รถประเภทไหนจองทะเบียนรถออนไลน์ได้บ้าง?
ประเภทรถที่สามารถจองเลขทะเบียนออนไลน์ได้ ได้แก่ รถยนต์นั่งส่วนบุคลลไม่เกิน 7 คน หรือรถเก๋ง และรถกระบะ 4 ประตู (รถป้ายขาว ตัวหนังสือสีดำ), รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน หรือรถตู้ (รถป้ายขวา ตัวหนังสือสีน้ำเงิน), รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล รถกระบะบรรทุก หรือรถกระบะ 2 ประตู (รถป้ายขาว ตัวหนังสือสีเขียว) และจักรยานยนต์ส่วนบุคคลหรือรถมอเตอร์ไซค์
ทั้งนี้ การจองทะเบียนรถออนไลน์สำหรับทะเบียนรถป้ายขาว ทะเบียนรถตู้ หรือทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์ ต้องเป็นการจองหมายเลขทะเบียนรถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์ส่วนบุคคล สำหรับใช้แจ้งจดทะเบียนรถใหม่ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ย้ายรถจากพื้นที่อื่นเข้ามาใช้งานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร หรือจดทะเบียนป้ายกรุงเทพฯ อยู่แล้วเท่านั้น
เช็คตารางจองทะเบียนรถออนไลน์ได้จากที่ไหนบ้าง?
สามารถเช็คเลขทะเบียนรถยนต์ที่เปิดให้จองในแต่ละประเภทรถ วันที่เปิดจองในแต่ละหมวดอักษรและเลขทะเบียน หรือกำหนดจดทะเบียนได้จากตารางกำหนดการ เว็บไซต์จองเลขทะเบียนรถของกรมการขนส่ง ซึ่งจะอัพเดทข้อมูลเลขทะเบียนที่เปิดให้จองได้ในช่วงวันเสาร์ของทุกอาทิตย์ หรือเช็คเลขทะเบียนรถจักรยานยนต์ที่เปิดให้จองผ่านเว็บไซต์ออนไลน์ของกรมการขนส่ง
สามารถจองทะเบียนรถที่ขนส่งแทนการจองทะเบียนรถออนไลน์ได้ไหม?
ไม่สามารถเดินทางไปกรมการขนส่งทางบก กรุงเทพมหานคร หรือสํานักงานขนส่งกรุงเทพมหานครทั้ง 5 พื้นที่ เพื่อจองหมายเลขทะเบียนรถสำหรับใช้แจ้งจดทะเบียนใช้งานในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานครได้ หากต้องการเลือกเลขทะเบียนรถสำหรับรถใหม่ป้ายแดงที่รอจดทะเบียน หรือรถจดทะเบียนแล้วที่ต้องการเปลี่ยนเลขทะเบียนรถใหม่ จะต้องจองเลขทะเบียนรถออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ของกรมการขนส่งทางบกแต่เพียงช่องทางเดียวเท่านั้น ไม่สามารถไปรอคิวเพื่อจองทะเบียนรถที่กรมการขนส่งทางบก กรุงเทพมหานครได้เหมือนในอดีต
อย่างไรก็ตาม สามารถเดินทางไปสำนักงานขนส่งในพื้นที่ประจำจังหวัดเพื่อจองทะเบียนรถสำหรับแจ้งจดทะเบียนและใช้งานในพื้นที่ต่างจังหวัดได้โดยไม่ต้องจองทะเบียนรถออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ สามารถเช็คเลขทะเบียนรถยนต์ที่สามารถจองได้จากตารางจองทะเบียนรถในเว็บไซต์กรมการขนส่งทางบก และเช็คเลขทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์ในเว็บไซต์ส่วนควบคุมบัญชีรถและเครื่องยนต์ (สคบ.) กรมการขนส่งทางบก
สามารถจองทะเบียนรถ ต่างจังหวัด ผ่านช่องทางออนไลน์ได้หรือไม่?
