ทำความรู้จักกับคอมเพรสเซอร์รถยนต์ ระบบสร้างความเย็นภายในรถคุณ
สำหรับใครที่มีปัญหาเรื่องแอร์รถยนต์ไม่เย็น แอร์เสีย มีแต่ลมร้อน บอกเลยว่าสาเหตุแทบ 100 เปอร์เซ็นต์มาจากคอมเพรสเซอร์รถยนต์ เพราะระบบคอมเพรสเซอร์นั้นเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ทำให้การทำความเย็นภายในรถมีประสิทธิภาพ ผู้ขับขี่ควรทำความเข้าใจและหมั่นบำรุงรักษาให้คอมเพรสเซอร์รถยนต์ใช้งานได้นาน ๆ จะได้ไม่เจอปัญหารถแอร์ไม่เย็น ซึ่งในบทความนี้เราจะอธิบายเรื่องราวสำคัญเกี่ยวกับคอมเพรสเซอร์รถยนต์ให้คุณทราบมากขึ้น
คอมเพรสเซอร์คืออะไร ทำไมถึงมีความสำคัญ?
คอมเพรสเซอร์ (Compressor) เป็นตัวสร้างความเย็นของเครื่องปรับอากาศ ไม่ว่าจะเป็นแอร์บ้านหรือแอร์รถยนต์ก็จะต้องมีคอมเพรสเซอร์ร่วมทำงานทั้งสิ้น สำหรับคอมเพรสเซอร์รถยนต์หรือตามภาษาช่างเทคนิคเรียกว่าคอมแอร์รถยนต์ จะเป็นตัวปรับอุณหภูมิห้องโดยสารให้มีความเย็นตามที่เรากำหนด รวมถึงปรับความชื้นในรถให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยคอมเพรสเซอร์รถยนต์จะทำงานร่วมกับคอยล์เย็น (Evaporator) และคอยล์ร้อน (Condenser) ในการทำความเย็นและระบายความร้อนออกจากรถ หากการทำงานของคอมเพรสเซอร์รถยนต์มีปัญหาก็จะส่งผลให้แอร์ในรถไม่เย็นนั่นเอง
คอมเพรสเซอร์ทําหน้าที่อะไรบ้าง?
คอมเพรสเซอร์รถยนต์หรือคอมแอร์รถยนต์จะเริ่มทำงานเมื่อผู้ขับขี่เริ่มสตาร์ทรถยนต์และเปิดแอร์ภายในรถ โดยคอมเพรสเซอร์จะทำการดูดน้ำยาแอร์ที่มีสถานะเป็นก๊าซและเป็นสารทำความเย็นเข้ามาอัดความดันจนทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น แล้วส่งผ่านทางท่อคอมเพรสเซอร์ไปยังคอยล์ร้อน ซึ่งคอยล์ร้อนจะทำหน้าที่ระบายความร้อนออกไปหมด จนกระทั่งน้ำยาแอร์เปลี่ยนสถานะจากก๊าซเป็นของเหลวแล้วไหลไปพักที่ถังพักน้ำยาแอร์ (Drier) ณ ที่ถังพักสิ่งสกปรกก็จะถูกกรองออกจนหมด
หลังจากนั้นสารทำความเย็นที่เป็นของเหลวก็จะไหลตามท่อไปสู่วาล์วปรับความดัน (Expansion Valve) เพื่อที่จะลดความดันให้น้ำยาแอร์มีอุณหภูมิต่ำลง จากนั้นก็จะไหลเข้าสู่คอยล์เย็น ซึ่งพัดลมจะทำหน้าที่เป่าความเย็นจากแผงคอยล์เป็นลมเย็นออกมาสู่ภายในห้องโดยสาร เมื่อเป่าลมเย็นไปสักพักจนความเย็นหมด น้ำยาแอร์ก็จะไหลกลับสู่คอมเพรสเซอร์รถยนต์เพื่อเริ่มกระบวนการทำความเย็นวนไปอีกครั้ง
คอมเพรสเซอร์มีกี่แบบ แต่ละแบบแตกต่างกันอย่างไร?
