มรดกหนี้ คืออะไร ? เมื่อพ่อแม่เสียชีวิต ลูกต้องใช้หนี้ต่อหรือไม่ ?
เคยได้ยินคำว่ามรดกหนี้หรือไม่ ? เคยสงสัยไหมว่าเมื่อพ่อแม่เสียชีวิตไปแล้วหนี้ที่มีอยู่จะต้องทำอย่างไร ใครต้องรับภาระเหล่านั้นเอาไว้ ? วันนี้ แรบบิท แคร์ ได้นำเรื่องราวน่ารู้ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย มรดกหนี้หรือการส่งต่อหนี้จากรุ่นสู่รุ่นมาฝากให้ทุกคนได้อ่านกัน
หนี้ถือเป็นมรดกหรือไม่ ?
เมื่อกล่าวถึงเรื่องของมรดกที่จะส่งต่อจากผู้เสียชีวิตถึงทายาทแล้ว แน่นอนว่าหลายคนก็มักจะนึกถึงการส่งต่อทรัพย์สินมีค่าที่เป็นของผู้เสียชีวิตถึงทายาทหรือผู้ที่ถูกระบุไว้ในพินัยกรรม แต่เคยสงสัยว่าหากผู้เสียชีวิตไม่ได้มีเพียงทรัพย์สมบัติหรือสิ่งของมีค่าที่ไม่ว่าใครก็อยากมีส่วนแบ่งจะทำอย่างไร และหากมีหนี้ที่ติดตัวอยู่ด้วยหนี้นั้นจะถูกส่งต่อด้วยหรือไม่ ก่อนที่จะทราบคำตอบกันให้หายคาใจ ก่อนอื่นเราต้องมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่า ‘มรดก’ กันก่อนเป็นอันดับแรก
สำหรับคำจำกัดความของคำว่า ‘มรดก’ นั้น มรดก คือ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้เสียชีวิตที่มีอยู่ก่อนจะถึงแก่ความตาย อันรวมไปถึงสิทธิหน้าที่ สิทธิผูกพันในอสังหาริมทรัพย์ และสังหาริมทรัพย์ เช่น หน้าที่ในการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ ความรับผิดชอบการผิดสัญญาและการละเมิดต่าง ๆ จึงกล่าวได้ว่าทุก ๆ อย่างรวมไปถึงหนี้สินของผู้ตายก็นับเป็นมรดกด้วยเช่นกัน ดังที่เรียกว่า มรดกหนี้นั่นเอง
มรดกหนี้ คืออะไร ?
สำหรับผู้ที่อ่านแล้วยังไม่เข้าใจสักเท่าไหร่ ว่ามรดกหนี้ คืออะไร แรบบิท แคร์ จะอธิบายให้สามารถเข้าใจได้ง่าย ๆ ว่า มรดกหนี้ คือ หนี้สินหรือพันธสัญญาต่าง ๆ ที่ต้องชดใช้ให้แก่เจ้าหนี้ และมีอยู่ก่อนตายของผู้เสียชีวิต โดยจะถูกส่งต่อให้ทายาทโดยชอบธรรมตามกฎหมายหรือตามพินัยกรรมระบุไว้เช่นเดียวกับทรัพย์สินมีค่าอื่น ๆ ที่ไม่ใช่มรดกหนี้นั่นเอง
ใครบ้างที่มีสิทธิ์รับมรดกและมรดกหนี้
ในส่วนของผู้ที่กำลังสงสัยว่าใครบ้างที่จะมีสิทธิ์ในการรับมรดกและมรดกหนี้เพื่อที่จะได้เตรียมตัววางแผนการจัดการกันไว้ ลองอ่านทำความเข้าใจเกี่ยวกับลำดับขั้นของทายาทในการรับมรดกกันได้ โดยทายาทที่มีสิทธิ์ในการรับมรดกและมรดกหนี้นั้นจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้
