รู้จักกับรายจ่ายผันแปร ลดได้...ก็เก็บเงินง่ายขึ้น!
สำหรับใครที่เก็บเงินไม่ค่อยอยู่ ทำงานได้เงินมาก็ใช้หมดลองมาฟังทางนี้ แรบบิท แคร์ จะขอแชร์วิธีเก็บเงินให้ได้ผลจริงและเห็นผลง่าย ๆ สามารถทำได้ด้วยตัวเองกับการ "ลดรายจ่ายผันแปร" หนึ่งในตัวการที่ทำให้เงินคุณสูญออกจากกระเป๋าสตางค์มากที่สุด แต่จะมีขั้นตอนหรือวิธีการลดรายจ่ายผันแปรอย่างไร ลดรายจ่ายผันแปรแล้วจะเก็บเงินได้ง่ายขึ้นจริงหรือไม่ น้องแคร์จะมาอธิบายให้กระจ่างดังนี้
รายจ่ายผันแปรคืออะไร?
ก่อนอื่นเราขออธิบายให้ทุกท่านเข้าใจกันชัด ๆ ก่อนว่ารายจ่ายผันแปรนั้นคืออะไร เพื่อให้ได้วางแผนบริหารจัดการเงินถูกต้อง เราจะนิยามให้ทุกท่านเข้าใจง่าย ๆ ว่า รายจ่ายผันแปรก็คือ รายจ่ายที่ไม่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของคุณมากนัก เป็นรายจ่ายที่ไม่ได้เกิดขึ้นซ้ำ ๆ เป็นประจำทุกวันเพื่อการดำรงชีพ คุณสามารถลดทอนหรือตัดรายจ่ายนี้ออกไปจากชีวิตได้ หรืออาจเรียกว่ารายจ่ายผันแปรนั้นเป็นรายจ่ายสำหรับบริการหรือสินค้าฟุ่มเฟือยก็ได้เช่นกัน ยกตัวอย่างรายจ่ายผันแปรที่เห็นได้ชัดคือ รายจ่ายจากการรับประทานอาหารแพง ๆ รายจ่ายจากการซื้อของเล่นสะสม รายจ่ายจากการช้อปปิ้งของประดับบ้าน รายจ่ายสำหรับซื้อสิ่งบันเทิงต่าง ๆ เป็นต้น
รายจ่ายผันแปรนั้นจะตรงข้ามกับรายจ่ายคงที่
เนื่องจากรายจ่ายคงที่จะเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็น คุณต้องจ่ายซ้ำเป็นจำนวนเท่าเดิมติดต่อกันหลาย ๆ วันเพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้ หากคุณไม่จ่ายหรือลดรายจ่ายคงที่ลงย่อมส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตแน่นอน เช่น ค่ารถเดินทางไปทำงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าอาหารทุกมื้อ ค่าผ่อนชำระสิ่งของต่าง ๆ เป็นต้น กล่าวได้ว่าคือรายจ่ายคงที่จะแตกต่างกับรายจ่ายผันแปรอย่างสิ้นเชิง
ลดรายจ่ายผันแปรจะช่วยให้เงินเก็บมากขึ้นได้อย่างไร?
เบื้องต้นเราต้องอธิบายให้เข้าใจกันก่อนว่าการที่คุณจะเก็บเงินได้มากหรือน้อยเพียงใดนั้นขึ้นกับปัจจัยสองประการนั่นก็คือ "รายรับ" และ "รายจ่าย" เมื่อคุณทำงานหาเงินมาเป็นรายได้ในจำนวนต่าง ๆ และหักลบกับรายจ่ายในแต่ละเดือนออกก็จะเหลือเป็นเงินเก็บของคุณ หากคุณมีรายรับมากก็จะได้เปรียบเรื่องการเก็บเงิน แต่ในขณะเดียวกันหากคุณมีรายจ่ายมากก็จะยิ่งเป็นอุปสรรคต่อการเก็บเงินด้วย ให้จำไว้เป็นกฎเหล็กเลยว่าในแต่ละเดือนคุณต้องบริหารให้รายรับมากกว่ารายจ่ายทั้งหมด แล้วคุณก็จะเห็นผลงอกเงยจากการมีเงินเก็บในแต่ละเดือน ในทางกลับกันแม้ว่าคุณจะมีรายรับมากแต่ถ้าใช้จ่ายจนไม่เหลือเก็บหรือปล่อยให้มีรายจ่ายที่สูงกว่ารายรับ คุณก็จะไม่มีเงินเก็บแน่นอน
อย่างที่กล่าวไปคือในชีวิตของเรามีการแบ่งรายจ่ายออกเป็นสองประเภทคือรายจ่ายคงที่และรายจ่ายผันแปร แน่นอนว่ารายจ่ายคงที่นั้นเป็นเรื่องที่คุณจะลดหรือเลิกจ่ายเพราะจะส่งผลให้คุณใช้ชีวิตยากลำบากขึ้น ทางที่ทำได้ง่ายที่สุดก็คือต้องลดในส่วนรายจ่ายผันแปรนั่นเอง แน่นอนว่ารายจ่ายผันแปรนั้นมักเป็นค่าใช้จ่ายที่ซื้อความสุขให้คุณได้ ทำให้คุณไม่เครียดและรู้สึกสบายใจเมื่อได้ใช้ แต่ถ้าคุณมีรายจ่ายในส่วนนี้มากเกินความจำเป็น คุณก็จะไม่มีเงินสำรองในเวลาฉุกเฉิน จากความสุขที่ได้รับก็อาจกลายเป็นความทุกข์ของคุณในวันข้างหน้าได้เช่นกันดังนั้น หากคุณคิดว่าเงินเก็บของคุณไม่เพียงพอหรืออยากเก็บเงินให้มากขึ้นกว่าเดิม ก็ให้ลองลดรายจ่ายผันแปรลง ให้รวมรายจ่ายทั้งหมดนั้นน้อยกว่ารายรับ
รายจ่ายผันแปรมีอะไรบ้าง?
