กฎหมายห้ามนั่งแคปมีรายละเอียดโดยสรุปอย่างไรบ้าง?
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 139 ตอนที่ 28 ก หน้า 5 ลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2565 เผยแพร่ประกาศพระราชบัญญัติจราจรทางบก ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2565) มีผลบังคับใช้เมื่อพ้น 120 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2565 เป็นต้นไป โดยมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายห้ามนั่งแคปหรือติดตั้งเข็มขัดนิรภัยแคปดังต่อไปนี้
การคาดเข็มขัดนิรภัยจะบังคับเฉพาะรถที่นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน โดยผู้โดยสารทั้งแถวตอนหน้า แถวตอนหลังทุกที่นั่งต้องรัดเข็มขัดนิรภัย ในส่วนของแคปไม่ต้องคาดเข็มขัดนิรภัย เพียงแต่ต้องมีผู้โดยสารไม่เกิน 3 คน เพื่อลดความแออัด และอันตรายเมื่อเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงการกำหนดความปลอดภัยสำหรับเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ที่ผู้ปกครองหรือผู้ขับขี่จะต้องจัดหาที่นั่งนิรภัย (คาร์ซีท) ให้นั่งตลอดระยะเวลาที่นั่งโดยสารตามมาตรา 123 ภายใต้บังคับมาตรา 123/1 มีรายละเอียดโดยสรุปเกี่ยวกับกฎหมายห้ามนั่งแคปดังนี้
- ผู้ขับขี่ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งตลอดเวลาในขณะขับรถยนต์
- ผู้โดยสารที่นั่งแถวตอนหน้าและที่นั่งแถวตอนอื่น ต้องรัดร่างกายด้วย เข็มขัดนิรภัย ไว้กับที่นั่งตลอดเวลาในขณะโดยสารรถยนต์
- ผู้โดยสารเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องจัดให้นั่งในที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก หรือนั่งในที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กเพื่อป้องกันอันตราย หรือมีวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ
- ผู้โดยสารที่สูงไม่เกิน 135 เซนติเมตร ต้องรัดร่างกายด้วย เข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่ง หรือมีวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะนั่งแถวตอนใด
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่อยู่ในรถยนต์ทั้งผู้ขับขี่ และผู้โดยสารที่นั่งแถวตอนหน้าและที่นั่งแถวตอนอื่น ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยตลอดเวลาที่โดยสารรถยนต์ เว้นแต่มีเหตุผลด้านสุขภาพอันไม่สามารถรัดร่างกายด้วย เข็มขัดนิรภัย ไว้กับที่นั่งได้ หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายห้ามนั่งแคปจะต้องถูกระวางโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 2,000 บาท
รายละเอียดกฎหมายห้ามนั่งแคปมีอะไรบ้าง?
พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2565
มาตรา 7 ให้ยกเลิกความในมาตรา 123 แห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 14/2560 เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก ลงวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2560 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 123 ภายใต้บังคับมาตรา 123/1 ในขณะขับรถยนต์ ผู้ที่อยู่ในรถยนต์ต้องปฏิบัติ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
- (1) ผู้ขับขี่ ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งตลอดเวลาในขณะขับรถยนต์
- (2) คนโดยสาร
- (ก) คนโดยสารที่นั่งแถวตอนหน้าและที่นั่งแถวตอนอื่น ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัย ไว้กับที่นั่งตลอดเวลาในขณะโดยสารรถยนต์
- (ข) คนโดยสารที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องจัดให้นั่งในที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก หรือนั่งในที่นั่งพิเศษ สำหรับเด็กเพื่อป้องกันอันตราย หรือมีวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ
- (ค) คนโดยสารที่มีความสูงไม่เกินหนึ่ง 135 เซนติเมตร ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่ง หรือมีวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะนั่งแถวตอนใด ในกรณีที่ผู้ขับขี่หรือคนโดยสารมีเหตุผลทางสุขภาพอันไม่สามารถรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งได้ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง แต่บุคคลนั้นต้องมีวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ
ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กและที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กเพื่อป้องกันอันตรายตาม (2) (ข) และวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้ ให้เป็นไปตามที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ประกาศกำหนด
บทบัญญัติตามมาตรานี้มิให้ใช้บังคับกับผู้ที่อยู่ในรถสามล้อ รถบดถนน รถแทรกเตอร์ และ รถใช้งานเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ และรถยนต์อื่นที่ไม่ต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัย ตามที่อธิบดีกรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด
มาตรา 8 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 123/1 มาตรา 123/2 และมาตรา 123/3 แห่งพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 123/1 ในการใช้รถนั่งสองแถว รถบรรทุกคนโดยสารขนาดเล็กที่มีการจัดที่นั่ง ตามความยาวของรถ รถกระบะ รถกึ่งกระบะ หรือรถยนต์อื่นตามที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ประกาศกำหนด หากได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ ให้คนโดยสารที่อยู่ในรถยนต์นั้นนอกจากคนโดยสารที่นั่งแถวตอนหน้า ได้รับยกเว้นไม่ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยตามมาตรา 123
รถชนิดใดบ้างที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัยตามกฎหมายห้ามนั่งแคป?