- ทายาทโดยพินัยกรรม ถือเป็นทายาทที่มีสิทธิ์ได้รับมรดกรวมถึงมรดกหนี้ตามที่ผู้เสียชีวิตนั้นได้กำหนดไว้ในพินัยกรรม ซึ่งจะยึดตามพินัยกรรมเป็นหลักแม้การจัดสรรมรดกจะไม่เป็นไปตามลำดับขั้นของทายาทโดยธรรมก็ตาม
- ทายาทโดยธรรม กรณีที่ผู้เสียชีวิตไม่ได้มีการทำพินัยกรรมในการจัดสรรปันส่วนมรดกและมรดกหนี้ต่าง ๆ เอาไว้อย่างชัดเจน จะมีการแบ่งมรดกและมรดกหนี้ให้แก่ผู้ที่มีสิทธิ์ในการรับมรดกตามกฎหมายทั้ง 6 ลำดับ โดยจะมีการเรียงลำดับดังนี้ ผู้สืบสันดาน บิดามารดา พี่-น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน พี่-น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน ปู่ยาตายาย ลุงป้าน้าอา (คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ถือเป็นทายาทโดยธรรมของผู้เสียชีวิตโดยมีลำดับขั้นเดียวกับผู้สืบสันดาน)
และนี่ก็คือลำดับขั้นหรือสิทธิ์ในการรับมรดกและมรดกหนี้ ใครอยู่ในลำดับขั้นไหนเมื่อถึงเวลาก็ต้องทราบจะได้เตรียมตัวกันให้ดี ต้องลุ้นกันว่าจะได้รับทรัพย์สินหรือมรดกหนี้ หากได้รับมรดกหนี้จะต้องทำอย่างไร
ไม่อยากรับมรดกหนี้ต้องทำอย่างไร ?
แน่นอนว่าขึ้นชื่อว่าหนี้ถึงจะมีชื่อเรียกที่ดูสวยหรูเพิ่มเติมขึ้นมาอย่างมรดกหนี้ก็คงไม่มีใครอยากรับ โดยเฉพาะเมื่อหนี้ก้อนนั้นตัวเราเองไม่ได้ร่วมก่อหรือมีส่วนได้ส่วนเสีย ดังนั้น แรบบิท แคร์ จึงนำทางออกที่จะช่วยคนที่ได้รับมรดกหนี้ ว่าหากไม่อยากรับภาระจากมรดกหนี้ จะมีวิธีในการหลีกเลี่ยงได้อย่างไรบ้าง โดยสามารถแบ่งได้เป็น 3 กรณีด้วยกัน ดังนี้
กรณีที่ 1 มรดกหนี้มีมูลค่าน้อยกว่าสินทรัพย์
การจัดการกับมรดกหนี้ในกรณีนี้อาจเกิดขึ้นได้หลากหลายรูปแบบด้วยกัน ตัวอย่างเช่น เจ้าของมรดกมีบ้าน 1 หลังมูลค่า 2 ล้านบาท มีหนี้อยู่ 1 ล้านบาท หากทายาทไม่ต้องการเก็บบ้านไว้ สามารถนำบ้านมาหักลบกลบกับหนี้กับมรดกหนี้ที่ได้รับมาได้ จากนั้นทายาทจะได้รับส่วนต่างจำนวน 1 ล้านบาท แต่ถ้าหากทายาทต้องการเก็บบ้านราคา 2 ล้านบาทไว้ ก็ต้องหาเงินสดจำนวน 1 ล้านบาทมาใช้หนี้ จากนั้นจึงทำเรื่องโอนกรรมสิทธิ์บ้านเป็นของตนเองได้
กรณีที่ 2 สินทรัพย์มีมูลค่าเท่ากับมรดกหนี้
