10 เทคนิคเพื่อเป็นผู้สมัครงานที่น่าสนใจในสายตา HR
ในยุคที่การหางานมีการแข่งขันที่สูงมาก การจะถูกเรียกไปสัมภาษณ์ได้นั้นเราต้องสู้กับเรซูเม่อีกมากมายที่ HR ได้รับในแต่ละวันอีกทั้งพอได้มาสัมภาษณ์งานแล้ว ก็ไม่รู้จะมีคุณสมบัติเข้าตากรรมการรึเปล่า ดังนั้นวันนี้ JobThai เลยจะพาทุกคนไปดูว่ามีเทคนิคอะไรบ้างที่จะทำให้เราเป็นคนที่ดูโดดเด่นกว่าผู้สมัคร คนอื่น ๆ
การสมัครงาน
กรอกใบสมัครให้ละเอียด เช็กความถูกต้องทุกครั้ง
หลายคนชอบละเลยการกรอกใบสมัครงานด้วยการเขียนด้วยลายมือไม่สวยบ้าง สะกดผิดบ้าง กรอกไม่ละเอียดบ้าง หรือกรอกไม่ครบทุกช่องแล้วไม่ขีดเพื่อความเรียบร้อย หรือกรณีกรอกใบสมัครบนไฟล์ PDF ก็ไม่ได้เช็กความเรียบร้อยว่าตัวหนังสือเด้งออกจากช่องที่ให้กรอกไหม หรือตัวหนังสือผิดเพี้ยน อ่านไม่ออกหรือเปล่า ซึ่งความผิดพลาดเหล่านี้จะทำให้ HR มองว่าถ้าเรื่องเล็กน้อยอย่างการกรอกใบสมัครคุณยังไม่ละเอียดรอบคอบขนาดนี้ แล้วถ้าได้เข้าไปทำงานจะขนาดไหน
เรซูเม่ไม่ลายตา ควรใส่ข้อมูลที่สำคัญไว้แรกๆ
หลายคนเรียงลำดับความสำคัญของเรซูเม่ไม่ถูกต้อง ใส่ประวัติส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานไว้บน ๆ แต่ประวัติการทำงานกลับเอาไปไว้ล่างๆ รวมถึงบางคนก็ใส่ข้อมูลมาจนตัวหนังสือลายตาไปหมด หรือทำสีฉูดฉาดมากไปจนคนอ่านปวดหัวก็มี สิ่งที่อยากบอกคือ HR ไม่มีเวลามานั่งอ่านเรซูเม่ของคุณจนจบ ดังนั้นคุณต้องทำให้เรซูเม่ดึงดูดสายตา HR ตั้งแต่ครั้งแรกที่เปิด ทำเรซูเม่ให้กระชับ อ่านง่าย รวมถึงเอาสิ่งที่เป็นจุดสำคัญขึ้นก่อน เช่น ประวัติการทำงาน ทักษะการทำงาน
ทำเรซูเม่ให้เหมาะกับตำแหน่งที่สมัคร
อย่างที่บอกคือ HR ได้รับเรซูเม่ต่อวันเยอะมาก ดังนั้นการจะทำให้ HR สนใจเรซูเม่ของคุณนั้น เราจำเป็นต้องทำให้เรซูเม่มีจุดเด่นอะไรบางอย่างที่เหมาะสมกับตำแหน่งที่สมัคร ยกตัวอย่างเช่น บางคนจะสมัครตำแหน่งดีไซน์เนอร์อาจจะตกแต่งเรซูเม่ให้ดูมีความครีเอทีฟ แสดงให้เห็นถึงทักษะการออกแบบของเรา หรือบางคนสมัครตำแหน่งบัญชี เรซูเม่ก็อาจจะไม่ต้องโชว์ความคิดสร้างสรรค์มาก แต่ควรจะเรียบร้อย มีระเบียบ ไม่มีการสะกคำผิด
มีเรซูเม่ภาษาอังกฤษ
การมีเรซูเม่ภาษาอังกฤษมีความสำคัญมากกับการสมัครงานในปัจจุบัน เพราะการมีเรซูเม่ภาษาอังกฤษ HR จะสามารถนำมาใช้เป็นเกณฑ์ตัดสินใจได้ว่าผู้สมัครมีความรู้ความสามารถด้านภาษาในระดับใด และมีความน่าสนใจเพียงใด ซึ่งการเขียนเรซูเม่ภาษาอังกฤษให้ดีหลายคนอาจะมองว่ายาก แต่ความจริงแล้วหลักสำคัญก็ไม่ต่างจากเรซูเม่ภาษาไทย คือ การเขียนให้สั้น กระชับ อ่านง่าย ข้อมูลครบถ้วน ไม่มีคำสะกดผิด ถ้าเป็นไปได้ควรทำไว้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษก็จะยิ่งดี
