สีประจำเดือนบอกอะไร แบบไหนที่ควรพบแพทย์? และวิธีดูแลสุขอนามัย
สิ่งสำคัญที่บ่งบอกสุขภาพภายในของคุณผู้หญิงอย่างสีประจำเดือนนั้น คือ สิ่งที่ต้องหมั่นสังเกตกันอย่างสม่ำเสมอจนเป็นนิสัย เพราะการมีประจำเดือนที่มีสีแตกต่างออกไป (รวมถึงในบางรายอาจมีอาการหรือลักษณะอื่น ๆ ร่วมด้วย) ก็อาจเป็นสัญญาณบอกสภาวะสุขภาพที่ผิดปกติหรือแสดงถึงการติดเชื้อแบคทีเรียไปถึงขั้นกลายเป็นโรคร้ายได้
เราจึงควรรู้ว่าประจำเดือนแต่ละสีบ่งบอกอะไร? ลักษณะแบบไหนเป็นปกติ ลักษณะไหนควรพบแพทย์ แรบบิท แคร์ รวมคำตอบมาให้ พร้อมนำวิธีดูแลสุขอนามัยในช่วงมีประจำเดือนมาฝากทุกคน
ประจำเดือน คืออะไร?
ประจำเดือน คือ เลือดและเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูกที่จะมีการหลุดลอกออกมาในทุกเดือนจากร่างกายของผู้หญิง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วรอบการหลุดลอกซึ่งร่างกายจะขับประจำเดือนออกมาจะอยู่ที่ 21-35 วัน และโดยปกติแล้วจะมีเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3-5 วัน (ไม่ควรเกิน 7 วัน)
สาเหตุที่ร่างกายของเพศหญิงจะมีประจำเดือนทุกเดือนนั้น ก็เพราะว่าร่างกายของเราจะมีการสร้างเยื่อบุโพรงมดลูกขึ้นมาใหม่อยู่เสมอ เพื่อให้พร้อมต่อการฝังตัวของตัวอ่อนเมื่อมีการมีเพศสัมพันธ์ แต่เมื่อไม่ได้เกิดการฝังตัวของตัวอ่อนหรือมีการตั้งครรภ์ เยื่อบุโพรงมดลูกเหล่านั้นก็จะหลุดลอกออกมา
สำหรับสาว ๆ แล้วแน่นอนว่าร้อยละ 90% จะต้องเคยเผชิญกับสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกกังวลใจเมื่อสีประจำเดือนเปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนเคย ทั้งอาจจะแค่มีสีเข้มกว่าปกติ ประจำเดือนสีน้ำตาล ประจำเดือนสีดำ หรือที่หนักหนากว่านั้นคือมีสีนอกเหนือจากที่ได้กล่าวไปปะปนออกมา มีกลิ่นไม่พึงประสงค์/อาการอื่น ๆ ร่วมด้วย
ดังนั้นเพื่อเป็นการช่วยไขข้อกังวลใจ สามารถเลื่อนลงไปอ่านหัวข้อถัด ๆ ไป เพื่อหาคำตอบว่าสีประจำเดือนแบบไหน อันตรายหรือไม่? ควรพบแพทย์เมื่อไหร่? กันได้เลย
ประจำเดือนสีน้ำตาล (มีกลิ่น/มีอาการคัน)
สำหรับสาว ๆ ที่มีสีประจำเดือนเป็นประจำเดือนสีน้ำตาล แถมยังมีอาการไม่พึงประสงค์อย่างอาการคันในช่องคลอดและประจำเดือนมีกลิ่นผิดปกติ บอกเลยว่าอาการแบบนี้ไม่ใช่สัญญาณที่ดี เพราะถึงแม้การมีประจำเดือนสีน้ำตาลจะไม่ได้บ่งบอกถึงอันตรายใด ๆ และมีสิทธิ์เกิดขึ้นได้ทั่วไปเมื่อมีเลือดเก่าตกค้างอยู่ในร่างกาย แต่อาการคันและการที่ประจำเดือนมีกลิ่นไม่พึงประสงค์อาจเป็นสัญญาณเตือนภัยว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียภายใน ควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาก่อนบานปลายทันที
ประจำเดือนสีน้ำตาล (ไม่มีกลิ่น/ไม่มีอาการคัน)
ในส่วนของสีประจำเดือนซึ่งเป็นประจำเดือนสีน้ำตาลที่ไม่ใช่ประจำเดือนมีกลิ่นไม่พึงประสงค์และไม่มีอาการคันนั้น สามารถพบเจอได้ปกติทั่วไปเมื่อมีเลือดเก่าตกค้างอยู่ในร่างกายของสาว ๆ ทุกคน ซึ่งโดยปกติแล้วมักจะพบประจำเดือนสีน้ำตาล สีน้ำตาลเข้ม หรือสีน้ำตาลจนเกือบดำในช่วงวันแรก ๆ และช่วงวันท้าย ๆ ก่อนที่ประจำเดือนจะหมดไป