รถยนต์เก่าที่ไม่มีเข็มขัดนิรภัย หรือรถยนต์ที่จดทะเบียนก่อนวันที่ 1 มกราคม 2531 ที่ไม่สามารถติดตั้งเข็มขัดนิรภัยได้ หากจดทะเบียนก่อนวันดังกล่าว ไม่ถือว่ามีความผิดตามกฎหมายห้ามนั่งแคปตามมาตรา 123 หรือ 123/1 แต่อย่างใด ในขณะที่รถกระบะที่มีการจดทะเบียนก่อนปี 2537 จะยังไม่มีผลบังคับใช้ และรถกระบะที่ไม่มีเข็มขัดนิรภัยจะมีข้อกำหนดพิจารณาแยกย่อยกันดังนี้
รถเก๋ง รถแท็กซี่ รถลีมูซีน รถกระบะ 4 ประตู
- รถยนต์จดทะเบียนก่อน 1 มกราคม 2531 (ไม่บังคับติดตั้งเข็มขัดนิรภัย)
- รถยนต์จดทะเบียนตั้งแต่ 1 มกราคม 2531 - 31 ธันวาคม 2553 (ต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัย บริเวณที่นั่งคนขับ และที่นั่งตอนหน้า)
- รถยนต์จดทะเบียน ตั้งแต่ 1 มกราคม 2554 (ต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง)
รถ 4 ล้อเล็ก รับจ้าง (รถกะป๊อ)
- รถยนต์จดทะเบียนตั้งแต่ 1 เมษายน 2555 (ต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัย บริเวณที่นั่งคนขับ และที่นั่งตอนหน้า)
รถตู้ส่วนบุคคล
- รถยนต์จดทะเบียนก่อน 1 มกราคม 2537 (ไม่บังคับติดตั้งเข็มขัดนิรภัย)
- รถยนต์จดทะเบียนตั้งแต่ 1 มกราคม 2537 (ต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัย บริเวณที่นั่งคนขับ และที่นั่งตอนหน้า)
- รถยนต์ผลิตและนำเข้าตั้งแต่ 1 เมษายน 2555 (ต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง)
รอปิคอัพ รถสองแถว
- รถยนต์จดทะเบียนก่อน 1 มกราคม 2537 (ไม่บังคับติดตั้งเข็มขัดนิรภัย)
- รถยนต์จดทะเบียนตั้งแต่ 1 มกราคม 2537 (ต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัย บริเวณที่นั่งคนขับ และที่นั่งตอนหน้า)
รถสามล้อ รถบดถนน รถแทรกเตอร์ และรถใช้งานเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ และรถยนต์อื่นที่ไม่ต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัย
- ไม่บังคับติดตั้งเข็มขัดนิรภัย
นั่งกระบะท้ายรถกระบะผิดกฎหมายห้ามนั่งแคปหรือไม่?
