Rabbit Care Logo
ใช้ใจแคร์ ดูแลครบ

เปรียบเทียบสินเชื่อ ง่าย ๆ ภายใน 30 วินาที กับ

Rabbit Care

ปรับโครงสร้างหนี้

การปรับโครงสร้างหนี้คืออะไร? ใครบ้างที่ต้องปรับโครงสร้างหนี้?

การปรับโครงสร้างหนี้ คือ การช่วยเหลือลูกหนี้ที่ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญากู้เงินที่เคยทำไว้กับเจ้าหนี้ได้อีกต่อไป จึงอาจมีการพูดคุยเพื่อปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ใหม่ให้เหมาะสมกับรายรับที่ลดลงหรือความสามารถในการชำระหนี้ที่เปลี่ยนไป โดยที่ไม่ต้องรอให้เป็นหนี้เสีย เพราะหากปล่อยปัญหาหนี้ไว้นานเกินไปอาจส่งผลเลวร้ายกว่าที่คิด เช่น ถูกฟ้องร้อง ยึดทรัพย์ และหาทางออกได้ยากยิ่งขึ้น

โดยการปรับโครงสร้างหนี้ ไม่ใช่เฉพาะกับหนี้สินเชื่อ หนี้บัตรเครดิตเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงหนี้สินอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น หนี้ผ่อนบ้าน, หนี้ทำธุรกิจ, หนี้ผ่อนรถ เป็นต้น

การปรับโครงสร้างหนี้ มีวิธีอะไรบ้าง?

การปรับโครงสร้างหนี้นั้น สามารถทำได้หลากหลายวิธี โดยทางสถาบันทางการเงินจะช่วยวิเคราะห์ว่าลูกหนี้เหมาะกับรูปแบบไหน? ต้องผ่อนชำระอย่างไร? โดยหลัก ๆ รูปแบบของการปรับโครงสร้างหนี้จะมี ดังนี้

  • ขยายเวลาชำระหนี้สิน

การปรับโครงสร้างหนี้ซึ่งจะทำให้ค่างวดลดลง เช่น สัญญาฉบับเดิมมีระยะเวลาการกู้อยู่ที่ 20 ปี ผ่อนชำระมาแล้ว 12 ปี เหลือระยะเวลาผ่อนอยู่ 8 ปี แต่เมื่อเริ่มผ่อนไม่ไหว จึงขอเจรจาขยายเวลาชำระหนี้กับเจ้าหนี้ออกไปจาก 8 ปี เป็น 12 ปี เพื่อให้ยอดผ่อนชำระต่อเดือนลดลงต่ำกว่าเดิม เพื่อลดภาระในการจ่ายค่างวดแต่ละเดือนให้แก่ลูกหนี้ นิยมใช้กันมากที่สุดเพื่อช่วยให้ภาระการผ่อนสอดคล้องกับรายได้ที่ลดลง

  • รีไฟแนนซ์

คือการรวมหนี้สินไว้ในที่เดียว หรือรวมไว้กับเจ้าหนี้รายใหม่ เป็นการปรับโครงสร้างหนี้ที่นิยมทำเพื่อให้ได้เงื่อนไขสัญญาที่ดีกว่าเดิม เช่น อัตราดอกเบี้ยถูกลง, ได้ระยะเวลาการผ่อนชำระที่ยาวนานขึ้น จากนั้นนำเงินก้อนที่ได้มาปิดหนี้ก้อนเดิมที่มีอยู่ ซึ่งการรีไฟแนนซ์มีข้อดีตรงที่ลูกหนี้ได้ดอกเบี้ยถูกลง ทำให้จำนวนยอดในการผ่อนลดลงไปด้วย แต่อาจแลกมากับค่าธรรมเนียมที่ต้องใช้เมื่อเปลี่ยนเจ้าหนี้ หรืออาจทำให้ระยะเวลาในการผ่อนชำระยาวนานขึ้น เช่น จากผ่อนหมดภายในระยะเวลา 5 ปี อาจต้องผ่อนนานมากขึ้นเป็น 10 ปี เป็นต้น

