคนเสียชีวิตไม่ว่าอย่างไรก็เป็นคดีความและจำเป็นที่จะต้องขึ้นศาลแต่ในกรณีที่ผู้ขับรถชนคนเสียชีวิตและคิดว่าตนเองไม่ใช่ฝ่ายผิดแต่เป็นฝ่ายผู้เสียชีวิตที่ได้กระทำโดยประมาทหรือเป็นเหตุไม่คาดฝันซึ่งไม่ใช่ความผิดของเราจนทำให้ขับรถชนคนเสียชีวิตนั้นจะต้องรับโทษหรือไม่อย่างไร ?
สำหรับกรณีนี้นั้นสิ่งที่สำคัญในการตัดสินคดีหรือพยานและหลักฐานฝ่ายผู้ขับรถชนคนเสียชีวิตจะต้องมีหลักฐานที่แสดงถึงความบริสุทธิ์ว่าไม่ได้เป็นผู้กระทำให้เกิดเหตุขับรถชนคนเสียชีวิตรวมถึงถ้าจะให้ดีควรที่จะต้องมีพยานที่เห็นเหตุการณ์ แบบนี้จะมีประโยชน์ยามขึ้นไปสู้คดีในชั้นศาล ส่วนเรื่องการช่วยเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตก่อนที่ศาลจะมีคำตัดสินลงมานั้นอาจขึ้นอยู่กับความต้องการหรือความสบายใจตามที่ได้ตกลงกัน
4. ขับรถชนคนเสียชีวิต อายุความนานแค่ไหน ?
ในส่วนของเรื่องอายุความการกระทำผิดฐานขับรถชนเสียชีวิตนั้น อายุความจะแบ่งเป็น 2 กรณีด้วยกัน คือ
- กรณีฟ้องคนขับขี่ขับรถชนคนเสียชีวิต : จะมีอายุความ 1 ปีนับแต่วันรู้ตัวผู้กระทำผิด หรือ มีอายุความ 10 ปีนับแต่วันทำการละเมิด
- กรณีฟ้องบริษัทประกันขับรถชนคนเสียชีวิต : จะมีอายุความ 2 ปี
บทลงโทษ ขับรถชนคนเสียชีวิตแต่ไม่ยอมเยียวยาผู้เสียหายและมอบตัว
กรณีที่ผู้ขับรถชนคนเสียชีวิตคิดจะหนีความรับผิดชอบ รวมถึงบอกให้ผู้เสียหายไปแจ้งความเอาเองโดยไม่คิดจะเยียวยาใด ๆ นั้น ในกรณีนี้เมื่อต่อสู้กันในชั้นศาลและพบว่าผู้ขับขี่เป็นผู้กระทำความผิดจริง เมื่อศาลได้พิพากษาและดูพฤติการณ์แล้วศาลอาจไม่มีการบรรเทาโทษให้และตัดสินให้รับบทลงโทษสูงสุดตามคำวินิจฉัยของศาล อีกทั้งเมื่อโดนจำคุกแล้วฝั่งผู้เสียหายที่โดนคนขับรถชนเสียชีวิตก็ยังสามารถทำการฟ้องร้องทางแพ่งเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายอีกได้ บอกได้เลยว่าหากใครคิดจะหนีคดีความ ไม่ให้ความร่วมมือจะเป็นผลเสียมากกว่าผลดีแน่นอน เพราะนอกจากจะโดนทั้งจำทั้งปรับมหาศาล ติดคุกหลายปี ก็ยังต้องเสียหายจากที่โดนฟ้องร้องทางแพ่งเพิ่มอีกด้วยนั่นเอง
สิ่งที่ควรทำเมื่อขับรถชนคนเสียชีวิต
- รีบจอดรถเพื่อลงไปให้ความช่วยเหลือและแสดงความรับผิดชอบแก่ผู้เสียหายทันที
- โทรแจ้งตำรวจและเรียกรถพยาบาลเพื่อทำการช่วยเหลือผู้เสียหาย
- โทรเรียกประกันหรือตัวแทนบริษัทกันที่ดูแลรถยนต์ของท่านอยู่
- ถ่ายภาพหลักฐานต่าง ๆ ในที่เกิดเหตุให้ครบถ้วนที่สุดเท่าที่จะทำได้
- ทำการแสดงความรับผิดชอบโดยการเจรจาขอช่วยเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิต
- ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการให้การ รวบรวมหลักฐานและขึ้นศาล
- แสดงเจตจำนงและเล่าเหตุการณ์ทั้งหมดไปตามความเป็นจริง
- ห้ามชนแล้วหนีหรือทำการขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่หรือแสดงความไม่รับผิดชอบต่อสิ่งที่ได้กระทำไปโดยเด็ดขาด
ขับรถชนคนเสียชีวิต ประกันจ่ายให้หรือไม่ ?