รถกระบะโดยทั่วไปมักจะจดทะเบียนรายการจดทะเบียนรถในคู่มือทะเบียนรถเป็น “รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล” ลักษณะ “กระบะบรรทุก” (ป้ายทะเบียนรถพื้นสีขาว ตัวอักษรสีเขียว) เพื่อใช้ในการบรรทุกสิ่งของ ไม่ใช่เพื่อใช้ในการบรรทุกผู้โดยสาร
ในขณะที่หากจดทะเบียนรายการจดทะเบียนรถในคู่มือทะเบียนรถเป็น “รถนั่งส่วนบุคคลมีที่นั่งมากกว่า 7 ที่นั่ง ” (ป้ายทะเบียนรถพื้นสีขาว ตัวอักษรน้ำเงิน) โดยต่อเติมหลังคาและมีที่นั่งชัดเจน จะนำมาใช้บรรทุกสิ่งของไม่ได้
สำหรับเจ้าของรถกระบะที่ต้องการใช้บรรทุกผู้โดยสาร ต้องนำรถต่อเติมหลังคาปิดพร้อมติดตั้งที่นั่ง 2 แถว และนำรถยนต์จดทะเบียนต่อกรมการขนส่งทางบกเป็นรถโดยสารสาธารณะ 7 ที่นั่งขึ้นไป แต่ไม่เกิน 12 ที่นั่ง และต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง หากเป็นรถยนต์จดทะเบียน ตั้งแต่ 1 มกราคม 2554 เป็นต้นไป จึงจะถือว่าไม่ผิดกฎหมายห้ามนั่งแคป
ดังนั้นแล้ว เมื่อนำมารถบรรทุกส่วนบุคคลมาใช้ในการบรรุทุกผู้โดยสาร หรือนั่งโดยสารในส่วนของกระบะท้ายจึงถือเป็นความผิดตามกฎหมายห้ามนั่งแคป เนื่องจากเป็นการใช้รถไม่ตรงตามประเภทที่จดทะเบียนไว้ ตามพระราชบัญญัติ รถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 21 ซึ่งมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 2,000 บาท ตามพระราชบัญญัติ รถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 60 รวมถึงจะไม่ได้รับความคุ้มครองจากประกันรถยนต์ร่วมด้วย โดยมีรายละเอียดข้อบังคับและบทลงโทษตามกฎหมายดังต่อไปนี้
พระราชบัญญัติ รถยนต์ พ.ศ. 2522
มาตรา 21 ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดใช้รถไม่ตรงตามประเภทที่จดทะเบียนไว้ เว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้
- (1) การใช้รถยนต์บริการธุรกิจ รถยนต์บริการทัศนาจร หรือรถจักรยานยนต์สาธารณะในกิจการส่วนตัว
- (2) การใช้รถยนต์สาธารณะในกิจการส่วนตัว โดยมีข้อความแสดงไว้ที่รถนั้นให้เห็นได้ง่ายจากภายนอกว่าใช้ในกิจการส่วนตัว
- (3) การใช้รถยนต์สาธารณะบรรทุกของที่ติดตัวไปกับผู้โดยสาร
- (3/1) การใช้รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลที่มีน้ำหนักรถไม่เกินหนึ่งพันหกร้อยกิโลกรัม เป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคน หรือใช้รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเป็นรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล
- (4) ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา 60 ระบุว่า ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม … มาตรา 21 … ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท
เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ประกันรถยนต์คุ้มครองผู้โดยสารที่นั่งแคปกระบะหรือไม่
การคุ้มครองของประกันรถยนต์ต่อผู้โดยสารที่นั่งในแคปของรถกระบะ (พื้นที่ที่อยู่หลังเบาะคนขับแต่ไม่ใช่ห้องโดยสารที่ถูกออกแบบให้เป็นที่นั่งโดยสาร) จะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย รวมถึงประเภทของประกันและข้อกำหนดทางกฎหมาย ดังนี้
1. ประกันภาคบังคับ (พ.ร.บ.)