ในกรณีนี้ทายาทพบว่ามูลค่าของสินทรัพย์ที่จะได้รับเท่ากับจำนวนมรดกหนี้ที่ต้องชำระ จะสามารถเลือกใช้วิธีการหักลบหนี้ที่เท่ากับมูลค่าของสินทรัพย์ออกไปได้ และหนี้ที่เหลือจะถูกลบออกโดยอัตโนมัติ เช่น ได้รับมรดกเป็นบ้านราคา 2 ล้าน และมีมรดกหนี้จำนวน 2 ล้าน ก็สามารถใช้บ้านมูลค่า 2 ล้านใช้หนี้แทนได้
แต่กรณีที่ทายาทต้องการเก็บบ้านไว้ จะต้องทำการชำระหนี้ทั้งหมด โดยจะกู้เงินซื้อบ้านเป็นการชำระหนี้ก็ได้ ซึ่งจะเป็นเหมือนกับการซื้อบ้านจากเจ้ามรดก หลังจากนั้น ทายาทคนดังกล่าวก็จะเป็นเจ้าของบ้านอย่างถูกต้อง และต้องผ่อนชำระหนี้บ้านตามกำหนดปกติด้วยนั่นเอง
กรณีที่ 3 สินทรัพย์มีมูลค่าน้อยกว่ามรดกหนี้
สำหรับกรณีนี้นั้นทายาทสามารถแจ้งความประสงค์ให้เจ้าหน้าที่ทำเรื่องฟ้องยึดทรัพย์สินในส่วนที่เป็นมรดกไปจัดการหนี้ได้เลย และถึงแม้ว่ามูลค่าของมรดกหนี้จะมีมากกว่ามรดกที่จะได้รับหรือมีส่วนต่างกันทายาทก็ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบแต่อย่างใด เพราะจะไปสอดคล้องกับกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1601 ที่ว่า “ทายาทไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบหนี้สินเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน” เช่น ทายาทจะได้รับมรดกเป็นบ้าน 2 ล้าน และมรดกหนี้จำนวน 3 ล้าน จึงแจ้งความจำนงให้เจ้าหน้าที่ทำเรื่องฟ้องยึดบ้านหลังดังกล่าวไปจัดการหนี้ และไม่จำเป็นต้องใช้หนี้ส่วนต่างเพิ่มเติมแต่อย่างใด
วิธีเหล่านี้ก็ถือเป็นวิธีดี ๆ ที่สามารถทำได้ง่ายสำหรับคนที่ไม่ต้องการรับมรดกหนี้ ลองไปชั่งน้ำหนักและคิดคำนวณกันให้ดี ว่าควรจะเลือกใช้วิธีไหนถึงจะเหมาะสมกับสถานการณ์ของตนเอง
คิดสั้นหนีหนี้จะสามารถหยุดวงจรหนี้ได้ไหม ?
ในปัจจุบันนั้นเรามักจะเห็นข่าวอยู่มากมายกับการที่มีผู้เคราะห์ร้ายตัดสินใจที่จะจบชีวิตตัวเองลงเนื่องจากหวังว่าจะหลุดพ้นจากวงจรของการเป็นหนี้ได้ ซึ่งตามหลักความเป็นจริงแล้วหนี้ก้อนดังกล่าวก็ยังถูกส่งต่อให้กับทายาทตามกฎหมาย การตัดตัดสินใจจบชีวิตตนเองเพื่อหนีหนี้จึงไม่ใช่สิ่งที่สมควรทำแต่อย่างใดเพราะจะเป็นการโอนถ่ายภาระความเป็นหนี้ของตัวเราให้กับทายาทต่อไปนั่นเอง
นอกจากนี้แล้วโดยส่วนมากผู้ที่มักจบชีวิตของตนเองลงเพื่อหวังจะหนีหนี้นั้นหลายคนเป็นหนี้จากการกู้นอกระบบ ทำให้ทายาทที่ได้รับมรดกหนี้ไม่สามารถแจ้งความประสงค์ให้มีการฟ้องยึดทรัพย์สินที่ได้ติดมาด้วยได้ แต่จะต้องเผชิญหน้ากับการทวงหนี้โหดจากเจ้าหนี้นอกระบบต่อไป ดังนั้นใครคิดว่าทางนี้คือทางออกขอให้เปลี่ยนความคิดในทันที
