เช็กด่วน! 10 พฤติกรรมธรรมดา แต่โรคเบาหวานอาจถามหา
ปัจจุบันโรคเบาหวานเป็นอีกหนึ่งกลุ่มโรคที่เกี่ยวข้องกับการเผาผลาญอาหารซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน เนื่องจากขาดฮอร์โมนอินซูลิน หรือประสิทธิภาพของอินซูลินลดลง และมีผลต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย วันนี้ แรบบิท แคร์ อยากชวนเพื่อน ๆ เช็กตัวเองให้ดีว่าคุณกำลังมีพฤติกรรมเสี่ยงเบาหวานหรือไม่?
4 ประเภทของ ‘โรคเบาหวาน’ ที่ต้องรู้!
- ประเภทที่ 1 เกิดจากตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ จึงต้องฉีดอินซูลินอย่างสม่ำเสมอ ในประเทศไทยพบน้อยมาก เพียงแค่ 5% เท่านั้น
- ประเภทที่ 2 เกิดจากตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินไปใช้ได้อย่างเพียงพอ และร่างกายเกิดภาวะดื้ออินซูลิน ในประเทศไทยพบมาก สูงถึง 95%
- ประเภทที่ 3 เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ แม้จะเป็นแม่ที่ไม่ได้เป็นเบาหวานก่อนหน้านี้
- ประเภทที่ 4 เป็นเบาหวานชนิดที่เกิดจากสาเหตุความผิดปกติของสารทางพันธุกรรม
เช็ก! 10 พฤติกรรมธรรมดา ๆ ที่เสี่ยงโรคเบาหวาน
1. ไม่ทานมื้อเช้า
เรามักจะได้ยินว่าอาหารเช้าเป็นมื้อที่สำคัญที่สุดของวัน และยิ่งสำคัญสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน เพราะการรับประทานอาหารเช้าจะให้พลังงานที่ร่างกายจะนำไปใช้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ระหว่างวัน เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดจะต่ำลงในช่วงเช้า ทำให้รู้สึกหิว หากไม่รับประทานอาหารมื้อเช้าเติมพลังงานให้กับร่างกาย ร่างกายจะดึงพลังงานจากคาร์โบไฮเดรตที่สะสมในตับออกมาใช้ เพื่อเพิ่มน้ำตาลในเลือดแล้วนำไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย
2. กินอาหารที่มีไขมันสูงเกินไป
ในแต่ละวันเรามักจะกินอาหารที่หลากหลายตามใจปาก ทั้งหวาน มัน เค็ม ซึ่งก็ควรกินในปริมาณที่พอดี ไม่มากเกินไป โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันสูง เช่น อาหารทอด เมนูผัด รวมถึงอาหารแปรรูปต่าง ๆ ที่มีไขมันแฝงตัวอยู่ แน่นอนว่าอาหารเหล่านี้ล้วนอร่อยถูกปากและหาทานง่าย ไม่ว่าจะเป็น กล้วยทอด ไก่ทอด หมูสามชั้นผัดพริกเกลือ คะน้าหมูกรอบราดข้าว และไส้กรอกสารพัดรูปแบบ ถือเป็นศัตรูตัวร้ายของการเกิดโรคเบาหวาน
นอกจากนี้ยังอาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคอื่น ๆ ตามมาอีกด้วย เช่น โรคอ้วน ไขมันในเลือดสูง และความดันโลหิตสูง เป็นต้น
3. กินเนื้อสัตว์มากเกินไป
การกินเนื้อแดงมากเกินไปอาจเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ได้ ซึ่งคนไทยเป็นเยอะมาก และเพิ่มจำนวนขึ้นทุกปี เพราะเมื่อกินเนื้อแดงปริมาณมาก แต่ขาดการออกกำลังกาย อีกทั้งวัยที่เพิ่มขึ้น ระบบย่อยอาหารก็ทำงานไม่เต็มที่ การสร้างอินซูลินก็น้อยลง ทำให้เซลล์ที่สร้างอินซูลินค่อย ๆ ถูกทำลายไป และอินซูลินยังทำงานไม่เป็นปกติ ซึ่งบางคนเริ่มมีภาวะแทรกซ้อนโดยไม่รู้ตัว บางรายอาจต้องมียารับประทาน บางรายอาจจะถึงขั้นใช้อินซูลินชนิดฉีด เพื่อควบคุมน้ำตาลในเลือดนั่นเอง
