มอเตอร์ไซค์ล้ม “ไฮไซด์ (Highside)” และ “โลว์ไซด์ (Lowside)” ต่างกันยังไง?
เชื่อว่าเหล่าไบค์เกอร์ที่ชอบขี่มอเตอร์ไซค์ รวมถึงชอบดูการแข่งขันมอเตอร์ไซค์หลาย ๆ ท่าน คงเคยได้ยินคำว่า ไฮไซด์ และ โลว์ไซด์ ว่าแต่สองคำนี้คืออะไร แตกต่างกันอย่างไร autospinn จะพาคุณมาหาคำตอบกัน
“ไฮไซด์ (Highside)” และ “โลว์ไซด์ (Lowside)” ต่างกันยังไง?
มอเตอร์ไซค์เป็นยานพาหนะที่มีสองล้อ อาศัยการเคลื่อนที่เพื่อช่วยในการทรงตัว และอาศัยมุมเอียงของตัวรถในการเลี้ยว ทั้งสองสิ่งนี้จะต้องมีความสัมพันธ์กัน ในการขับขี่ไปตามเส้นทางต่างๆ อย่างปลอดภัย
ซึ่งมุมเอียงของตัวรถนั้น จะแปรผันตามความเร็วในการขับขี่เข้าโค้ง ยิ่งเราพยายามไปเร็วมากเท่าไหร่ มุมเอียงยิ่งต้องเพิ่มขึ้นมากเท่านั้น หากลองสังเกตุรายการแข่งขันมอเตอร์ไซค์ระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นโมโตจีพี หรือเวิลด์ซูเปอร์ไบค์ก็ดี นักแข่งล้วนมีมุมเอียงของรถมากจนเข่าและศอกถูไปกับพื้นสนาม เพื่อให้รถนั้นเลี้ยวโค้งไปได้ไวที่สุดนั่นเอง
แต่การขับขี่ในโค้งด้วยความเร็ว รวมถึงการใช้มุมเอียงมากๆ นั้น จะเกิดแรงเหวี่ยง หรือ G-force ที่มากขึ้นตามไปด้วย พร้อมกันนั้นหน้าสัมผัสของยางกับพื้นถนน(Contact patch) ก็น้อยลงด้วยเช่นกัน นั่นหมายความว่า มอเตอร์ไซค์ที่กำลังขับขี่อยู่มีความเสี่ยงที่จะสูญเสียการยึดเกาะ และเกิดอุบัติเหตุมากขึ้นนั่นเอง
การล้มของมอเตอร์ไซค์ขณะเลี้ยวโค้ง (การสูญเสียการยึดเกาะของรถและล้มไปเอง ไม่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุรถชนและอื่นๆ) นั้นแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ โลว์ไซด์ (Lowside) และไฮไซด์ (Highside) ซึ่งการล้มแต่ละแบบมีความแตกต่างกันดังนี้
-
โลว์ไซด์ (Lowside)
การล้มแบบโลว์ไซด์นั้น คือการล้มที่เราพบเห็นกันบ่อยที่สุดในการใช้รถใช้ถนน เนื่องจากสภาพพื้นผิวของถนนนั้นมีปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมหลายอย่าง ที่ทำให้การยึดเกาะนั้นน้อยลงไป เป็นเหตุให้ตัวรถที่เอียงอยู่นั้น สูญเสียการยึดเกาะถนน และล้มลงสู่พื้นในด้านที่ตัวรถนั้นเอียงอยู่
การล้มประเภทนี้มีความอันตรายน้อยกว่าการล้มแบบไฮไซด์ (Highside) เนื่องจากการล้มประเภทนี้ ผู้ขับขี่จะอยู่ในตำแหน่งที่ไม่สูงจากพื้นในขณะล้ม ทำให้เกิดแรงปะทะในแนวดิ่งระหว่างผู้ขับขี่และพื้นถนนน้อย อันตรายที่มาถึงผู้ขับขี่ส่วนมากจะเกิดจากการไถลไปกับพื้นถนน ซึ่งหากผู้ขับขี่ใส่อุปกรณ์ป้องกันที่รัดกุมแล้วล่ะก็ มักจะปลอดภัยจากการล้มแบบโลว์ไซด์(ที่ความเร็วไม่สูงมาก)
แต่ในกรณีที่โลว์ไซด์ในความเร็วสูง ถึงแม้ผู้ขับขี่จะใส่อุปกรณ์ป้องกันแบบเต็มยศ ก็มีโอกาสจะเกิดอันตรายจากการไถลไปกระแทกสิ่งปลูกสร้างด้านนอกโค้งหรือรถที่สวนมา เป็นเหตุให้เกิดอันตรายร้ายแรงหรือถึงขั้นสูญเสียชีวิตได้เช่นกัน
-
ไฮไซด์ (Highside)
การล้มประเภทนี้เป็นการล้มที่รุนแรงมากกว่าการล้มแบบโลว์ไซด์ ด้วยเหตุที่ไฮไซด์นั้น ตัวรถมักจะดีดและสะบัดรุนแรงจนเหวี่ยงผู้ขับขี่ลอยขึ้นไปในอากาศ ซึ่งหมายความว่าผู้ขับขี่จะมีแรงปะทะเข้ากับพื้นถนนที่รุนแรง และไม่สามารถควบคุมท่าทางของร่างกายได้ ส่วนมากแล้วการล้มประเภทนี้จะเกิดอาการบาดเจ็บรุนแรงแม้จะใส่ชุดป้องกันที่เต็มตัวก็ตาม
และนี่ก็คือการล้ม 2 ประเภทหลักๆ ของการขับขี่มอเตอร์ไซค์เข้าโค้ง ซึ่งไบค์เกอร์อย่างเราๆ คงเคยเห็นกันดีอยู่แล้ว
ต่อมาในส่วนของวิธีป้องกันนั้น ง่ายมาก ๆ และผมเชื่อว่าทุกคนทำได้ โดยไม่ต้องไปเสียตังค์ซื้อยางแพงๆ ซื้อโช้คอัพดีๆ ใส่ เพราะไม่ว่าคุณจะมีอุปกรณ์ที่เทพแค่ไหน คุณจะใส่ยางคู่ละหมื่น โช้คต้นละแสน กันสะบัดอะไรก็ช่วยคุณไม่ได้ หากคุณ “ใจร้อน” (จริงๆ ผมอยากจะใช้คำว่า “ห้าว” มากกว่า แต่มันก็จะดูดุดันเกินไปหน่อย 55+) ตรรกะง่ายๆ ก็คือเมื่อผู้ขับขี่ พยายามจะไปให้เร็ว จนเกินลิมิตของรถ เกินลิมิตของพื้นถนน ก็จะทำให้ยางมีการยึดเกาะไม่พอต่อแรงเหวี่ยงที่เกิดขึ้น ยางจะสูญเสียการยึดเกาะ และนำไปสู่อุบัติเหตุในที่สุด
เพราะฉะนั้นวิธีป้องกันอุบัติเหตุที่ดีที่สุดก็คือการ “ใจเย็น” เพียงแค่เราขับขี่ด้วยความเร็วที่เหมาะสมกับสภาพถนน สภาพโค้ง สภาพยางของรถเรา รู้ลิมิตรถ และลิมิตตัวเอง ก็จะทำให้เราขับขี่ได้อย่างปลอดภัยแล้วล่ะครับ และอีกสิ่งหนึ่งที่จะช่วยป้องกันการเกิดอุบัติเหตุได้ก็คือ “ทักษะ” เนื่องจากทักษะจะช่วยให้เราเอาตัวรอดได้มากขึ้นในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งปัจจุบันค่ายรถบิ๊กไบค์ทุกยี่ห้อ มีคอร์สเรียนเสริมทักษะให้ผู้ใช้ อยากให้ไบค์เกอร์ลองไปดูสักคอร์ส ไม่ว่าจะเป็นมือใหม่มือเก่าก็ตาม ผมเชื่อว่าคุณจะได้ความรู้ใหม่ๆ มาให้ปรับใช้กันแน่นอนครับ
สุดท้ายนี้ก่อนจะจากกันไป แอดปัญหวังว่าไบค์เกอร์ทุกคนจะหันมามองถึงความปลอดภัยกันมากขึ้น หันมามองถึงคนที่รอเราอยู่ที่บ้าน ที่เขารอเราให้กลับไปถึงบ้านอย่างปลอดภัย อย่าเอาแต่สนุก คึกคะนอง เพราะไม่ว่าคุณจะขี่เก่งขนาดไหน อุบัติเหตุก็เกิดขึ้นได้เสมอ สาระดี ๆ จาก autospinn
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
- รู้แล้วต้องระวัง! ขับขี่แบบนี้เสี่ยงอันตราย มอเตอร์ไซค์ล้ม
- ขับรถมอเตอร์ไซค์ช่วงหน้าร้อน ต้องระวังอะไรบ้าง
ทีมกองบรรณาธิการ กลุ่มนักเขียนผู้มีประสบการณ์ด้านรถยนต์ การเงิน และประกันภัย ของ แรบบิท แคร์ ที่เปิดดำเนินการมาแล้วมากกว่า 10 ปี