คอมเพรสเซอร์สำหรับแอร์ทั่วไปนั้นมีหลายแบบ แต่คอมเพรสเซอร์รถยนต์ในปัจจุบันมักพบอยู่สองแบบ ซึ่งผู้ผลิตจะพัฒนาคอมเพรสเซอร์ให้มีขนาดและการทำงานที่เหมาะสมกับการทำงานสำหรับรถยนต์มากที่สุดดังนี้
คอมเพรสเซอร์รถยนต์แบบลูกสูบ (Reciprocating Compressor)
เป็นคอมแอร์รถยนต์ที่พบบ่อยที่สุดและเป็นที่นิยมสำหรับรถยนต์ทั่วไปตลอดจนรถโดยสารขนาดใหญ่ หลักการทำงานคือใช้มอเตอร์หมุนขับลูกสูบให้สูบขึ้น-ลง ตามจังหวะ เพื่อให้น้ำยาแอร์ไหลเวียนผ่านคอมเพรสเซอร์รถยนต์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งข้อดีของคอมแอร์ประเภทนี้คือมีราคาถูก ผลิตง่าย สามารถผลิตให้มีขนาดเหมาะสมตามประเภทของรถได้อย่างหลากหลาย นอกจากนี้ยังมีความคงทนสูง สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก็มีข้อเสียคือมีน้ำหนักมาก และมีเสียงดัง ทั้งนี้คอมแอร์แบบลูกสูบจะแบ่งออกเป็นประเภทย่อยตามการจัดวางของกระบอกสูบดังนี้
- 1. ลูกสูบแบบแนวตั้ง (Inline Type) ซึ่งรถโดยสารขนาดใหญ่ ใช้กำลังแอร์ในการทำความเย็นมากมักใช้คอมแอร์รถยนต์ลูกสูบแนวตั้ง เพราะสามารถติดตั้งจำนวนลูกสูบได้ง่ายตามแนวตั้ง ตั้งแต่ 2 สูบขึ้นไป (ยิ่งคอมเพรสเซอร์รถยนต์ใหญ่ลูกสูบก็จะเพิ่มตาม)
- 2. ลูกสูบแบบแนวนอน (Horizontal Type) มักใช้กับรถยนต์ทั่วไป เนื่องจากกินพื้นที่น้อย จัดวางสะดวกตามโครงสร้างรถ ไม่ต้องใช้ขนาดกระบอกสูบใหญ่ ๆ หรือจำนวนมาก ๆ เพื่อทำความเย็น
- 3. ลูกสูบแบบวี (V-Type) จะเป็นการวางลูกสูบแบบแนวตัววีชนกัน เหมาะกับรถยนต์ SUV รถตู้ หรือรถโดยสาร ที่มีห้องโดยสารขนาดใหญ่ ต้องการคอมเพรสเซอร์รถยนต์ที่มีกำลังในการทำความเย็นมาก ๆ
คอมเพรสเซอร์รถยนต์แบบโรตารี่ (Rotary Compressor)
เป็นคอมแอร์รถยนต์ที่ใช้มอเตอร์ใบพัดในการอัดน้ำยาแอร์เข้าสู่ระบบทำความเย็น มักพบบ่อยตามรถยนต์ขนาดเล็กทั่วไปโดยเฉพาะรถอีโค่คาร์ เนื่องจากมีข้อดีคือมีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา ช่วยให้ประหยัดน้ำมันได้ดี เสียงทำงานเงียบ แต่ก็มีข้อเสียคือความเย็นจะกระจุกกันเฉพาะจุดไม่กระจายทั่วห้อง จึงเหมาะเฉพาะรถขนาดเล็ก อีกทั้งยังต้องบำรุงรักษาให้ดี เพราะไม่คงทนเท่าคอมเพรสเซอร์รถยนต์แบบลูกสูบ
สำหรับการเลือกประเภทคอมเพรสเซอร์รถยนต์นั้นควรเลือกตามขนาดของรถ หากเป็นรถที่มีห้องโดยสารกว้างก็ควรใช้คอมเพรสเซอร์รถยนต์แบบลูกสูบเพื่อทำความเย็นให้ทั่วถึงห้องโดยสาร แต่ถ้าเป็นรถยนต์ขนาดเล็กการเลือกใช้งานคอมเพรสเซอร์รถยนต์แบบโรตารี่ก็จะทำให้ประหยัดยิ่งขึ้น
คอมเพรสเซอร์แอร์ไม่หมุน คลัชคอมแอร์ไม่ทำงานต้องทำอย่างไร?