โดยการขอรีไฟแนนซ์นั้น หากต้องการขอรีไฟแนนซ์ให้ได้ผลมากที่สุด ผู้ยื่นเรื่องควรมีประวัติการชำระหนี้ที่ดี ตรงต่อเวลา แบบนี้จะทำให้สถาบันการเงินพิจารณาได้ง่ายมากขึ้น

  • ขอพักชำระเงินต้น

เป็นอีกหนึ่งวิธีที่หลายสถาบันมักเสนอให้ลูกหนี้ เนื่องจากปกติค่างวดที่ผ่อนชำระประกอบด้วย 2 ส่วน คือ เงินต้นกับดอกเบี้ย และการพักชำระจะทำให้ลดภาระการผ่อนชั่วคราว โดยสถาบันการเงินอาจพิจารณาพักชำระเงินต้นเป็นเวลาสั้น ๆ และเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น ลูกหนี้อาจนำเงินก้อนมาโปะเพื่อลดหนี้ก่อนถึงกำหนดตามสัญญา ซึ่งจะทำให้ภาระดอกเบี้ยจ่ายมีจำนวนลดลงและหนี้หมดเร็วขึ้น

แต่ทั้งนี้ เงินต้นจะไม่ลดลงในช่วงลูกหนี้ขอพักชำระ และอาจส่งผลให้ลูกหนี้ต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่ขึ้นในช่วงท้ายสัญญา อาจทำให้ต้องเป็นหนี้และแบกภาระดอกเบี้ยนานขึ้นได้ เมื่อครบกำหนดพักชำระแล้ว จะต้องจ่ายคืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยในช่วงที่พักไปด้วย เนื่องจากดอกเบี้ยยังคงเดินอยู่ตลอดเวลาที่พักชำระ ตัวอย่างที่เห็นได้ในช่วงนี้ คือ รูปแบบการพักชำระเงินต้นในช่วงโควิด-19

  • ขอลดอัตราดอกเบี้ย

การเจรจากับสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้เพื่อขอลดอัตราดอกเบี้ยลง เป็นอีกหนึ่งวิธีในการปรับโครงสร้างหนี้ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในช่วงที่ลูกหนี้อาจได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจทำให้ผ่อนชำระที่อัตราดอกเบี้ยเดิมไม่ไหว การยื่นเรื่องขอลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้ต่ำลง จะทำให้เงินต้นลดลง ค่างวดที่จ่ายแต่ละเดือนก็จะลดลงตามไปด้วย โดยการขอลดอัตราดอกเบี้ยนั้น ทางสถาบันการเงินจะเป็นผู้พิจารณาว่าจะลดให้หรือไม่ และดูจากหลายปัจจัย เช่น ต้นทุนของสถาบันการเงินประวัติการผ่อนชำระของลูกหนี้ ประเภทสินเชื่อ และหลักประกัน เป็นต้น

หากต้องการปรับโครงสร้างหนี้สามารถเริ่มได้ที่ไหนบ้าง?

ปัจจุบัน เราสามารถเริ่มปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้จากหลากหลายแห่ง ดังนี้

  • เข้าร่วมกับ ธปท.โครงการ "คลินิกแก้หนี้"

คลินิกแก้หนี้ จาก ธปท. เป็นหนึ่งในโครงการที่สร้างขึ้นเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินของลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน โดยรวมหนี้เสียจากเจ้าหนี้หลายเจ้ามาปรับปรุงโครงสร้างหนี้และเหลือผ่อนชำระกับเจ้าหนี้รายเดียว ที่ บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM ซึ่งทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางเชื่อมโยงระหว่างลูกหนี้และเจ้าหนี้ทุกราย โดยสามารถผ่อนชำระนานสูงสุดถึง 10 ปี ในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง

