ทำใบขับขี่สากล สำหรับการขับขี่ยานยนต์ในต่างประเทศ ต้องทำอย่างไรบ้าง?
สำหรับผู้ที่ขับขี่ยานยนต์นั้น การทำใบขับขี่ก็เป็นเรื่องปกติที่ทุกคนต้องสมัครและทำการสอบให้ผ่านเพื่อให้ได้รับใบอนุญาตในการขับขี่ยานยนต์บนท้องถนนได้อย่างถูกกฎหมาย
ซึ่งการได้รับใบอนุญาตขับขี่ (ใบขับขี่) นั้นก็จำกัดแค่เพียงการใช้งานยานยนต์ในประเทศไทยเท่านั้น แล้วถ้าต้องการขับขี่ยานยนต์ในต่างประเทศบ้างล่ะ จะต้องทำอย่างไร? Rabbit Care จะบอกคุณในบทความนี้ ตามมาอ่านกันได้เลย
ทำใบขับขี่สากล สำหรับขับขี่ในต่างประเทศได้อย่างถูกต้อง
สำหรับคนไทยที่ต้องการเช่ารถขับเองเมื่อเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ หรือคนที่ต้องย้ายไปอยู่ต่างประเทศ แล้วต้องการใช้รถยนต์ รถจักรยานยนต์ สิ่งที่จำเป็นสำหรับผู้ที่มีความประสงค์ใช้งานรถยนต์ต่างประเทศก็คือการทำใบขับขี่สากล เพื่อการเดินทางสัญจรได้อย่างสะดวกและถูกกฎหมาย หากคุณไปต่างประเทศแล้วขับรถยนต์ออกไปเที่ยวโดยที่ไม่มีใบขับขี่สากล เมื่อเจอเจ้าหน้าที่เรียกตรวจแล้วไม่มีใบขับขี่ไปแสดงให้เขาดูก็อาจถูกปรับเป็นเงินจำนวนมาก บอกเลยว่าคราวนี้ต่อให้มีใบขับขี่ภายในประเทศ (ประเทศไทย) ก็คงช่วยให้รอดจากการโดนปรับไม่ได้นะ
เพราะกฎจราจรของแต่ละประเทศก็จะมีด้านที่เหมือนกันและแตกต่างกันออกไปการทำใบขับขี่สากล จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ขับขี่ยานยนต์ต่างประเทศต้องทำ เพื่อให้มั่นใจได้ว่ามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎจราจรในต่างประเทศ และสามารถใช้รถยนต์ได้อย่างปลอดภัย
“ใบขับขี่ระหว่างประเทศ” หรือที่เรียกกันว่า ใบขับขี่สากล เป็นเอกสารที่ใช้สำหรับการยืนยันตัวตนของผู้ขับขี่ เพื่อให้ผู้ถือใบอนุญาตนี้สามารถขับขี่ยานยนต์ในประเทศที่ไม่ใช่ประเทศบ้านเกิด/ภูมิลำเนา ซึ่งเป็นประเทศที่ได้ทำภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการจราจรทางถนน พ.ศ. 2492 ร่วมกับประเทศไทย ซึ่งรวมแล้วมีทั้งหมด 105 ประเทศ/เขต (ตรวจสอบประเทศที่เข้าร่วมได้ที่ www.dlt.go.th)
ทำใบขับขี่สากล ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง?