ไม่สามารถจองทะเบียนรถต่างจังหวัดออนไลน์ได้ เนื่องจากการจองทะเบียนรถออนไลน์จะจองได้เฉพาะรถที่ต้องการจดแจ้งและใช้ป้ายทะเบียนกรุงเทพมหานคร หรือต้องการย้ายทะเบียนมายังพื้นที่กรุงเทพมหานครเท่านั้น หากต้องการจองเลขทะเบียนรถสำหรับใช้งาน ต่างจังหวัด หรือจดทะเบียนรถในพื้นที่ต่างจังหวัดอยู่แล้ว ให้ตรวจสอบการเปิดจองเลขทะเบียนกับสำนักงานขนส่งประจำพื้นที่
จองทะเบียนรถออนไลน์ต้องทำอย่างไรบ้าง?
ขั้นตอนการจองเลขทะเบียนรถออนไลน์จะเริ่มต้นจากการตรวจสอบข้อมูลรถและข้อมูลหลักเกณฑ์จองเลขทะเบียนรถที่เปิดให้จอง การเลือกเลขทะเบียน การจองหมายเลขทะเบียนรถ และการแจ้งจดทะเบียนเลขทะเบียนรถที่จองออนไลน์ได้ มีรายละเอียดขั้นตอนการจองทะเบียนรถออนไลน์ดังต่อไปนี้
ตรวจสอบข้อมูลรถ
กรณีรถป้ายแดง ผู้ทำการจองทะเบียนรถออนไลน์ต้องได้รับรถแล้ว รวมถึงไฟแนนซ์หรือบริษัทผู้ขายรถต้องส่งข้อมูลตัดบัญชีรถให้กรมขนส่งทางบกรับทราบแล้วเท่านั้น จึงจะสามารถทำการจองเลขทะเบียนออนไลน์ได้ หากเป็นรถจดทะเบียนแล้ว แต่ต้องการเปลี่ยนเลขทะเบียนใหม่ ต้องเป็นรถที่มีสถานะใช้งานปกติ และต้องแจ้งจดทะเบียนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร หรือต้องการแจ้งย้ายการใช้งานรถมาที่พื้นที่กรุงเทพมหานครเท่านั้น
ตรวจสอบเลขทะเบียนที่เปิดจอง
สามารถเช็คตารางจองเลขทะเบียนรถยนต์ที่เปิดให้จองออนไลน์ได้จากเว็บไซต์ หรือตารางจองเลขทะเบียนรถจักรยานยนต์ ได้จากเว็บไซต์โดยจะมีข้อมูลอักษรประจำหมวดและเลขทะเบียนรถที่เปิดให้จองสำหรับรถแต่ละประเภท วันและเดือนที่เปิดจอง พร้อมลำดับจดทะเบียนให้ได้เตรียมตัวก่อนวันเปิดจริง
ตรวจสอบเงื่อนไขและวิธีการจองทะเบียนรถ
ศึกษาวิธีการกรอกข้อมูลทั้งในส่วนข้อมูลผู้จอง และข้อมูลเฉพาะรถ โดยต้องพิมพ์ข้อมูลติดกัน โดยไม่มีการเว้นวรรคหรือเครื่องหมายขีดกลาง (-) เนื่องจากหากใส่ข้อมูลใดผิดไปจะไม่สามารถนำเลขทะเบียนดังกล่าวที่จองไปใช้ในการแจ้งจดทะเบียน โดยมีเงื่อนไขการจองทะเบียนรถออนไลน์ ดังต่อไปนี้
- ไม่สามารถจองเลขทะเบียนย้อนหลังได้
- ไม่สามารถเปลี่ยน โอน หรือยกเลิกเลขทะเบียนที่จองได้ ไม่ว่ากรณีใดใดทั้งสิ้น
- จองเลขทะเบียนได้ครั้งละ 1 หมายเลข สำหรับการจองเลขทะเบียนรถยนต์
- จองเลขทะเบียนได้ครั้งละ 5 หมายเลข สำหรับการจองเลขทะเบียนมอเตอร์ไซค์
- ไม่สามารถใช้เลขทะเบียนที่จองได้ หากไม่จดทะเบียนตามเวลาที่กำหนด