เพื่อให้ทุกคนได้เห็นภาพอย่างเช่นกันเราจะขอยกตัวอย่างของรายจ่ายผันแปรให้เข้าใจกัน ซึ่งต้องบอกก่อนว่ารายจ่ายผันแปรนั้นไม่มีการกำหนดนิยามตายตัว แต่จะเป็นการใช้จ่ายเงินซื้อในสิ่งที่คุณไม่ต้องซื้อก็ได้ โดยส่วนมากคนทั่วไปมักมีรายจ่ายผันแปรตามประเภทดังนี้
- รายจ่ายจากการซื้อความบันเทิง เช่น การจ่ายเงินซื้อทีวีเครื่องใหม่ ซื้อเครื่องเสียง ซื้อตั๋วชมภาพยนตร์ ซื้อตั๋วดูคอนเสิร์ต จ่ายค่าสมาชิกดูหนังออนไลน์ เป็นต้น
- รายจ่ายจากการท่องเที่ยว เช่น การเดินทางท่องเที่ยวทางทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นต้น
- รายจ่ายจากการช้อปปิ้ง เช่น ช้อปปิ้งซื้อของออนไลน์ ซื้อกระเป๋า เสื้อผ้า รองเท้า นาฬิกา เป็นต้น
- รายจ่ายจากการบริโภค เช่น การทานบุฟเฟ่ อาหารโอมากาเสะ ชา กาแฟ บิงซู เป็นต้น
จะเห็นได้ว่ารายจ่ายผันแปรเหล่านี้เป็นรายจ่ายที่คุณหักห้ามใจงดเว้นได้โดยไม่ส่งผลต่อการดำรงชีวิต แน่นอนว่าการจ่ายเงินเพื่อซื้อของเหล่านี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความสุขส่วนตัว แต่สิ่งที่คุณต้องคำนึงคืออย่าใช้จ่ายให้มากเกินความพอดี เพราะหากรายจ่ายผันแปรเหล่านี้รวมกับรายจ่ายคงที่แล้วมากกว่ารายรับเมื่อไหร่ ก็จะทำให้คุณไม่มีเงินเหลือเก็บนั่นเอง
แนวทางลดรายจ่ายผันแปร
อย่างที่กล่าวไปว่าการลดรายจ่ายผันแปรจะช่วยให้คุณมีเงินเก็บเพิ่มมากขึ้น แต่ประเด็นคือการลดรายจ่ายผันแปรนั้นเป็นเรื่องยากสำหรับใครหลายคน ดังนั้นแรบบิท แคร์ จึงมาแนะเทคนิคการลดรายจ่ายผันแปรดังนี้
1. เริ่มคำนวณรายรับ-รายจ่ายในแต่ละเดือน
เบื้องต้นให้คำนวณรายรับหักรายจ่ายทั้งหมดในแต่ละเดือนก่อนว่ามีเงินเหลือเท่าไหร่ จากนั้นพิจารณาหักลบค่าใช้จ่ายคงที่ออกเพื่อดูว่าในแต่ละเดือนคุณหมดไปกับรายจ่ายผันแปรเป็นจำนวนเท่าใด เช่น นายยุทธิ์ มีรายรับต่อเดือนที่ 20,000 บาท มีรายจ่ายทั้งหมด 19,000 บาท โดยแบ่งเป็นรายจ่ายคงที่ 10,000 บาท และรายจ่ายผันแปร 9,000 บาท จากการคำนวณนายยุทธิ์จะมีเงินเก็บเพียงเดือนละ 1,000 บาท เท่านั้น หากต้องการมีเงินเก็บเพิ่ม ก็ต้องลดรายจ่ายผันแปรลงให้มากกว่านี้นั่นเอง
2. ลดรายการค่าใช้จ่ายที่จำเป็นน้อยที่สุดออก