แต่ในบางกรณีสีประจำเดือนที่มีลักษณะประจำเดือนสีน้ำตาลเช่นนี้ก็ถือเป็นการบ่งบอกว่าฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนต่ำ ซึ่งเป็นสัญญาณบอกความเสี่ยงด้านสุขภาพ ว่าอาจตั้งครรภ์ยาก หากต้องการวางแผนครอบครัวและมีความกังวลในเรื่องดังกล่าวสามารถรับการปรึกษาจากแพทย์
ประจำเดือนสีแดงอมส้ม
สำหรับคนที่มีประจำเดือนเป็นประจำเดือนสีแดงอมส้มซึ่งเป็นลักษณะของประจำเดือนที่มีเลือดปนหนอง อีกทั้งยังมีกลิ่นเหม็น แน่นอนว่าลักษณะอาการเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องปกติอย่างแน่นอน เพราะมีความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อภายในช่องคลอด เช่น เชื้อ STD/STI หรือกลุ่มโรคที่สามารถติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์
ซึ่งอาจทำให้มีกลิ่นเหม็นอับ โดยเฉพาะหากมีอาการปวดบริเวณท้องน้อยร่วมด้วย ขอแนะนำให้เข้าพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและเข้ารับการรักษาโดยด่วน
ประจำเดือนสีแดงปนเทา
สำหรับประจำเดือนสีแดงปนเทานั้น ส่วนใหญ่ผู้ที่มีสีประจำเดือนลักษณะนี้มักจะมีอาการคันร่วมด้วย ซึ่งทำให้สามารถสันนิษฐานว่าเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียภายในช่องคลอด ควรเข้าปรึกษาแพทย์
อีกทั้งในบางรายยังมีสีประจำเดือนเป็นสีแดงปนเทา ปนเขียวข้น ร่วมกับมีอาการตกขาวมาก รู้สึกปวดบริเวณท้องน้อยหรือมีไข้ด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้อาจเป็นสัญญาณบอกอาการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน ถือเป็นอาการที่ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรเข้าตรวจรักษากับแพทย์เฉพาะทางในทันที
ประจำเดือนสีแดงสด (มามากกว่า 7 วัน)
สำหรับประจำเดือนสีแดงสด ที่มาติดต่อกันมากกว่า 7 วันนั้น ผู้ที่มีสีประจำเดือนลักษณะนี้แนะนำว่าควรให้เข้ารับการปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากปกติแล้วระยะเวลาในการมีประจำเดือนในแต่ละรอบเดือนของสาว ๆ จะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3-5 วัน และอาจมีเลือดกะปริดกะปรอยจนหายไปหมดเต็มที่มากสุด 7 วัน
การที่มีประจำเดือนออกมาในปริมาณมากระยะเวลาเกินกว่า 7 วันนั้น จึงอาจแสดงถึงความผิดปกติบางอย่างภายในร่างกายหรือความผิดปกติที่เกี่ยวกับฮอร์โมนของสาว ๆ นั่นเอง
ประจำเดือนสีแดงสด (มาน้อยกว่า 7 วัน)
จากที่ทราบกันไปแล้วว่าการมีประจำเดือนสีแดงสดที่มากกว่า 7 วันนั้นควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แล้วสำหรับคนที่มีประจำเดือนลักษณะนี้ในช่วงระยะเวลาน้อยกว่า 7 วันล่ะ จำเป็นที่จะต้องเข้าพบแพทย์หรือไม่ ? คำตอบคือไม่จำเป็น เพราะการที่มีสีประจำเดือนแบบนี้นั้นถือเป็นปกติของร่างกาย สุขภาพปกติดี *แต่หากมีอาการคัน หรืออาการผิดปกติอื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์ อย่านิ่งนอนใจ
ประจำเดือนสีแดงเข้ม
สีประจำเดือนที่มีลักษณะเป็นประจำเดือนสีแดงเข้มนั้น ถือว่าเป็นเรื่องปกติที่มักพบในวันมามากของสาว ๆ ซึ่งไม่นับเป็นสัญญาณอันตรายที่บ่งบอกให้เราต้องมีความกังวลในเรื่องของสุขภาพร่างกายแต่อย่างใด เพียงแต่เมื่อประจำเดือนมามากก็จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสุขอนามัยมากยิ่งขึ้น และต้องอย่าลืมเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อย ๆ อย่าปล่อยให้เกิดการหมักหมมอย่างเด็ดขาด