หากคุณกำลังเตรียมตัวไปต่างประเทศ และคิดว่าต้องใช้รถยนต์ที่ต่างประเทศด้วย ให้เตรียมเอกสารดังต่อไปนี้ เพื่อนำไปยื่นขอทำใบขับขี่สากล
- สำเนาหนังสือเดินทาง เล่มที่ใช้ในการเดินทาง ประวัติของหน้าที่แก้ไข พร้อมฉบับจริง (ยังไม่หมดอายุการใช้งาน)
- บัตรประจำตัวประชาชน (ตัวจริง)
- ใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคล แบบ 5 ปี หรือแบบตลอดชีพ/ใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ/ใบอนุญาตขับรถยนต์สามล้อสาธารณะ/ใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคล/ใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล แบบ 5 ปี หรือแบบตลอดชีพ/ใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์สาธารณะฉบับจริง/ใบอนุญาตเป็นผู้ประจำรถตามกฎหมาย ว่าด้วยกรมการขนส่งทางบก ที่ยังไม่สิ้นอายุ หรือใช้ใบแทนใบอนุญาตดังกล่าว แล้วแต่กรณี
- รูปถ่ายขนาด 2 นิ้ว จำนวน 2 รูป (รูปถ่ายไม่เกิน 6 เดือน ถ่ายแบบหน้าตรง ไม่สวมหมวกหรือสวมแว่นตาสีเข้ม และไม่มีภาพวิวด้านหลังรูป)
- หากมีการเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล ให้นำสำเนาหลักฐานการเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล มาแสดงกับเจ้าหน้าที่ด้วย
- หากมีการเปลี่ยนแปลงสถานะการสมรส ให้นำสำเนาทะเบียนสมรส-ใบหย่า มาแสดงกับเจ้าหน้าที่ด้วย
- เงินค่าธรรมเนียมในการดำเนินการ 505 บาท
ขั้นตอนดำเนินการขอใบขับขี่
- ตรวจสอบเอกสารที่ต้องใช้
- จองคิวเพื่อรอดำเนินการทำใบขับขี่สากล ผ่านแอปพลิเคชั่น DLT Smart Queue หรือจองคิวผ่านเว็บไซต์ https://gecc.dlt.go.th
- ชำระค่าธรรมเนียม (ปิดรับการชำระเงิน 15.30 น.)
- เจ้าหน้าที่จัดทำต้นขั้วใบขับขี่ และจัดทำใบขับขี่
กรณีที่ผู้มีความประสงค์ขอทำใบขับขี่ ไม่สามารถมาดำเนินการด้วยตนเอง ให้ผู้ที่มาดำเนินการแทนเตรียมเอกสารดังต่อไปนี้มาด้วย
- ใบมอบอำนาจ ติดอากรแสตมป์ 10 บาท
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ พร้อมตัวจริง
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจ
- ผู้มอบอำนาจลงลายมือชื่อรับรองสำเนาเอกสารที่เป็นหลักฐานทุกฉบับ
ใบขับขี่สากล มีอายุการใช้งานกี่ปี?
สำหรับคนที่ทำใบขับขี่สากลเรียบร้อยแล้ว จะสามารถใช้ได้เป็นเวลา 1 ปี นับจากวันที่กรมการขนส่งทางบกออกใบขับขี่ให้ ดังนั้น หากต้องการจะไปเที่ยวต่างประเทศแล้วหาบริการเช่ารถขับเที่ยว แนะนำให้เช็กวันหมดอายุของใบขับขี่สากลให้ดีเสียก่อน หากหมดอายุแล้วให้ดำเนินการเพื่อขอต่ออายุใบขับขี่ใหม่ หรือเลือกใช้บริการเช่ารถพร้อมคนขับที่ต่างประเทศไปเลย เพื่อป้องกันความเสี่ยงอันตรายและไม่เป็นการกระทำผิดกฎจราจรด้วย
ไม่ว่าจะเป็นการขับขี่ในพื้นที่ใด ๆ นอกเหนือจากใบขับขี่แล้ว สิ่งที่ผู้ขับขี่ยานยนต์ต้องมีอยู่เสมอคือการเคารพกฎจราจร ขับขี่อย่างไม่ประมาท มีน้ำใจแก่เพื่อนร่วมทาง เพื่อให้ถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างปลอดภัย แล้วอย่าลืมเลือกผ่อนประกันรถยนต์ที่มีความครอบคลุม เพื่อช่วยรองรับความเสี่ยงอีกทางหนึ่ง ให้คุณได้มั่นใจทุกการขับขี่
บทความเกี่ยวกับใบขับขี่อื่นๆ
ทีมกองบรรณาธิการ กลุ่มนักเขียนผู้มีประสบการณ์ด้านรถยนต์ การเงิน และประกันภัย ของ แรบบิท แคร์ ที่เปิดดำเนินการมาแล้วมากกว่า 10 ปี