ลองพิจารณาว่าในแต่ละเดือนคุณมีรายจ่ายผันแปรอะไรบ้าง พร้อมตั้งเป้าว่าจะลดรายจ่ายให้มากกว่าเดือนที่ผ่านมา โดยตัดการจ่ายที่คิดว่าจำเป็นน้อยที่สุดสำหรับคุณออกก่อน เช่น หากพบว่าตนเองมีค่าใช้จ่ายหมดไปกับการซื้อเสื้อผ้า แต่ความเป็นจริงเสื้อผ้าที่คุณใส่ได้ก็ยังมีอยู่มากมาย ก็ให้ลดรายจ่ายส่วนนี้ลง เป็นต้น
3. อย่าให้ "ความอยาก" ชี้นำคุณ
ให้พิจารณาว่าสิ่งของชิ้นไหนที่จำเป็นต่อคุณจริง ๆ ให้เลือกซื้อของชิ้นนั้นมาใช้ก่อน แต่ถ้าของชิ้นไหนที่มีแค่ความอยากได้แต่ไม่ได้มีความจำเป็นต้องใช้งานขนาดนั้น ก็ต้องหักห้ามใจไม่ให้ใช้จ่ายเกินความจำเป็น หากของชิ้นไหนที่มีแล้วและยังใช้งานได้อยู่ก็ไม่มีความจำเป็นต้องซื้อเพิ่ม
4. ซื้อของตอนมีส่วนลด
หากมีของที่คุณต้องการจริง ๆ แนะนำให้คุณซื้อตอนที่สินค้าลดราคา หรือมีโปรโมชั่นแถมอื่น ๆ ซึ่งจะช่วยให้คุณประหยัดไปได้มาก ตัวอย่างเช่น การช้อปปิ้งในวันที่ 2 เดือน 2 หรือจะซื้อช่วง Mid year Sale ก็จะอาจทำให้คุณได้ของถูกลง 30-70%
5. หมั่นบันทึกรายการค่าใช้จ่ายทั้งหมด
เป็นการตรวจสอบตัวเองว่าในแต่ละเดือนมีค่าใช้จ่ายผันแปรรายการใดบ้าง และเหลือเงินเก็บเท่าใด เพื่อเข้าใจที่มาของรายจ่ายทั้งหมด หากรายจ่ายยังเยอะอยู่ก็ให้ตั้งเป้าลดในเดือนถัดไป
6. บัตรเครดิตช่วยได้ ถ้าใช้เป็น!
การซื้อของในยุคนี้หากจ่ายด้วยบัตรเครดิตที่ร่วมรายการก็จะมอบประโยชน์ให้คุณได้ เช่นการสมัครบัตรเครดิตที่ให้เครดิตเงินคืน หรือบัตรเครดิตสะสมแต้มที่สามารถนำไปแลกของรางวัลได้ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้คุณประหยัดเงิน แต่ทั้งนี้คุณต้องมีวินัยในการใช้เงินให้ดี อย่าใช้จ่ายเงินเกิดตัวจนรูดบัตรจนเพลิน ไม่เช่นนั้นจากเครื่องมือที่จะช่วยคุณประหยัดจะทำให้คุณกลายเป็นหนี้สะสมเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน
จะเห็นได้ว่าหากลดรายจ่ายผันแปรได้ก็จะช่วยให้คุณมีเงินเก็บได้จริง สามารถทำได้ง่ายโดยไม่ต้องพึ่งใคร และท้ายที่สุดหากคุณมีความสนใจอยากลดภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เราก็แนะนำว่าให้สมัครบัตรเครดิตที่ให้เครดิตเงินคืนสักใบ รูดซื้อของเมื่อไหร่ก็ได้เงินคืนกลับ นับว่าเป็นเครื่องมือช่วยให้คุณมีเงินเก็บมากขึ้น แต่ถ้ายังไม่รู้ว่าจะเลือกบัตรเครดิตเงินคืนแบบไหนดี สามารถเปรียบเทียบบัตรที่โดนใจกับเราแรบบิท แคร์ เปรียบเทียบง่ายภายใน 30 วินาที หรือติดต่อเข้ามาสอบถามได้ที่ Care Center ตลอด 24 ชั่วโมง
บัตรเครดิตที่ แรบบิท แคร์ แนะนำ