บีบแตรแบบไหนมีโทษทางกฎหมาย ? รวมเรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับการบีบแตร
การบีบแตรรถยนต์นั้นนอกจากจะมีจุดประสงค์ในการใช้ส่งสัญญาณเตือนเพื่อความปลอดภัย ในปัจจุบันหลายคนมักใช้แตรรถผิดจุดประสงค์หลักกันอย่างมากมาย ทั้งการบีบแตรเพื่อตำหนิหรือต่อว่าผู้ร่วมใช้รถใช้ถนน ระบายอารมณ์ กวนโทสะ ยั่วยุทางอารมณ์ ทำให้หลายครั้งเราได้เห็นข่าวการทะเลาะวิวาทที่เริ่มต้นมาจากการบีบแตร
ไม่หมดเพียงเท่านั้น ยังมีบางคนที่ทำการปรับแต่งเสียงแตรรถ หรือชอบบีบแตรเล่นเพื่อความสนุกสนานอีกด้วย ซึ่งทุกสิ่งที่ได้กล่าวมาล้วนเป็นการใช้แตรรถที่ผิดจุดประสงค์ อีกทั้งแม้หลายคนอาจจะยังไม่ทราบแต่หลายพฤติกรรมยังผิดข้อกำหนดทางกฎหมาย ดังนั้น แรบบิท แคร์ จึงได้นำข้อมูลเกี่ยวกับการบีบแตรรถมาให้ ว่าแบบไหนที่ผิดกฎหมาย เราควรบีบแตรอย่างไร จึงจะเป็นผู้ร่วมใช้รถใช้ถนนที่ดี
แตรรถยนต์
แตรรถยนต์ ถือเป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการขับขี่รถในชีวิตประจำวัน โดยมีจุดประสงค์ในการใช้เพื่อส่งเสียงสื่อสารกับผู้ร่วมใช้ถนนคนอื่น ๆ ได้ทราบถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการส่งสัญญาณให้รถคันอื่นไหวตัวหรือตื่นตัวเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินตรงหน้า ส่งสัญญาณเตือนก่อนที่อุบัติเหตุจะเกิดขึ้น ส่งสัญญาณหยุดรถ ส่งสัญญาณห้ามทาง ไปจนถึงส่งสัญญาณให้อีกฝ่ายรู้ว่ากำลังจะชนโดนรถของเรา ฯลฯ
บีบแตรผิดกฎหมายหรือไม่ ?
อย่างที่ได้ทราบจุดประสงค์หลักของการใช้งานไปแล้ว และหลายคนคงอาจได้ยินกันมาบ้างแล้วว่าการบีบแตรรถบางลักษณะนั้นมีความผิดทางกฎหมาย แล้วสรุปว่าการบีบแตรนั้นผิดกฎหมายหรือไม่ ? จริง ๆ แล้วการบีบแตรรถโดยทั่วไปนั้นไม่ได้มีโทษทางกฎหมายแต่อย่างใด แต่จะต้องบีบแตรอย่างสุภาพและใช้ตามจุดประสงค์ตั้งต้นของการบีบแตรตามกฎหมาย ซึ่งจะกล่าวถึงการบีบแตรรถที่ถูกต้องเหมาะสม และการบีบแตรรถที่ผิดกฎหมายรวมถึงมีบทลงโทษทางกฎหมายในหัวข้อต่อ ๆ ไปนั่นเอง
ควรบีบแตรในสถานการณ์ไหน ?