กรณีเกิดอุบัติเหตุขับรถชนคนเสียชีวิตและได้ทำประกันรถยนต์เอาไว้ ทางประกันจะจ่ายให้หรือไม่ คำตอบคือเมื่อเกิดอุบัติเหตุนั้นประกันย่อมช่วยจ่าย แต่จะช่วยจ่ายหรือมีส่วนในการรับผิดชอบแค่ไหนจะต้องดูจากลักษณะการเกิดเหตุ สาเหตุจากการเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงเงื่อนไขของกรมธรรม์ที่ได้ทำการซื้อไว้
เช่น อุบัติเหตุในครั้งนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ผู้ขับขี่เมาแล้วขับหรือไม่ หรือเกิดจากความประมาทประการใด รายละเอียดการคุ้มครองของแต่ละแผนกรมธรรม์ที่เลือกซื้อนั้นจะไม่เหมือนกัน
ดังนั้นในการเลือกซื้อประกันรถยนต์นั้น ขอแนะนำว่าให้ผู้ขับขี่ศึกษารายละเอียดกรมธรรม์และเงื่อนไขต่าง ๆ ให้ดี ควรเลือกซื้อประกันรถยนต์กับบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือ มีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำ และมีบริการดูแลอย่างรวดเร็วว่องไว พร้อมสแตนด์บายยามเราเกิดเหตุสุดวิสัยอย่าง แรบบิท แคร์
ขับรถชนคนเสียชีวิต พ.ร.บ.จ่ายให้หรือไม่ ?
เมื่อขับรถชนคนแน่นอนว่าพ.ร.บ.ย่อมต้องจ่าย เนื่องจากพ.ร.บ.รถยนต์ หรือประกันรถยนต์ภาคบังคับ เป็นสิ่งที่กฎหมายบังคับให้ผู้ขับขี่รถยนต์ทุกคันต้องทำเพื่อคุ้มครองผู้เอาประกันรถ และคุ้มครองคู่กรณี ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ
โดยการคุ้มครองนี้นั้นจะไม่คำนึงถึงส่วนที่ว่าผู้เอาประกันมีความผิดจริงไหม และจะเป็นในรูปแบบของเงินชดเชยและค่ารักษาพยาบาล โดยกรณีที่ผู้ขับขี่เป็นฝ่ายผิดในกรณีที่เป็นฝ่ายผิด ทางพ.ร.บ.จะจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้น ดังนี้
- จ่ายค่ารักษาพยาบาลโดยทำการจ่ายตามจริง รายละไม่เกิน 30,000 บาท
- จ่ายค่าปลงศพหรือค่าชดเชยในกรณีที่สูญเสียอวัยวะ รายละไม่เกิน 35,000 บาท
- กรณีเสียชีวิตหลังจากได้รับการรักษาพยาบาล จ่ายให้รายละไม่เกิน 65,000 บาท
ขับรถชนคนเสียชีวิต ประกันรถยนต์จ่ายไหม
การขับรถชนคนเสียชีวิต ประกันรถยนต์จะจ่ายหรือไม่ ขึ้นอยู่กับประเภทของประกันภัยรถยนต์ที่ผู้ขับขี่ทำไว้ และเงื่อนไขของกรมธรรม์ที่เกี่ยวข้อง โดยปกติแล้ว ประกันภัยรถยนต์จะมีความคุ้มครองในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุและมีผู้เสียชีวิต ซึ่งสามารถแบ่งเป็นประเภทต่าง ๆ ดังนี้:
1. ประกันภาคบังคับ (พ.ร.บ.)
ประกันภัยภาคบังคับตามกฎหมายจะคุ้มครองในกรณีที่เกิดความเสียหายต่อชีวิตและร่างกายของผู้ประสบเหตุ ไม่ว่าจะเป็นผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร หรือบุคคลภายนอก โดยในกรณีที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ประกัน พ.ร.บ. จะจ่ายค่าชดเชยเบื้องต้นดังนี้
- ค่ารักษาพยาบาล : สูงสุด 30,000 บาท ต่อคน
- ชดเชยกรณีเสียชีวิต : สูงสุด 35,000 บาท ต่อคน
หากมีการพิสูจน์แล้วว่าผู้ทำ พ.ร.บ. รถยนต์เป็นฝ่ายถูก จะสามารถเบิกเพิ่มเติมได้ดังนี้
- ค่าปลงศพ : จ่ายไม่เกิน 500,000 บาท (กรณีเสียชีวิต)
- ค่ารักษาพยาบาล : จ่ายไม่เกิน 80,000 บาท สำหรับกรณีที่บาดเจ็บก่อนเสียชีวิต
2. ประกันภาคสมัครใจประเภท 1, 2+, 2, 3+, 3
ประกันภาคสมัครใจจะมีความคุ้มครองเพิ่มเติมจาก พ.ร.บ. โดยเฉพาะกรณีที่ผู้เอาประกันเป็นฝ่ายผิด ประกันจะคุ้มครองผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ เช่น
- ประกันภัยรถยนต์ ชั้น 1, 2+ และ 3+ : คุ้มครองทั้งตัวรถของผู้เอาประกันและบุคคลภายนอก รวมถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อร่างกายและชีวิต
- ประกันประเภท 2 และ 3 : คุ้มครองผู้เอาประกันและบุคคลภายนอกที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ รวมทั้งรถของคู่กรณี แต่ไม่คุ้มครองตัวรถของผู้เอาประกัน
3. ความรับผิดชอบของผู้ขับขี่
หากผู้ขับขี่เป็นฝ่ายผิด ประกันจะจ่ายเงินชดเชยให้ผู้เสียชีวิตรวมถึงวงเงินประกันตัวผู้ขับขี่ตามวงเงินความคุ้มครองที่ระบุในกรมธรรม์ อย่างไรก็ตาม ผู้ขับขี่อาจต้องรับผิดชอบทางกฎหมายเพิ่มเติมในกรณีที่มีการฟ้องร้องคดีอาญาหรือแพ่ง หากเกิดจากความประมาทหรือผิดกฎหมายอื่น ๆ เช่น เมาแล้วขับ เป็นต้น
ความคุ้มครองประกันรถยนต์
บทความแนะนำ