  • ยื่นคำร้องแจ้งกับเจ้าหนี้เรื่องการปรับโครงสร้างหนี้

เมื่อลูกหนี้รู้สึกว่าตนไม่มีกำลังในการชำระหนี้สินทั้งหมดได้ อาจยื่นเรื่องกับเจ้าหนี้หรือสถาบันการเงินดั่งกล่าว เพื่อเข้าสู่การปรับโครงสร้างหนี้ เช่น การขอลดดอกเบี้ย, ยืดระยะเวลาผ่อนผัน หรือแม้แต่ขอสินเชื่อรีไฟแนนซ์บ้านกับสถาบันการเงินใหม่ เป็นต้น ซึ่งการเจรจานี้ ควรพิจารณาอย่างรอบคอบ และควรทำได้ามความสามารถในการจ่ายคืนของเรา เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหนี้สินพอกพูนต่อไปในอนาคต

  • กู้ยืมสินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อรวมหนี้ไว้ที่เดียว

อีกหนึ่งวิธีที่หลายคนนิยมและเป็นอีกหนึ่งวิธีในการรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิต หรือหนี้บัตรกดเงินสด เนื่องจากไม่ต้องมีหลักทรัพย์มาค้ำประกัน หรือในกรณีที่ต้องการใช้ทรัพย์สินมาค้ำประกัน อาจทำให้คุณได้วงเงินที่สูงขึ้น เพื่อให้ได้เงินก้อนโตในการโปะหนี้ รวมหนี้สินไว้ที่เดียว เช่น สินเชื่อรถแลกเงิน เป็นต้น

ลูกหนี้ควรเลือกการปรับโครงสร้างหนี้สินแบบไหนให้เหมาะกับตน

การปรับโครงสร้างหนี้ในแต่ละบุคคลจะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยรอบตัวของลูกหนี้ เช่น

  • กรณีที่ลูกหนี้มีเงินก้อนแต่ไม่มากพอปิดหนี้ทั้งหมด

ก็อาจขอปรับโครงสร้างหนี้โดยการปิดจบด้วยเงินก้อนที่น้อยกว่าหนี้ทั้งก้อนได้ เรียกว่า แฮร์คัต (hair cut) เป็นการปรับโครงสร้างหนี้โดยการขอส่วนลดจากเจ้าหนี้แล้วจ่ายทั้งหมดเพื่อปิดบัญชีทันที

แต่การปิดจบด้วยเงินก้อนแบบนี้ สถาบันการเงินมักมีเงื่อนไขให้จ่ายให้ครบภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งมักจะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ในระยะเวลาไม่กี่งวด ดังนั้น หากไม่มั่นใจว่าจะจ่ายได้ทั้งหมดภายในระยะเวลาที่กำหนด ไม่ควรลงนามในสัญญาเพราะอาจทำให้ต้องขอปรับโครงสร้างอีกครั้ง

ในกรณีที่ต้องขอปรับโครงสร้างหนี้อีกรอบ อาจขอสถาบันการเงินพิจารณาทางเลือกในการช่วยเหลืออื่นแทน เช่น ลดดอกเบี้ย, ยืดระยะเวลาการผ่อนชำระ เป็นต้น

  • กรณีลูกหนี้ไม่มีกำลังเงินในการจ่าย หรือพร้อมจ่ายหนี้สินใด ๆ เลย

โดยปัจจัยเหล่านี้อาจมาจากการที่ลูกหนี้ได้ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ เช่น ธุรกิจล้มละลาย, ตกงาน, รายได้หาย ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้สินได้ในทุก ๆ กรณี แบบนี้อาจเลือกการปรับโครงสร้างหนี้โดยการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยในช่วงเวลาหนึ่ง เพื่อให้ปรับตัวกับปัญหาทางการเงินที่กำลังเผชิญอยู่หรือหางานหาอาชีพใหม่ได้ แล้วค่อยกลับมาจ่ายหนี้ตามเดิม และอาจควบรวมกับการขอขยายเวลาการชำระหนี้ เฉลี่ยผ่อนชำระตามงวดที่เหลือ หรือชำระคืนเงินต้นที่พักชำระทั้งหมดคราวเดียวในงวดสุดท้าย