การสัมภาษณ์งาน
ศึกษาหาข้อมูลและเตรียมตัวก่อนไปสัมภาษณ์
เมื่อถูกเรียกสัมภาษณ์งานเท่ากับว่าคุณกำลังได้รับโอกาส คุณจึงไม่ควรพลาดรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่จะทำให้ได้เปรียบผู้สมัครคนอื่น ด้วยการศึกษาหาข้อมูลก่อนไปสัมภาษณ์ เช่น ข้อมูลบริษัท ข้อมูลตำแหน่งงาน รวมถึงลองหาบทความการเตรียมตัวสัมภาษณ์งานมาอ่าน เช่น วิธีการเตรียมตัวในการตอบคำถาม การแต่งกายที่เหมาะสม หรือบางคนสัมภาษณ์งานออนไลน์ ก็ควรศึกษาโปรแกรมหรือระบบคอมพิวเตอร์ให้ดีจะได้ไม่เกิดปัญหาติดขัดทางเทคนิคระหว่างสัมภาษณ์งาน
ไม่ไปสัมภาษณ์สาย และโทรกลับเสมอเมื่อไม่ได้รับสายจาก HR
ไม่มีใครชอบคนมาสาย ทุกคนชอบคนตรงต่อเวลา ดังนั้นคุณต้องรักษามารยาท ไม่ไปสายจน HR หรือคนที่สัมภาษณ์ต้องนั่งรอ ทางที่ดีควรไปก่อนเวลาสัก 10-20 นาที รวมถึงถ้า HR เคยโทรมาคุยกับคุณ แล้วเขาโทรมาอีกแต่คุณไม่ได้รับแล้วไม่โทรกลับก็ถือว่าเสียมารยาทเช่นกัน คุณควรบันทึกเบอร์ไว้ โดยใส่ทั้งชื่อและบริษัท คุณจะได้รู้ HR บริษัทอะไรโทรมาแล้วจะได้โทรกลับ อีกอย่างคือเวลาคุยธุระกับ HR ก็ควรไปมาลาไหว้กล่าวขอบคุณทุกครั้งก่อนวางสายด้วย
มี Mindset ที่ดี และเข้ากับองค์กรได้
หลังจากที่ HR มองว่าคุณมีคุณสมบัติมากพอในตำแหน่งนี้แล้ว เขาอาจจะมีเล่าเกี่ยวกับบริษัทคร่าว ๆ ให้ฟัง รวมถึง วัฒนธรรมองค์กรหรือ Core Values ของบริษัท คุณจึงควรแสดงออกถึงความกระตือรือร้น อยากรู้อยากเห็น สนใจกับสิ่งที่เขาเล่า และทำความเข้าใจกับสิ่งที่เขาบอกมาให้มากที่สุด เพื่อให้เขารู้ว่าคุณมีความสนใจองค์กรจริง ๆ รวมถึงอย่าลืมแสดงเรื่องของ Mindset และบุคลิกหรือทัศนคติที่เข้ากับวัฒนธรรมองค์กรให้เขาเห็นด้วยว่าคุณมีเป้าหมายเดียวกัน
เน้นเล่าประวัติการทำงานมากกว่าประวัติส่วนตัว
ส่วนใหญ่ HR จะให้ความสนใจในประวัติการทำงานมากที่สุด ดังนั้นคุณจึงควรบอกประวัติส่วนตัวคร่าว ๆ หรือเล่าเฉพาะที่ส่งเสริมกับตำแหน่งที่สมัคร แล้วมาให้น้ำหนักกับประสบการณ์การทำงานเป็นหลัก เช่น เคยทำงาน ที่ไหน ตำแหน่งอะไร ตำแหน่งนั้นทำอะไร ระยะเวลาการทำงานแต่ละที่ รวมถึงบอกด้วยว่าคุณได้อะไรจากที่นั่น และถ้าเขาถามเรื่องสาเหตุการลาออก ก็ควรตอบเหตุผลให้ชัดเจน