ประกันภาคบังคับ หรือ พ.ร.บ. มีไว้เพื่อคุ้มครองผู้ขับขี่และผู้โดยสารทุกคนในรถยนต์ รวมถึงบุคคลภายนอกที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ไม่ว่าจะนั่งอยู่ในตำแหน่งไหนของรถ หากเกิดอุบัติเหตุและผู้โดยสารที่นั่งในแคปได้รับบาดเจ็บ พ.ร.บ. จะยังคงให้ความคุ้มครองในการรักษาพยาบาลเบื้องต้น
อย่างไรก็ตาม การนั่งในแคปของรถกระบะที่ไม่ได้ออกแบบให้เป็นที่นั่งโดยสารอาจถือว่า ไม่ปลอดภัย และกฎหมายหลายแห่งกำหนดให้การโดยสารในพื้นที่ดังกล่าวผิดกฎหมาย ซึ่งอาจส่งผลต่อการคุ้มครองจากประกันในบางกรณี
2. ประกันภาคสมัครใจ
สำหรับ ประกันภาคสมัครใจ เช่น ประกันชั้น 1, 2+, 3+, 2 หรือ 3 การคุ้มครองต่อผู้โดยสารที่นั่งในแคปกระบะจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในกรมธรรม์โดยทั่วไป
- หากเกิดอุบัติเหตุและมีผู้โดยสารในแคปได้รับบาดเจ็บ ประกันอาจไม่คุ้มครองผู้โดยสารที่นั่งในตำแหน่งที่ไม่ปลอดภัย หรือผิดกฎหมาย
- หากกรมธรรม์มีการกำหนดจำนวนผู้โดยสารหรือพื้นที่ที่ประกันจะคุ้มครองอย่างชัดเจน เช่น คุ้มครองเฉพาะที่นั่งในห้องโดยสารด้านหน้า ประกันอาจปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้โดยสารที่นั่งในแคปกระบะ
ทั้งนี้บริษัทประกันบางแห่งอาจพิจารณาตามสถานการณ์และข้อกำหนดของกรมธรรม์เป็นหลัก และความสามารถในการเรียกร้องสิทธิ์ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดทางกฎหมายในพื้นที่นั้น ๆ ด้วย
3. กฎหมายและข้อบังคับท้องถิ่น
การนั่งในแคปกระบะอาจถือว่าผิดกฎหมายในบางประเทศหรือบางพื้นที่ เนื่องจากไม่ได้ออกแบบให้มีความปลอดภัยสำหรับการโดยสาร หากเจ้าหน้าที่ตำรวจพบว่ามีการโดยสารในพื้นที่นี้ และเกิดอุบัติเหตุขึ้น ผู้โดยสารในแคปอาจถือว่าฝ่าฝืนกฎหมาย ทำให้บริษัทประกันสามารถปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหมทดแทนได้
4. ข้อควรระวังในการนั่งแคปกระบะ
การนั่งในแคปกระบะเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังอย่างมาก เพราะ
- พื้นที่ดังกล่าวไม่มีอุปกรณ์ความปลอดภัย เช่น เข็มขัดนิรภัย
- การป้องกันการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุต่ำกว่าห้องโดยสารหลัก
สรุปแล้ว พ.ร.บ. จะยังคงคุ้มครองผู้โดยสารที่นั่งในแคปกระบะในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุและมีการบาดเจ็บ แต่ควรทราบว่า อาจมีกฎหมายที่ห้ามการโดยสารในพื้นที่ดังกล่าว ในสำหรับประกันภาคสมัครใจ การคุ้มครองอาจมีการจำกัดและขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในกรมธรรม์ รวมถึงการปฏิบัติตามกฎหมาย หากเป็นพื้นที่ที่ห้ามการนั่งในแคป ประกันอาจไม่คุ้มครอง
ทั้งนี้ การโดยสารในแคปกระบะถือว่ามีความเสี่ยงและอาจถูกปฏิเสธการคุ้มครองจากประกันในบางกรณี ควรตรวจสอบกฎระเบียบและข้อกำหนดของกรมธรรม์ประกันภัยก่อน
ความคุ้มครองประกันรถยนต์