เมื่อรถยนต์ใช้ไปนาน ๆ ระบบการทำงานของรถก็ย่อมเสื่อมสภาพไปตามลำดับ ซึ่งคอมเพรสเซอร์ไม่ทํางานก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุเช่นกัน เมื่อคอมแอร์รถยนต์มีปัญหาอาจสังเกตได้จากการทำงานที่เสียงดัง แอร์รถยนต์ทำงานต่อเนื่องโดยไม่ตัด หรือตัดการทำงานบ่อยจนเกินไป เป็นต้น แต่ถ้าคุณพบว่าคอมเพรสเซอร์แอร์ไม่หมุน เราขอแนะนำว่าอย่าพยายามซ่อมเองเพราะคอมแอร์รถยนต์นั้นมีราคาแพงและเป็นอุปกรณ์ที่ซับซ้อนเกินกว่าผู้ใช้งานธรรมดาจะแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง ให้คุณปิดแอร์เพื่อลดภาระการทำงานของเครื่องยนต์แล้ว รีบนำรถเข้าตรวจซ่อมอู่ที่ไว้ใจได้หรือไปเช็กที่ศูนย์บริการ
อีกหนึ่งปัญหาที่มีลักษณะคล้ายกันและมักพบบ่อยคือหน้าคลัชคอมแอร์ไม่ทำงาน โดยคลัชคอมแอร์จะทำหน้าที่เป็นตัวตัด/ต่อการทำงานของคอมเพรสเซอร์ ปกติแล้วคลัชคอมแอร์อายุการใช้งานประมาณ 5-7 ปี แต่ก็มีโอกาสเสื่อมสภาพได้ขึ้นกับลักษณะการใช้งาน หากเข้าอู่แล้วผลเช็กออกมาว่าคลัชคอมแอร์รถยนต์เสียก็สามารถให้ช่างเปลี่ยนได้โดยมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่หลักพันเท่านั้น ต่างกับคอมเพรสเซอร์รถยนต์เสียที่มีค่าเปลี่ยนอะไหล่สูงกว่ามาก ดังนั้นคุณควรนำรถเข้าตรวจสอบกับอู่ที่ไว้ใจได้เพื่อระบุจุดเสียอย่างถูกต้องจะได้ไม่ต้องเสียเงินโดยใช่เหตุ
เทคนิคดูแลคอมเพรสเซอร์รถยนต์ให้ใช้งานได้นาน ๆ
แม้ว่าการซ่อมคอมเพรสเซอร์รถยนต์จะเป็นเรื่องยากเกินไปสำหรับผู้ใช้งาน แต่เราสามารถดูแลคอมแอร์ให้มีความคงทนและลดการเสื่อมสภาพได้ดังนี้
- 1. ล้างแอร์เปลี่ยนไส้กรองบ่อย ๆ : เนื่องจากการใช้งานทุก ๆ วัน ย่อมเผชิญกับฝุ่นละอองต่าง ๆ ตามสภาพอากาศ การที่ฝุ่นไปอุดตันไส้กรองจะทำให้คอมแอร์รถยนต์ทำงานหนักขึ้นและเสื่อมสภาพเร็วขึ้น ดังนั้นจึงควรเปลี่ยนไส้กรองทุก ๆ 15,000 - 20,000 กิโลเมตร หรือล้างแอร์ทุก ๆ ปี และถ้าวิ่งในพื้นที่ทางลูกรังหรือฝุ่นเยอะบ่อย ๆ ก็ควรล้างและเปลี่ยนไส้กรองให้ถี่กว่านั้น เพื่อให้คอมเพรสเซอร์รถยนต์ใช้งานได้ยาวนาน
- 2. อย่าเปิดแอร์จนสุด : แม้ว่าแอร์รถยนต์จะถูกออกแบบมาให้ปรับอุณหภูมิได้หลายระดับ แต่แนะนำว่าอย่าปรับแอร์ให้เย็นจนเกินไป เพราะแอร์จะทำงานอย่างต่อเนื่องโดยไม่ตัด จนทำให้คอมเพรสเซอร์รถยนต์ทำงานหนักจนเกินไปและเสื่อมสภาพไวขึ้น