แต่หากใกล้ครบกำหนดพักชำระและรายรับที่มียังไม่พอจ่ายหนี้ ให้เจรจาเพื่อขอความช่วยเหลืออื่นจากสถาบันการเงินอีกครั้ง เช่น ขอจ่ายเป็นขั้นบันได โดยจ่ายน้อยในช่วงแรกแล้วค่อยเขยิบขึ้นตามรายรับที่น่าจะเข้ามาในอนาคต หรือสำรวจหาทรัพย์สินที่พอจะขายได้มาช่วยชำระหนี้บางส่วน เพราะสถาบันการเงินอาจไม่สามารถให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ด้วยการพักชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลานานได้ อย่ารอหรือเงียบหายจนค้างจ่ายหรือเป็นหนี้เสียอาจส่งผลต่อเครดิตลูกหนี้ได้

หากต้องการแค่ลดดอกเบี้ยเพื่อลดภาระด้านการเงิน จะถือว่าเป็น การปรับโครงสร้างหนี้ ไหม? สามารถทำได้หรือไม่ ?

ในกรณีของลูกหนี้ที่ยังพร้อมจ่ายเงินผ่อนชำระ แต่อยากลดดอกเบี้ยหนี้หรือติดปัญหาอื่น ๆ ก็สามารถเลือกการปรับโครงสร้างหนี้ที่ตนมีได้ ดังนี้

  • เปลี่ยนประเภทหนี้

เช่น สินเชื่อรีไฟแนนซ์บ้าน รีไฟแนนซ์หนี้ ย้ายไปขอกู้กับเจ้าหนี้รายใหม่ที่ให้อัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่า ก็จะทำให้ภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายลดลงไป แต่การเปลี่ยนประเภทหนี้แบบนี้ เราต้องมั่นใจว่าเราสามารถจ่ายค่างวดคืนตามที่กำหนดได้ และต้องคำนวณให้ดีว่าค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการเปลี่ยนเจ้าหนี้นั้น คุ้มกับอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงไหม

  • ขอพักชำระเงินต้น หรือขอลดดอกเบี้ย

เป็นอีกหนึ่งวิธีการปรับโครงสร้างหนี้ที่เหมาะกับคนที่กำลังประสบปัญหาเรื่องเงิน เช่น รายได้ลดลง, ตกงาน เป็นลักษณะที่รายได้ลดลงในช่วงเวลาระยะสั้น ๆ เท่านั้น โดยจะกลับมามีรายรับเท่าเดิมหรือมากกว่าเดิมในอีกไม่นาน ซึ่งวิธีนี้จะมีกำหนดระยะเวลาสั้น ๆ ถ้ารายรับลดเป็นระยะเวลานาน แรบบิท แคร์ ขอแนะนำว่าควรเลือกทางอื่นจะดีกว่า เนื่องจากการขอลดอัตราดอกเบี้ย หรือการขอพักชำระนั้นเป็นการขอละเว้นชั่วคราว หนี้สินอื่น ๆ อย่างเงินต้นและดอกเบี้ยก็ไม่ได้หายไปไหน

  • ขอขยายเวลาชำระหนี้

เป็ยวิธีการปรับโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสำหรับคนที่รายรับลดลงเป็นระยะยาวทำให้ไม่สามารถจ่ายหนี้ในจำนวนเท่าเดิมได้ วิธีนี้จะทำให้เราเป็นหนี้นานขึ้น แต่จำนวนผ่อนต่อเดือนจะลดลง ทำให้เราสามารถบริหารการเงินได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้การขอขยายระยะเวลานั้น จะขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัย ทั้งสถาบันการเงิน ยอดหนี้ ประเภทหนี้ ความสามารถในการจ่ายหนี้คืน รวมถึงฐานะทางการเงินของลูกหนี้ด้วย

ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ของเรา