พูดเสียงฉะฉานมั่นใจ ให้ข้อมูลที่มีหลักฐานน่าเชื่อถือ
หลายคนมีอาการตื่นเต้น กลัว ประหม่า ในการสัมภาษาณ์ จึงทำให้แสดงออกมาด้วยการพูดเสียงเบา ถามคำตอบคำ หรือไม่สบตาคนสัมภาษณ์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ HR มองว่าคุณดูไม่มั่นใจ และทำให้เสียโอกาสในขายตัวเอง ดังนั้นลองเปลี่ยนมาพูดจาฉะฉานชัดเจนให้ดูมั่นใจ แต่ก็ต้องมั่นใจแบบมีหลักฐานด้วย เช่น ถ้าเขาให้เล่าถึงผลงานที่คุณภูมิใจ คุณไม่ควรจะพูดแค่ว่าคุณทำกำไรให้บริษัทเฉย ๆแต่ควรมีหลักฐานเป็นตัวเลขเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือมากขึ้น รวมถึงอย่ารอให้เขาถามอย่างเดียว ขายตัวเองให้เขาเห็นข้อดีเราเองเลยรวมถึงถ้าคนสัมภาษณ์ถามว่าอยากถามอะไรเพิ่มเติมไหมคุณควรจะถามเพื่อให้เขาจะได้เห็นความกระตือรือร้นอยากทำงานของคุณ
ตอบให้ตรงคำถาม ไม่รู้อย่ามั่ว
เวลาโดนผู้สัมภาษณ์ถามสิ่งที่เราไม่รู้ อย่าพยายามจะตอบมั่ว ๆ เพราะถ้าเขาถามต่อ หรือจับพิรุธเราได้ คุณจะต้องแถแบบมั่ว ๆ ไปเรื่อย ๆ ยิ่งถ้าเจอคนสัมภาษณ์โหด ๆ แล้วด้วย เขาจะถามต่อให้คุณจนมุมเลยก็ได้ ดังนั้นถ้าไม่รู้ ก็จะตอบว่าเราไม่รู้ หรือจำได้ไม่หมด แต่ให้ต่อท้ายด้วยการบอกสิ่งที่พอจะรู้เกี่ยวกับคำถามของเขาทดแทนไปให้เขาเห็นว่าคุณก็พอจะมีความรู้อยู่บ้าง ถ้าคุณทำได้ดีอาจจะทำให้คนสัมภาษณ์เห็นถึงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของคุณด้วย
การจะเป็นผู้สมัครที่น่าสนใจในสายตา HR นั้นไม่ยากอย่างที่คิด เพียงแค่คุณเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการสมัครงาน ตั้งแต่ขั้นตอนการทำเรซูเม่ กรอกใบสมัคร ไปจนถึงการสัมภาษณ์งานตามที่เราได้บอกไป เพียงแค่นี้ เชื่อเถอะว่าไม่มี HR หรือคนสัมภาษณ์คนไหนจะมองข้ามเราไปได้ มีแต่จะมองว่าเราโดดเด่นเข้าตากรรมการ และอยากให้เรามาร่วมงานด้วยอย่างแน่นอน
Thirakan Thongseenual เป็นนักเขียนที่มีประสบการณ์มากกว่า 3 ปี ที่ RabbitCare และ Asia Direct โดยมีความชำนาญในประกันรถยนต์ เน้นเขียนบทความที่เผยแพร่บน Blog และมีความเชี่ยวชาญด้าน SEO กว่า 4 ปี ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอได้ใช้ในการสร้างความรู้และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของ RabbitCare อย่างมีประสิทธิภาพ จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ปริญญาตรี สาขา Information Technology