วิธีป้องกันการสร้างมรดกหนี้สู่ลูกหลานรุ่นต่อไป
หากใครที่กำลังคิดกังวลใจและให้ความสำคัญกับการส่งต่อสิ่งดี ๆ ให้กับลูกหลานหรือคนข้างหลัง ไม่อยากให้มีมรดกหนี้จากตนเองตกทอดไปถึงทายาทรุ่นต่อ ๆ ไปได้ แรบบิท แคร์ ก็มีวิธีป้องกันการสร้างมรดกหนี้สู่ลูกหลานรุ่นต่อไป คือ
- ไม่สร้างหนี้สินขึ้นมาตั้งแต่แรก
- ให้ความสำคัญกับการวางแผนทางการเงิน
- สะสมทรัพย์สินที่มีให้มากกว่าหนี้
- วางแผนรับมือกับความเสี่ยงอยู่เสมอ
- ทำประกันชีวิต กับ แรบบิท แคร์ โดยให้ทายาทเป็นผู้รับผลประโยชน์
วิธีเหล่านี้คือวิธีในการป้องกันการส่งต่อมรดกหนี้ หลัก ๆ แล้วก็จะต้องวางแผนการจัดการทางการเงินกันให้ดี รวมถึงต้องไปลืมทำประกันชีวิต กับ แรบบิท แคร์
ข้อมูลเหล่านี้ถือเป็นข้อมูลน่ารู้พื้นฐานที่ทุกคนควรรู้ไว้เกี่ยวกับมรดกหนี้ หากวันไหนจะต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ไม่คาดฝันจะได้รับมือกันได้เป็นอย่างดี เพราะเรื่องของมรดกหนี้เป็นเรื่องที่หลายคนจะต้อง
สรุป
มรดกหนี้ คือ หนี้สินหรือพันธสัญญาต่าง ๆ ที่ต้องชดใช้ให้แก่เจ้าหนี้ และมีอยู่ก่อนตายของผู้เสียชีวิต โดยจะถูกส่งต่อให้ทายาทโดยชอบธรรมตามกฎหมายหรือตามพินัยกรรมระบุไว้เช่นเดียวกับทรัพย์สินอื่น ๆ โดยสิทธิ์เหล่านี้จะตกไปอยู่กับ ทายาทโดยพินัยกรรม และทายาทโดยธรรม เบื้องต้นมรดกหนี้นั้นสามารถหาทางออกได้ โดยแบ่งเป็น 3 วิธี ดังนี้
- กรณีที่ 1 มรดกหนี้มีมูลค่าน้อยกว่าสินทรัพย์ สามารถขายมรดกเพื่อใช้จ่ายหนี้สินได้ โดยหักส่วนหนี้ และรับส่วนต่างไว้กับตัวเอง
- กรณีที่ 2 สินทรัพย์มีมูลค่าเท่ากับมรดกหนี้ สามารถขายมรดกที่ได้รับแล้วนำเงินไปหักล้างหนี้สินได้ทันที
- กรณีที่ 3 สินทรัพย์มีมูลค่าน้อยกว่ามรดกหนี้ ในกรณีนี้ มรดกที่จัดแจงยึดทรัพย์ขายทอดตลาดแล้ว ทางทายาทไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบหนี้สินเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดมาถึงตน
นักเขียนรุ่นไฮบริด เขียนบทความด้านการบริหารเงินส่วนบุคคลและการลงทุนต่าง ๆ กว่า 7 ปี เริ่มต้นที่งานเขียนที่ Rabbit Finance จนย้ายมาที่ Rabbit Care และ Asia Direct