ถึงแม้ว่าจะทราบถึงจุดประสงค์ของการใช้งานแตรรถยนต์กันไปแล้ว แต่แน่นอนว่าบางคนก็ยังนึกไม่ออกว่าควรจะบีบแตรในสถานการณ์ไหนบ้างถึงจะเป็นไปตามกฎกติกามารยาท และไม่ผิดกฎหมาย โดยการบีบแตรรถนั้นควรบีบเมื่ออยู่ในสถานการณ์ ดังนี้
- บีบแตรเมื่อต้องการส่งสัญญาณเตือนแก่รถรอบข้างให้ทราบถึงอันตรายหรือเหตุฉุกเฉินที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นการเตือนให้รถรอบข้างที่อยู่ในวิถีเปลี่ยนเส้นทาง ป้องกันอุบัติเหตุ
- บีบแตรให้สัญญาณเตือนเมื่อรถของตนเองตกอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น รถหลุดการควบคุม เพื่อขอทางและขอความช่วยเหลือ (การบีบแตร 3 ครั้ง ภายในหนึ่งวินาทีอาจคาดการณ์ได้ว่ามีสถานการณ์ฉุกเฉินเร่งด่วนเกิดขึ้น)
- บีบเพื่อเตือนให้รถที่อาจมองไม่เห็นหรือไม่ทันระวังรถของเราทราบว่ามีรถของเราอยู่เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ เช่น เมื่อมีรถถอยหลังมาจะชนเรา หรือมีรถขับกินเลนออกมา
- บีบเพื่อเป็นการเตือนให้รถคันอื่นรู้สึกตัวในสถานการณ์จำเป็น เช่น รถคันหน้าจอดแช่ทิ้งไว้ในขณะที่ไฟเขียวแล้ว เป็นสัญญาณเตือนให้ออกตัว
- ใช้แตรเพื่อเตือนให้อีกฝ่ายรู้ตัวว่าพฤติกรรมการขับขี่ของเขาอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ เช่น เมื่อโดนรถตัดหน้าเข้ามาในเลนส์ของเราอย่างกะทันหันโดยไม่เปิดไฟเลี้ยว
- ใช้แตรเมื่อขับผ่านบริเวณโค้งหักศอก หรือทางโค้งที่เป็นมุมอับสายตาที่ยากแก่การมองเห็นรถที่จะสวนมา เป็นการส่งสัญญาณเตือนเพื่อลดโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุ
สถานการณ์เหล่านี้เป็นสถานการณ์ที่สมควรบีบแตรและสามารถบีบแตรได้อย่างไม่ผิดกฎหมาย ทั้งนี้ไม่ว่าจะอย่างไรก็ต้องพึงระลึกไว้ว่าการบีบแตรนั้นใช้เพื่อเป็นการส่งสัญญาณเตือนเพื่อความปลอดภัย และป้องกันการเกิดอุบัติเหตุเพียงเท่านั้น
บีบแตรแบบไหนมีโทษทางกฎหมาย ?
หลังจากที่ได้ทราบเกี่ยวกับลักษณะการบีบแตรที่ถูกกฎหมายกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สิ่งต่อไปที่ควรทราบก็คือการบีบแตรอย่างไรถือเป็นการใช้แตรรถที่ผิดกฎหมายและมีโทษทางกฎหมาย โดยการบีบแตรที่ห้ามทำเพราะจะผิดกฎหมาย มีดังนี้
- การบีบแตรเสียงดังลากยาว การบีบแตรเสียงดังลากยาวหรือการส่งสัญญาณเสียงแตรที่เกินกว่าเหตุจำเป็น (มักเกิดขึ้นในกรณีบีบเพื่อต่อว่าหรือเกิดข้อพิพาทกับรถอีกคันหนึ่ง) ถือว่าเป็นการผิดกฎหมายการบีบแตร เนื่องจากพระราชบัญญัติการจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 14 ระบุไว้ว่า การใช้เสียงสัญญาณ ผู้ขับขี่จะใช้ได้เฉพาะเมื่อจำเป็นหรือป้องกันอุบัติเหตุเท่านั้น แต่จะใช้เสียงยาวหรือซ้ำเกินควรไม่ได้ ซึ่งหากทำผิดมาตรา 14 วรรค 2 จะมีบทลงโทษตามมาตรา 150 (1) โดยมีโทษปรับ 500 บาท
- การบีบแตรเป็นจังหวะสามช่า การบีบแตรในลักษณะนี้ก็ถือเป็นการใช้แตรอย่างผิดจุดประสงค์เช่นกัน โดยจะผิดกฎหมายข้อเดียวกับการบีบแตรเสียงดังลากยาว คือพระราชบัญญัติการจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 14 การใช้เสียงสัญญาณ ผู้ขับขี่จะใช้ได้เฉพาะเมื่อจำเป็นหรือป้องกันอุบัติเหตุเท่านั้น แต่จะใช้เสียงยาวหรือซ้ำเกินควรไม่ได้ ซึ่งจะมีบทลงโทษตามมาตรา 150 (1) โดยมีโทษปรับ 500 บาท
การบีบแตรรถใน 2 ลักษณะดังกล่าวนอกจากจะผิดกฎหมายแล้วยังเสี่ยงต่อการเกิดข้อพิพาท เป็นต้นเหตุของการทะเลาะวิวาทจนเรื่องราวบานปลายใหญ่โตได้ ดังนั้นต้องหมั่นเตือนสติตัวเองเอาไว้ ใช้แตรรถอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และขับรถอย่างมีสติ ใจเย็นอยู่เสมอนั่นเอง
ข้อกฎหมายอื่น ๆ ที่ต้องทราบเกี่ยวกับแตรรถ