4. กินแต่ละมื้อไม่สมดุลต่อร่างกาย
โรคเบาหวาน เป็นอีกหนึ่งโรคที่เกิดจากปริมาณอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต จำพวกแป้งและน้ำตาล ไม่สมดุลกับปริมาณของฮอร์โมนอินซูลิน โดยปกติแล้วฮอร์โมนอินซูลินจะถูกหลั่งออกมาจากต่อมไร้ท่อที่ตับอ่อน เมื่อมีน้ำตาลเพิ่มขึ้นในเลือดเพื่อทำให้ร่างกายใช้งานน้ำตาลที่ได้มาจากอาหารให้เป็นพลังงานภายในเซลล์ เมื่อปริมาณของฮอร์โมนอินซูลินไม่สมดุลกับอาหารกลุ่มแป้งและน้ำตาลที่รับประทานเข้าไป ร่างกายนำน้ำตาลไปใช้ไม่หมดก็จะกลายเป็นโรคเบาหวาน
5. ชอบกินแต่ขนมหวาน
ขนมส่วนใหญ่ทำมาจากแป้ง ไข่ และน้ำตาล ซึ่งถ้าทานมากเกินไป อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานซึ่งเป็นภัยเงียบ ถ้าหากปล่อยจนเรื้อรังอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เบาหวานขึ้นตา ไตวาย และที่พบเห็นบ่อยคือแผลที่รักษาไม่หาย จนทำให้ต้องถูกตัดอวัยวะได้ นอกจากนี้แล้วยังมีขนมบางชนิดที่ไม่ได้ทำมาจากแป้ง แต่ก็มีส่วนผสมของน้ำตาลและไข่เป็นหลัก โดยเฉพาะขนมไทย ๆ ที่ใคร ๆ ก็ชอบทาน เช่น ขนมถ้วย หม้อแกง ตะโก้เผือก เปียกปูน ฝอยทอง ทองหยิบ เม็ดขนุน เป็นต้น ก็ส่งผลให้เป็นโรคเบาหวานได้เช่นกัน
6. ไม่รู้ว่าควรกินก่อน หรือ ออกกำลังกายก่อน
การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดก่อนออกกำลังกายมีความสำคัญมาก สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน เพราะการออกกำลังกายช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งจำเป็นต้องมีอาหารว่างวางไว้ใกล้ ๆ เพื่อช่วยป้องกันระดับน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไปในระหว่างที่ออกกำลังกาย ซึ่งหากผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานมีระดับน้ำตาลที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจากการออกกำลังกาย ควรรีบปรึกษาแพทย์เป็นการด่วน เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป
7. น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นก็เสี่ยงเบาหวาน
น้ำหนักเป็นส่วนสำคัญในการจัดการโรคเบาหวาน สำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานประเภท 2 เพราะน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นจากการกินมากเกินไป โดยเฉพาะการกินอาหารมื้อใหญ่ที่มีคาร์โบไฮเดรตเยอะ จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดหลังมื้ออาหารสูงขึ้น ซึ่งผู้ป่วยโรคเบาหวานต้องการให้ระดับน้ำตาลในเลือดหลังมื้ออาหารน้อยกว่า 180 mg / dL ซึ่งถ้าอยู่ในภาวะเสี่ยงควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อปรับอาหารให้เป็นเป็นมิตรกับสุขภาพของคุณนั่นเอง
8. ความเครียด เสี่ยงต่อโรคเบาหวาน
หากคุณไม่สามารถจัดการความเครียดได้ ก็อาจจะต้องกังวลเกี่ยวกับโรคเบาหวาน เพราะความเครียดเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงของโรคเบาหวาน เนื่องจากสมองจะหลั่งฮอร์โมนหลายชนิดในขณะที่สมองเกิดภาวะเครียด โดยฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นจะทำงานตรงกันข้ามกับระดับอินซูลิน หรือเรียกว่าฮอร์โมนเพิ่มน้ำตาล หากปล่อยให้ฮอร์โมนเพิ่มน้ำตาลมีมากขึ้น ระดับน้ำตาลก็จะสูงตามไปด้วย ทำให้เกิดโรคเบาหวานนั่นเอง เพราะฉะนั้น อย่ามองข้ามความเครียด หรืออาการวิตกกังวลนะคะ
9. ดื่มน้ำน้อยกว่าความต้องการของร่างกาย
เราควรดื่มน้ำอย่างน้อย 2 ลิตรต่อวัน หรือดื่มน้ำอย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน เพื่อลดความเสี่ยงของน้ำตาลในเลือดสูง เพราะน้ำจะเข้าไปช่วยการทำงานของตับและไตในการล้างสารพิษออกจากร่างกาย ถ้าหากดื่มน้ำไม่เพียงพอ อาจส่งผลให้น้ำตาลในเลือดของคุณเพิ่มขึ้น หรือทำให้เลือดมีความหนืดสูง แน่นอนว่าเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคเบาหวานได้เช่นกัน
10. กินผักและผลไม้ไม่ถูกวิธี
ใครว่าทานผลไม้มาก ๆ จะสุขภาพดี หากคุณเลือกทานไม่ถูกต้องก็มีโอกาสเสี่ยงจากการทานผลไม้ได้เช่นกัน โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวานควรกินอาหารให้หลากหลาย เลือกทานผัก-ผลไม้ที่มีกากใยสูง เพราะจะช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาล ทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี โดยเลือกทานผัก-ผลไม้ที่มีน้ำตาลไม่สูงมาก เช่น แอปเปิลเขียว สาลี่หอม ส้ม ฝรั่ง เสาวรส อโวคาโด ผักกาด ชะอม เป็นต้น ที่สำคัญต้องไม่ทานผลไม้ที่มีรสหวานจัดอย่างทุเรียน หรือผลไม้แปรรูปอย่างมะม่วงแช่อิ่ม มะขามกวน เพราะจะยิ่งเป็นการเพิ่มปริมาณน้ำตาลในร่างกาย
โรคเบาหวานไม่ธรรมดาอย่างที่คิด แต่ก็ไม่ต้องกังวลมากจนเกินไป คุณเพียงต้องเช็กพฤติกรรมของตัวเองให้ดี และปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมตามที่เราแนะนำไป เริ่มจากการคุมอาหารแต่ละมื้อให้ตอบโจทย์ หาเวลาออกกำลังกาย และพักผ่อนให้ร่างกายเต็มอิ่มในทุก ๆ วัน เพียงเท่านี้ก็ช่วยป้องกันความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานได้แล้วล่ะ
สนใจทำประกันสุขภาพโรคร้ายแรงได้ที่ Rabbit Care
สรุป
โรคเบาหวานกับพฤติกรรมการบริโภคอาหารและการดูแลสุขภาพของเรา โดยเน้นที่ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดโรคนี้ เช่น การทานอาหารที่มีไขมันสูง, การบริโภคเนื้อสัตว์มากเกินไป, การทานขนมหวาน, และปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด
มีประสบการณ์สร้างสรรค์ผลงานออนไลน์ 10 ปี เขียนด้านเงิน การลงทุน บทความวิเคราะห์สถานการณ์การเงินในประเทศ และฝากผลงานไว้ที่ Rabbit Care ถึง 4 ปี