- 3. หมั่นดูดฝุ่นภายในรถ : เมื่อใช้งานรถยนต์ไปนาน ๆ ฝุ่นก็จะเริ่มสะสมเข้ามาในตัวรถ และเกาะตามเบาะนั่ง แผงคอนโซล รวมถึงสิ่งของต่าง ๆ ภายในรถ ดังนั้นผู้ใช้งานควรดูดฝุ่นออกบ้างเพื่อลดการสะสมของฝุ่นและเชื่อโรคต่าง ๆ ลดโอกาสที่ฝุ่นจะเข้าไปอุดตันในระบบแอร์รถ และพยายามอย่าเปิดกระจกรถตอนขับขี่เพราะจะทำให้ฝุ่นเข้ามาในรถมากขึ้น ซึ่งหากฝุ่นไปเกาะที่แผงคอยล์เย็นมาก ๆ ก็จะทำให้คอมเพรสเซอร์รถยนต์ทำงานหนักขึ้นตามมา
- 4. อย่าปล่อยให้น้ำยาแอร์หมด : เนื่องจากคอมเพรสเซอร์รถยนต์จะทำหน้าที่ดูดน้ำยาแอร์เพื่อทำอากาศเย็นไหลเวียนในตัวรถ หากน้ำยาแอร์หมดการไหลเวียนของสารทำความเย็นในท่อแอร์ก็จะทำได้ไม่เต็มที่ ส่งผลให้คอมเพรสเซอร์รถยนต์เสื่อมสภาพเร็วกว่าเดิม
- 5. หมั่นนำรถยนต์ไปตรวจเช็กประจำ : การตรวจสภาพรถยนต์ควรทำเป็นประจำทุกปี ไม่ใช่นำไปตรวจเมื่อรถมีปัญหา ซึ่งการตรวจสภาพรถจะทำให้คุณทราบว่ามีอุปกรณ์ใด ๆ ในรถทำงานผิดปกติบ้าง จะได้รีบแก้ไขหรือซ่อมแซมก่อนที่อุปกรณ์เหล่านั้นจะเสียหายมากกว่าเดิม ซึ่งคอมเพรสเซอร์รถยนต์ก็ควรนำไปตรวจสภาพการทำงานอยู่เสมอว่าทำงานได้อย่างปกติหรือไม่ เพื่อให้ใช้งานได้อย่างยืนยาว
หากรถชนจนคอมเพรสเซอร์รถยนต์เกิดความเสียหาย สามารถเคลมประกันได้หรือไม่?
โดยปกติแล้วประกันรถยนต์จะรับผิดชอบเคลมความเสียหายของตัวรถยนต์และอุปกรณ์ต่าง ๆ เมื่อได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุเท่านั้น หากอุปกรณ์ใด ๆ ที่เสื่อมสภาพจากการใช้งานโดยปกติประกันภัยก็จะไม่ให้ความคุ้มครองแต่อย่างใด ซึ่งคอมเพรสเซอร์รถยนต์ก็เช่นกัน หากตัวคอมแอร์รถยนต์รถเสียหายจากการเกิดอุบัติเหตุขณะที่ใช้งานบนท้องถนน และคุณทำประกันรถยนต์ชั้น 1, ประกันรถยนต์ชั้น 2+, หรือประกันรถยนต์ชั้น 3+, ไว้ ประกันภัยก็จะจ่ายค่าซ่อมคอมเพรสเซอร์รถยนต์ให้คุณตามเงื่อนไขที่กรมธรรม์ระบุไว้ แต่ถ้าคอมเพรสเซอร์รถยนต์ของคุณเสื่อมสภาพเองจากการใช้งานไปนาน ๆ โดยที่ไม่ได้เกิดอุบัติเหตุ ประกันก็จะไม่ให้ความคุ้มครอง ด้วยเหตุนี้เราจึงแนะนำว่านอกจากการทำประกันรถยนต์แล้ว คุณควรหมั่นดูแลรักษารถให้ใช้งานไปนาน ๆ
หน้าที่สำคัญที่นักขับทุกคนพึงกระทำคือการดูแลรักษารถยนต์ให้มีสภาพพร้อมใช้งาน ส่วนเรื่องค่าซ่อมรถเมื่อเกิดอุบัติเหตุปล่อยให้เป็นหน้าที่ของบริษัทประกันภัย หากคุณเลือกประกันภัยรถดี ๆ มีความคุ้มครองครบ ดูแลตั้งแต่ต้นจนจบอย่างแรบบิท แคร์ ก็จะทำให้คุณขับขี่ได้อย่างสบายใจ รับประกันว่าเกิดอุบัติเหตุเมื่อไหร่ก็จะได้ค่าซ่อมแน่นอน เช็กเบี้ยราคาประกันได้เลย!
ความคุ้มครองประกันรถยนต์