ประจำเดือนสีดำ
ในส่วนของสาว ๆ คนไหนที่มีสีประจำเดือนเป็นประจำเดือนสีดำจนทำให้รู้สึกตื่นตระหนกตกใจ ต้องขอบอกไว้ตรงนี้เลยว่าไม่ได้มีความเสี่ยงหรืออันตรายแต่อย่างใด เพราะการที่มีเลือดประจำเดือนสีดำออกมาจากร่างกายนั้นความจริงแล้วเป็นเลือดชนิดเดียวกับประจำเดือนสีน้ำตาล หรือก็คือเลือดเก่าตกค้างจากมดลูกที่ถูกขับออกมา นับเป็นสัญญาณที่ดีว่าไม่มีเลือดตกค้างภายในร่างกายของเราอีกต่อไป
โดยสีประจำเดือนแบบนี้ส่วนใหญ่มักจะพบเจอได้ในช่วงวันแรก ๆ และวันท้าย ๆ ของการมีประจำเดือน และในบางรายอาจพบในวันมามากได้เช่นกัน จึงขอย้ำอีกครั้งว่าไม่ต้องตกใจ
ประจำเดือนสีชมพู
ในส่วนของคนที่มีสีประจำเดือนเป็นลักษณะประจำเดือนสีชมพู ประจำเดือนลักษณะนี้มักเกิดขึ้นจากการที่ร่างกายมีฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำ หรือพบในผู้ที่ออกกำลังกายหนักและผู้ที่มีภาวะซีด ซึ่งการมีฮอร์โมนชนิดนี้ต่ำนั้นนับว่ามีความเสี่ยงด้านสุขภาพ เพราะอาจส่งผลให้มีอาการหลง ๆ ลืม ๆ โฟกัสกับสิ่งที่ทำได้ไม่เต็มที่ ขาดสมาธิ อารมณ์แปรปรวน โดยเฉพาะเมื่อพักผ่อนไม่เพียงพอ อีกทั้งยังส่งผลให้ตั้งครรภ์ยากกว่าปกติ ดังนั้นหากใครมีลักษณะสีประจำเดือนแบบนี้และมีความกังวลใจในด้านสุขภาพของตนเอง ก็สามารถเข้ารับการปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้เช่นกัน
วิธีดูแลสุขอนามัยที่ถูกต้องเมื่อมีประจำเดือน
- ล้างและทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นอย่างถูกวิธี ไม่ใช้การสวนล้างอย่างเด็ดขาด
- เมื่อล้างทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นแล้วต้องซับให้แห้งทุกครั้ง
- เปลี่ยนผ้าอนามัยทุก 3-4 ชั่วโมง (หรือเร็วกว่านั้นหากเป็นวันมามาก) เพื่อป้องกันการหมักหมม
- สังเกตสีประจำเดือน ลักษณะหรือความผิดปกติของประจำเดือน
- ก่อนและหลังเปลี่ยนผ้าอนามัยล้างมือด้วยสบู่และซับให้แห้งทุกครั้งเพื่อรักษาความสะอาด
- เช็กวันหมดอายุของผ้าอนามัยก่อนนำมาใช้ หลายคนมักละเลยการเช็กวันหมดอายุ
- เลือกกางเกงในที่ไม่รัดแน่นเกินไป ผ้าเบาสบาย ระบายอากาศได้ดี ไม่อับชื้น
- ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ตอนมีประจำเดือนอย่างเด็ดขาดเนื่องจากมีโอกาสติดเชื้อสูง
เพราะสุขภาพอนามัยของผู้หญิงเป็นสิ่งสำคัญและมีความเสี่ยงในการเกิดโรคไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ มากกว่าที่คิด อย่าลืมให้ความสำคัญในการสังเกตสีประจำเดือน รักษาความสะอาดและหาวิธีรับมือกับปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้ในภายภาคหน้า เลือกทำประกันสุขภาพ กับ แรบบิท แคร์ ครอบคลุมดูแลให้แบบครบครัน
มีประสบการณ์มากกว่า 3 ปี เป็นนักเขียนด้านประกันสุขภาพ ประกันชีวิต เพื่อสุขภาพที่ Rabbit Care และ Asia Direct
และ 12 ปี ในอุตสาหกรรม OTA อย่าง Laterooms.com , Expedia.com จึงมีความเชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยว
จบการศึกษาปริญญาตรี สาขาการจัดการการเงิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น