- จองเลขทะเบียนออนไลน์ได้ครั้งต่อไปภายในระยะเวลา 90 วัน
เข้าจองเลขทะเบียนรถในเว็บไซต์กรมขนส่ง
จองหมายเลขทะเบียนรถยนต์สำหรับใช้จดแจ้งการใช้งานในทุกประเภทได้ในทุกวันจันทร์-ศุกร์ ยกเว้นวันหยุดเสาร์/อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 10.00-16.00 น. ผ่านทางเว็บไซต์หรือจองเลขทะเบียนรถจักรยานยนต์ออนไลน์ได้ในวันจันทร์ - วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 09.00-14.00 น. ผ่านทางเว็บไซต์เท่านั้น
ทั้งนี้ ควรเตรียมเลขทะเบียนที่ต้องการไว้หลากหลายชุดเพื่อความรวดเร็วในการจอง กรณีเลขทะเบียนที่ต้องการมีคนจองตัดหน้า เนื่องจากอาจมีผู้ให้ความสนใจจองเลขทะเบียนออนไลน์เลขชุดเดียวกันพร้อมกันเป็นจำนวนมาก
ตรวจสอบผลจองทะเบียนรถ
สามารถเช็กผลการจองเลขทะเบียนได้ด้วยเลขบัตรประชาชน เลขทะเบียนการค้า หรือเลขหนังสือเดินทาง ซึ่งจะทราบผลการจองได้เมื่อเข้าสู่หน้าตรวจสอบผลการจองทะเบียนออนไลน์เท่านั้น โดยจะทราบผลการจองได้ในทันทีสำหรับการจองเลขทะเบียนรถยนต์ และทราบผลภายใน 3-7 วัน สำหรับการจองทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์
จดแจ้งใช้งานทะเบียนรถ
สามารถจดแจ้งใช้งานทะเบียนรถยนต์ได้ตามกำหนดวันจดทะเบียนที่มีระบุ ("ปัจจุบันจดทะเบียนถึงเลข") ในตารางจองทะเบียนรถที่ประกาศอยู่ในหน้าเว็บไซต์ โดยต้องแจ้งจดทะเบียนใช้งานทะเบียนรถที่จองได้ภายในช่วงวันที่กำหนด มิฉะนั้นถือว่าสละสิทธิ์การจอง ในขณะที่ต้องดำเนินการจดทะเบียนภายใน 90 วัน สำหรับเลขทะเบียนรถจักรยานยนต์ที่จองได้ ทั้งนี้ จะได้รับป้ายทะเบียนภายใน 1-2 สัปดาห์ สูงสุดไม่เกิน 1 เดือน ทั้งนี้ต้องแจ้งให้บริษัทประกันบันทึกสลักหลังกรมธรรม์ประกันภัยรถด้วย กรณีแจ้งเปลี่ยนเลขทะเบียนรถยนต์
วิธี จองเลขทะเบียนรถยนต์ออนไลน์ บนเว็บไซต์กรมขนส่ง
1. เข้าไปที่เว็บไซต์ จองเลขทะเบียนรถยนต์ออนไลน์
- เข้าไปที่เว็บไซต์ https://reserve.dlt.go.th/reserve/v2/ สำหรับรถเก๋ง รถกระบะ 4 ประตู รถตู้ รถกระบะหรือรถบรรทุก 2 ประตู
- เข้าเว็บไซต์ https://reserve.dlt.go.th/mc/ สำหรับจองป้ายทะเบียนรถจักรยานยนต์ (มอเตอร์ไซค์)
- กดคลิกที่ “จองเลขทะเบียน” เพิ่อเริ่มต้นจองเลขทะเบียนรถ
2. ยอมรับหลักเกณฑ์การจองเลขทะเบียนรถ
- อ่านหลักเกณฑ์การจองเลขทะเบียนรถผ่านอินเทอร์เน็ตพร้อมทำความเข้าใจ