นอกจากจะมีการกำหนดลักษณะของการบีบแตรรถที่ผิดกฎหมายและมีบทลงโทษอย่างชัดเจนแล้ว ก็ยังมีข้อกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับแตรรถที่เราทุกคนควรที่จะรู้เอาไว้และควรปฏิบัติตามอย่างมีระเบียบวินัย โดยกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการใช้แตรรถที่ควรรู้ไว้มีดังนี้
- ห้ามแต่งเสียงแตรรถ/ห้ามใช้เสียงแตรรถเป็นเสียงไซเรน สำหรับบางคนที่ชื่นชอบความสนุกสนานแปลกใหม่ หรือต้องการให้การใช้แตรของตนเองนั้นโดดเด่นตกเป็นจุดสนใจจึงไปปรับแต่งเสียงแตรรถให้กลายเป็นเสียงอื่น ๆ หลากหลาย หรือบางรายอาจถึงขั้นปรับแต่งให้แตรรถกลายเป็นเสียงไซเรนเช่นเดียวกับรถตำรวจหรือรถพยาบาลนั้นถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เป็นการผิด พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ตามมาตรา 13 ที่กำหนดไว้ว่า ห้ามใช้เสียงไซเรน เสียงนกหวีด เสียงที่แตกพร่า หรือเสียงหลายเสียงที่ผสมกัน และมีความดังมากเกินไป จะมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท เนื่องจากเสียงที่มีลักษณะดังที่กล่าวไป ใช้ได้เฉพาะกับรถที่เป็นรถในราชการ รถฉุกเฉิน รถพยาบาล หรือรถตำรวจเท่านั้น เพื่อป้องกันการสับสนเวลาเร่งด่วน และกำหนดให้รถของบุคคลทั่วไปต้องใช้เสียงแตรที่มากับรถเท่านั้น ห้ามมีการปรับแต่งเพิ่มเติม
- แตรรถจะต้องได้ยินในระยะที่ไม่น้อยกว่า 60 หรือก็คือระดับความดังของแตรรถที่ถูกต้องตามกฎหมายนั้นจะต้องมีความดังที่ทำให้รถคันอื่น ๆ สามารถได้ยินภายในระยะที่ไม่น้อยกว่า 60 เมตร เพื่อเหตุผลทางด้านความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนและผู้สัญจรริมทาง ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 12 ที่ได้กำหนดเอาไว้ว่า เสียงแตรรถยนต์หรือรถมอเตอร์ไซค์ ต้องได้ยินในระยะที่ไม่น้อยกว่า 60 เมตร ถ้าฝ่าฝืนมีโทษปรับ 200 บาท กล่าวได้ว่าหากแตรรถของเราเสีย เสื่อมสภาพ ทำให้เสียงแตรไม่ดังแล้วนำรถมาใช้งานก็ถือว่าผิดกฎหมายนั่นเอง
ข้อกฎหมายเหล่านี้ถือเป็นข้อกฎหมายพื้นฐานที่ควรทราบ ไม่อย่างนั้นด้วยความไม่รู้อาจทำให้เผลอทำเรื่องผิดกฎหมายลงไปโดยไม่รู้ตัว ถึงเวลารับโทษมาการบอกว่าไม่รู้นั้นฟังไม่ขึ้นอย่างแน่นอน
และนี่ก็คือข้อกฎหมายที่ควรรู้เกี่ยวกับการใช้แตรรถยนต์ในชีวิตประจำวันของเรา ซึ่งเมื่อรู้ดังนี้แล้วก็ควรปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้เพื่อเป็นการดูแลรถยนต์ของเรา ต้องไม่ลืมที่จะทำประกันรถยนต์ กับ แรบบิท แคร์ เอาไว้ ไม่ว่าจะเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉินแค่ไหน ก็ไม่ต้องกังวลใจเรื่องความเสียหาย เพราะมี แรบบิท แคร์ ช่วยดูแล
สรุป
การบีบแตรเสียงดังลากยาว, การบีบแตรเป็นจังหวะสามช่า เหล่านี้จะถูกนับว่าเป็นการบีบแตรอย่างผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติการจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 14 วรรค 2 จะมีบทลงโทษตามมาตรา 150 (1) โดยมีโทษปรับ 500 บาท โดยการบีบแตรจะต้องใช้ในสถานการณ์จำเป็นหรือป้องกันอุบัติเหตุเท่านั้น ส่วนข้อกฎหมายอื่น ๆ ที่ควรรู้ เจ้าของรถห้ามแต่งเสียงแตรรถ, ห้ามใช้เสียงแตรรถเป็นเสียงไซเรน แต่ในขณะเดียวกัน แตรรถจะต้องได้ยินในระยะที่ไม่น้อยกว่า 60 ด้วย
ทำงานเกี่ยวข้องกับวงการประกันรถยนต์และยานยนต์มาตั้งแต่ปี 2019 ในหลากหลายตำแหน่งทั้ง SEO Specialist, Senior Executive, SEO / Web Analytics และ SEO Content Writer ในบริษัทประกันรถยนต์่และรถมือสองชั้นนำ นอกจากนั้น ยังเคยอยู่ในแวดวงสื่อมวลชนนานถึง 3 ปีในตำแหน่งนักข่าวไอทีนิตยสารชื่อดังแวดวง E-Commerce ด้านการศึกษาจบระดับชั้นปริญญาโท คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยนเรศวร และปริญญาตรี คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย