อัปเดต โรคที่ห้ามทำใบขับขี่ ทั้งแบบชั่วคราวและถาวร
สำหรับผู้ขับขี่ยานยนต์นั้น ใบขับขี่ เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เพราะเป็นสิ่งที่ช่วยยืนยันได้ว่าบุคคลนี้ได้ผ่านการสอบและอบรมเรื่องข้อปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้รถใช้ถนนมาอย่างถูกต้อง และสามารถขับขี่ยานยนต์ได้ตามกฎหมาย หากมีการตรวจพบว่าผู้ขับขี่คนไหนที่ไม่มีใบขับขี่ หรือใบขับขี่หมดอายุแล้ว แต่ไม่ได้ต่ออายุใหม่ ผู้ขับขี่ท่านนั้นอาจได้รับบทลงโทษตามข้อกำหนดของทางกรมขนส่งฯ
ถ้าคุณเป็นอีกคนหนึ่งที่กำลังวางแผนจะสอบใบขับขี่ ไม่ว่าจะเป็นการทำใบขับขี่เป็นครั้งแรก หรือเป็นการต่ออายุใบขับขี่ อย่าลืมอัปเดตข้อมูลใหม่ ๆ เกี่ยวกับการทำใบขับขี่ โดยล่าสุดในปี พ.ศ. 2564 นี้ ได้มีประกาศเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคหรืออาการเจ็บป่วยของผู้ที่ต้องการทำใบขับขี่ จะมีโรคใดที่เป็นข้อยกเว้นบ้าง สามารถอัปเดตที่บทความนี้ได้เลย
อัปเดต โรคแบบไหนบ้าง ที่ไม่อนุญาตให้ทำใบขับขี่
หากจะกล่าวถึงโรคหรืออาการบางอย่าง ที่เป็นข้อห้ามในผู้ที่ต้องการทำใบขับขี่ ในที่นี้จะขอแยกออกเป็น 2 กรณี เพราะมีทั้งกรณีที่เป็นชั่วคราว จึงถูกงดเว้นไม่ให้ทำใบขับขี่และไม่อนุญาตให้ขับขี่ยานยนต์เป็นระยะเวลาชั่วคราว และในอีกกรณีหนึ่งคือการเป็นโรคหรือมีอาการอันตราย อันเป็นเหตุให้ไม่สามารถทำใบขับขี่ได้ตลอดชีพ โดยจะอธิบายแยกตามกรณีได้ดังต่อไปนี้
กรณีที่ไม่สามารถทำใบขับขี่ได้ชั่วคราว
สำหรับกรณีนี้ จะเป็นกรณีที่ผู้ขับขี่มีอาการป่วยด้วยโรคบางอย่างที่สามารถบำบัดหรือรักษาให้หายขาดได้ รวมถึงผู้ขับขี่ที่กระทำผิดกฎแล้วกำลังอยู่ระหว่างการรับบทลงโทษตามกฎหมาย ได้แก่
- ผู้ขับขี่ที่อยู่ระหว่างการถูกยึดใบขับขี่
- ผู้ที่ถูกเพิกถอนใบขับขี่
- ผู้ที่ติดสุราหรือยาเสพติด
- ผู้ที่เคยต้องโทษจากการใช้รถ
- ผู้ที่มีอาการของโรคติดต่ออันเป็นที่น่ารังเกียจ
ผู้ที่มีลักษณะดังกล่าว จะสามารถสอบใบขับขี่ได้อีกครั้งเมื่อพ้นโทษครั้งสุดท้าย ออกมาเป็นระยะเวลา 6 เดือนขึ้นไป หรือได้รับการยืนยันได้ว่าหายขาดจากอาการของโรคนั้น ๆ แล้ว
กรณีที่ไม่สามารถทำใบขับขี่ได้ตลอดชีพ
ผู้ที่มีความประสงค์จะสอบใบขับขี่บางคน หากทางเจ้าหน้าที่ฯ ตรวจพบว่ามีอาการของโรคดังต่อไปนี้ จะไม่สามารถทำใบขับขี่ได้ตลอดชีพ
- ผู้ที่มีร่างกายทุพพลภาพจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่หรือประกอบอาชีพได้
- ผู้ที่มีอาการทางจิต บุคคลวิกลจริต
- ผู้ที่มีอาการติดยาเสพติด หรือมีอาการของโรคพิษสุราเรื้อรัง
- ผู้ที่มีอาการของโรคเรื้อน หรือโรคติดต่อในระยะปรากฎอาการอันเป็นที่รังเกียจแก่สังคม
- ผู้ที่มีอาการของโรคเท้าช้างในระยะปรากฎอาการอันเป็นที่รังเกียจแก่สังคม
- ผู้ที่มีอาการของวัณโรคในระยะอันตราย
- ผู้ที่มีอาการของโรคลมชักต่อเนื่องภายใน 1ปี
เนื่องจากอาการของโรคดังกล่าวนั้น เป็นอาการที่เพิ่มความเสี่ยงอันตรายในการขับขี่ยานยนต์ ทั้งตัวผู้ขับขี่เอง ไปจนถึงผู้ที่โดยสารมาด้วย และผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่น ๆ ที่อาจได้รับความเสียหายทางชีวิตและทรัพย์สิน
***โรคลมชัก เป็นโรคที่ถูกเพิ่มเข้ามาในข้อกำหนดนี้ เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2564 ที่ผ่านมา
อัปเดตล่าสุด! ทำใบขับขี่ใหม่ต้องมีใบรับรองแพทย์
สำหรับผู้ใช้งานยานยนต์ใด ๆ ที่ต้องการสอบใบอนุญาตขับขี่ หรือต้องการต่ออายุใบขับขี่ ให้ใบขับขี่อยู่ในสถานะที่ใช้งานได้ ล่าสุด (ปี พ.ศ. 2564) กรมการขนส่งทางบก ได้ออกกำหนดให้การขอรับหรือการต่ออายุใบขับขี่ ต้องมีเอกสารรับรองแพทย์มาเป็นหลักฐานประกอบการขอทำใบขับขี่ โดยเอกสารรับรองจะประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่
- เอกสารส่วนที่ผู้ขอทำใบขับขี่รับรองสุขภาพของตนเอง
- เอกสารส่วนของแพทย์ที่ตรวจรับรอง และแสดงให้เห็นว่าผู้ขอตรวจไม่มีโรคประจำตัวหรือสภาวะของโรคที่เล็งเห็นว่าเป็นอันตรายกับการขับขี่ยานยนต์
เหตุผลที่มีการเปลี่ยนแปลงให้นำใบรับรองแพทย์มาเป็นหลักฐานประกอบในการทำใบขับขี่และต่ออายุใบขับขี่อย่างเช่นในปัจจุบันนี้ เนื่องจากว่าในรูปแบบเดิมนั้นผู้ขับขี่อาจผ่านการสอบใบขับขี่มาได้ แต่เมื่อเวลาผ่านมา สมรรถภาพร่างกายอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปตามอายุของผู้ขับขี่ และอาจมีโรคประจำตัวเพิ่มขึ้นได้ ทางกรมฯ จึงจำเป็นต้องออกข้อกำหนดให้ผู้ขอทำใบขับขี่ต้องมีใบรับรองแพทย์มาใช้เป็นหลักฐานก่อนในเบื้องต้น หลังจากนั้นจะมีการทดสอบสมรรถภาพร่างกายที่จำเป็นต่อการขับขี่ยานยนต์ เช่น การทดสอบการมองเห็นสี, การทดสอบสายตาทางลึก, การทดสอบสายตาทางกว้าง และการทดสอบปฏิกิริยา เพื่อให้แน่ใจอีกครั้งว่ายังสามารถขับขี่ยานยนต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยคุณสามารถแจ้งวัตถุประสงค์ในการขอใบรับรองแพทย์ได้เลย เพื่อให้แพทย์ได้ทำการออกใบรับรองให้มีความถูกต้องตรงกับวัตถุประสงค์ของการใช้งาน
หากคุณกำลังวางแผนที่จะไปทำใบขับขี่ ก็อย่าลืมเตรียมตัวและเตรียมเอกสารให้พร้อม เพื่อให้ง่ายต่อการดำเนินการ และเมื่อมีใบขับขี่แล้ว ก็อย่าลืมต่อประกันรถยนต์ เพื่อความพร้อมในการใช้งานรถยนต์ และเพื่อความมั่นใจสูงสุดในทุกการขับขี่
บทความแนะนำอื่น ๆ
Thirakan Thongseenual เป็นนักเขียนที่มีประสบการณ์มากกว่า 3 ปี ที่ RabbitCare และ Asia Direct โดยมีความชำนาญในประกันรถยนต์ เน้นเขียนบทความที่เผยแพร่บน Blog และมีความเชี่ยวชาญด้าน SEO กว่า 4 ปี ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอได้ใช้ในการสร้างความรู้และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของ RabbitCare อย่างมีประสิทธิภาพ จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ปริญญาตรี สาขา Information Technology