- กดที่ “ยอมรับหลักเกณฑ์”
3. เลือกประเภทรถที่ต้องการจะ จองเลขทะเบียนรถยนต์ออนไลน์
- เลือกประเภทยานพาหนะที่ต้องการจะจองเลขทะเบียน
- การกดเลือกจะมีระยะเวลาการกดเหลือ 15 นาที
- เลือกระหว่างจองป้ายทะเบียนรถยนต์, จองป้ายทะเบียนรถจักรยานยนต์ (มอเตอร์ไซค์), รถตู้ หรือรถกระบะ
4. กรอกรายละเอียดเกี่ยวกับรถที่ต้องการจองทะเบียน
- กรอกรายละเอียดเกี่ยวกับรถที่ต้องการจองทะเบียนรถออนไลน์ให้ครบถ้วน
- ตรวจสอบ คำนำหน้า ชื่อ-นามสกุล เลขบัตร ให้เรียบร้อย
- เลือกเลขทะเบียนที่ต้องการจอง แล้วกด “จองเลข”
หมายเหตุ
- หากกรอกข้อมูลผิดพลาดจะไม่สามารถนำเลขไปจดทะเบียนได้ ต้องทำการจองใหม่
- ในการจองทะเบียนรถยนต์ออนไลน์ จะไม่สามารถเลือกหมวดตัวอักษรได้
- ผู้จองป้ายทะเบียนเลือกได้เฉพาะหมายเลขด้านหลังไม่เกิน 4 หลักเท่านั้น
5. ตรวจสอบข้อมูลจองเลขทะเบียนรถยนต์
- เมื่อทำการจองแล้ว ข้อมูลการจองจะปรากฏขึ้น
- ให้ตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียด
- กด "ตกลง" เพื่อยืนยันการจอง
6. เช็คทะเบียนรถออนไลน์
หลังจากจองเลขทะเบียนรถยนต์เสร็จสิ้น สามารถตรวจสอบผลการจองได้ตามข้อมูลที่ปรากฏ ดังนี้
- ใส่ข้อมูลยืนยันตัวตน เช่น หมายเลขบัตรประชาชน, ทะเบียนการค้า หรือหนังสือเดินทาง
- กด "ค้นหา" เพื่อตรวจสอบผลการจองทะเบียนรถ
- หากสำเร็จ บันทึกหน้านี้ไว้เป็นหลักฐาน
- ยื่นจดทะเบียนภายในระยะเวลาที่กำหนดเพื่อไม่ให้สิทธิ์การจองหมดอายุ
ข้อควรรู้เกี่ยวกับการจองทะเบียนรถยนต์ออนไลน์
- ทางเว็บไซต์จะเปิดให้บริการจองเลขตั้งแต่เวลา 10.00 – 16.00 น. หากผู้ใช้งานเข้าก่อนเวลาก็จะไม่สามารถจองได้
- ชื่อผู้จองต้องเป็นเจ้าของรถเท่านั้น
- ควรตรวจสอบคำนำหน้า ชื่อ-นามสกุล และเลขบัตรประชาชนก่อนการจอง หากกรอกข้อมูลผิดจะไม่สามารถนำเลขไปจดทะเบียนได้
- หากกรอกข้อมูลไม่ครบจะถือว่าเป็นโมฆะ
- ในกรณีของรถใหม่ ต้องได้รับรถก่อนจึงจะทำการจองเลขได้ ควรอ่านหลักเกณฑ์การจองให้เข้าใจ และตรวจสอบข้อมูลชื่อ นามสกุล เลขบัตรประจำตัวประชาชน หรือเลขที่จดทะเบียนธุรกิจให้ถูกต้องก่อนกดจองเลข หากผิดจะไม่สามารถแก้ไขได้ และจะไม่สามารถนำเลขไปจดทะเบียนรถยนต์ได้ อีกทั้งจะไม่สามารถจองเลขทะเบียนรถได้อีกเป็นเวลา 3 เดือน
- คอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง (1 IP Address) สามารถจองได้เลขเดียวในวันที่ทำการจอง
จองทะเบียนรถยนต์ออนไลน์เสร็จแล้วยังไงต่อ
- จดทะเบียนรถยนต์ภายในวันที่กำหนด : ดำเนินการจดทะเบียนก่อนที่การจองเลขทะเบียนออนไลน์จะหมดอายุ โดยการจองเลขทะเบียนจะมีอายุประมาณ 1 เดือนก่อนที่เลขทะเบียนรถจะถูกปล่อยให้ผู้อื่นใช้งานได้อีกครั้ง
- จัดเตรียมเอกสารสำหรับการขอทะเบียนรถใหม่ : กรอกข้อมูลและลงลายมือชื่อผู้ยื่นคำขอ พร้อมแนบหลักฐานเจ้าของรถ เพื่อยื่นแบบคำขอจดทะเบียนรถยนต์ ซึ่งในการขอทะเบียนรถใหม่ จะต้องใช้เอกสารดังต่อไปนี้
- ใบรับรองการขายรถ (เล่มเขียว) ที่ได้รับจากผู้ขาย
- หลักฐานการชำระภาษี (ใบเสร็จรับเงิน)
- ใบคู่มือจดทะเบียน (เล่มทะเบียนรถ)
- บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าของรถ
- สำเนาทะเบียนบ้านของเจ้าของรถ
- หลักฐานการประกันภัย (กรณีที่จำเป็น)
- หลักฐานการตรวจสภาพรถ (ถ้ามี)
- หากมีการจดทะเบียนในนามบริษัทหรือองค์กร ควรเตรียมเอกสารเพิ่มเติม เช่น ใบรับรองการจดทะเบียนบริษัทและบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีอำนาจลงนาม
- นำรถเข้ารับการตรวจสภาพ : นำรถเข้าไปตรวจสภาพ ณ งานตรวจสภาพรถยนต์
- ในกรณีที่จดทะเบียนรถใหม่จะได้รับการยกเว้นการตรวจสภาพรถ เพราะผ่านการดำเนินการโดยตัวแทนจำหน่ายหรือโชว์รูม ซึ่งได้จัดให้เจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบกออกไปตรวจสภาพรถนอกสถานที่แล้ว
- สำหรับผู้ที่นำรถมาจดทะเบียนด้วยตนเอง ต้องนำรถเข้าตรวจสภาพ โดยเฉพาะรถที่ได้มีการดัดแปลง ต้องนำเข้าตรวจสภาพเพื่อบันทึกรายละเอียดการแก้ไขในสมุดคู่มือจดทะเบียนรถ
- ยื่นเอกสาร : ยื่นเอกสารคำขอตัดบัญชีรถ ณ ส่วนควบคุมบัญชีรถและเครื่องยนต์ อาคาร 2 ชั้น 4 กรมการขนส่งทางบก
- ชำระค่าธรรมเนียมต่างๆ : ค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนรถมีดังนี้
- ค่าคำขอ คำขอละ 5 บาท
- ค่าตรวจสภาพรถจักรยานยนต์ ครั้งละ 10 บาท
- ค่าตรวจสภาพรถยนต์และรถอื่นๆ ครั้งละ 50 บาท
- ค่าใบคู่มือจดทะเบียนรถ 100 บาท
- ค่าแผ่นป้ายทะเบียนรถ แผ่นละ 100 บาท
- ค่าภาษีประจำปี
- รับเอกสารและอุปกรณ์ต่างๆ : เมื่อเสร็จสิ้นการตรวจสอบจะได้รับเอกสารและอุปกรณ์ต่างๆ ดังนี้:
- ใบเสร็จรับเงิน
- แผ่นป้ายทะเบียนรถ
- ป้ายวงกลม (เครื่องหมายการเสียภาษีประจำปี)
- ใบคู่มือจดทะเบียนรถ
ความคุ้มครองประกันภัยรถยนต์แต่ละประเภท