โอนรถแบบยกให้ ไม่ซื้อขาย ต้องใช้หลักฐานอะไรบ้าง
การโอนรถแบบยกให้ เป็นการโอนรถแบบไม่ได้ซื้อขาย ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ให้กับคนในครอบครัวโดยไม่มีการจ่ายเงิน หรือทำสัญญาซื้อขายรถ ซึ่งการโอนรถแบบยกให้นี้ จะมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง มาดูกัน
โอนรถแบบยกให้ คนละนามสกุล ทำได้ไหม ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง
การโอนรถแบบยกให้ สามารถทำได้ทั้งในกรณีที่ทั้งผู้โอนและผู้รับมีนามสกุลเดียวกัน และไม่ได้มีนามสกุลเดียวกัน ซึ่งขั้นตอนและเอกสารในการดำเนินการในกรณีที่ผู้โอนและผู้รับไม่ได้ใช้นามสกุลเดียวกันก็จะไม่แตกต่างจากการโอนรถให้กับผู้ที่มีนามสกุลเดียวกันมากนัก แต่จะมีเอกสารที่เพิ่มเติมเข้ามา นั่นก็คือ ทะเบียนบ้านของผู้โอนและผู้รับโอน รวมไปถึงสำเนาใบเปลี่ยนชื่อสกุลของผู้โอน และผู้รับโอน (ถ้ามี)
โอนรถให้ญาติ มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง
สำหรับขั้นตอนการโอนรถแบบยกให้ เมื่อดำเนินการโอนให้กับญาติ หรือบุคคลอื่นที่ไม่ได้มีนามสกุลเดียวกัน มีขั้นตอนดังต่อไปนี้
- เตรียมเอกสารให้ครบถ้วน
- กรอกแบบคำขอโอนและคำรับโอน และเซ็นต์ชื่อกำกับ
- นำเอกสารทั้งหมดไปยื่นที่สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานคร ขนส่งจังหวัด หรือสำนักงานขนส่งสาขาที่ผู้โอนมีชื่อปรากฏอยู่ในใบคู่มือจดทะเบียนรถ หรือที่แจ้งขอใช้รถไว้
- ชำระค่าธรรมเนียม
- รอรับเล่มทะเบียนรถใหม่
การโอนรถแบบยกให้ แม้ว่าจะโอนให้กับผู้ที่ไม่ได้ใช้นามสกุลเดียวกัน แต่ก็มีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก เพียงแต่ต้องเตรียมเอกสารให้ครบถ้วน ก็จะใช้เวลาดำเนินการไม่นาน
ขั้นตอนการทำสัญญายกให้ เมื่อโอนรถให้คนในครอบครัว นามสกุลเดียวกัน
หลังจากทราบขั้นตอนการโอนรถแบบยกให้ ระหว่างผู้โอนและผู้รับที่ไม่ได้มีนามสกุลเดียวกันไปแล้ว มาดูขั้นตอนการโอนรถแบบยกให้ระหว่างผู้ที่มีนามสกุลเดียวกันกันบ้าง
สำหรับขั้นตอนการโอนรถแบบยกให้ โดยผู้รับเป็นบุคคลที่มีนามสกุลเดียวกัน จะมีขั้นตอนเหมือนกันกับการโอนรถแบบไม่ได้ซื้อขายให้กับผู้ที่ไม่ได้มีนามสกุลเดียวกัน แต่จะมีเงื่อนไขการโอนดังนี้
เมื่อต้องการเปลี่ยนกรรมสิทธิ์เจ้าของรถ จะต้องดำเนินการภายใน 15 วัน นับตั้งแต่มีการเซ็นต์วันที่ลงในแบบคำขอโอนและรับโอน และจะโอนรถได้ก็ต่อเมื่อภาษีรถเหลือไม่น้อยกว่า 30 วัน หากน้อยกว่านั้นจะต้องชำระภาษีประจำปีก่อน หรือในกรณีที่ผู้โอนหรือผู้รับโอน ไม่สามารถไปดำเนินการโอนรถ ณ กรมการขนส่งทางบกได้ สามารถมอบอำนาจให้บุคคลอื่นดำเนินการแทนได้ โดยผู้รับมอบอำนาจต้องนำบัตรประชาชนแจ้งต่อเจ้าหน้าที่
เมื่อต้องการโอนรถแบบยกให้ หรือ โอนรถแบบไม่ได้ซื้อขาย จำเป็นจะต้องเซ็นต์หนังสือสัญญายกให้ เพื่อแสดงความจำนงค์ในการโอนย้ายกรรมสิทธิ์รถให้กับทายาทหรือคนในครอบครัวที่ใช้นามสกุลเดียวกัน (มีทะเบียนบ้านเป็นเอกสารหลักฐาน) หรือกรณีที่ต้องการโอนให้กับสามีหรือภรรยา จะต้องมีหลักฐานเป็นเอกสารทะเบียนสมรส โดยการโอนรถแบบยกให้ จะต้องใช้สัญญายกให้แทนสัญญาซื้อขาย
เอกสารโอนรถ ต้องใช้อะไรบ้าง กรณีโอนรถให้คนในครอบครัว ไม่ได้ซื้อขาย
การโอนรถแบบยกให้ หรือ โอนรถแบบไม่ได้ซื้อขาย ต้องใช้เอกสาร ดังนี้
- สมุดคู่มือจดทะเบียนรถ ทั้งตัวจริงและสำเนา
- บัตรประจำตัวประชาชนของผู้โอนและผู้รับโอน ทั้งตัวจริงและสำเนา
- แบบคำขอโอนและรับโอน ที่มีการลงลายมือชื่อไว้อย่างครบถ้วน
- สัญญายกให้
- สำเนาทะเบียนบ้าน ทั้งตัวจริงและสำเนา กรณีบิดามารดาโอนให้บุตร
- สำเนาทะเบียนสมรส กรณีสามีภรรยาโอนให้กัน
- หนังสือมอบอำนาจ กรณีที่ไม่ได้มาทำเรื่องด้วยตนเอง
หนังสือยกรถให้ลูก ทำอย่างไร เสียค่าโอนไหม
การโอนรถแบบไม่ได้ซื้อขาย หรือการโอนรถแบบยกให้ลูกนั้น จะมีขั้นตอนเหมือนกับการโอนรถให้คนในครอบครัวที่มีนามสกุลเดียวกัน แต่หากลูกไม่ได้มีนามสกุลเดียวกับพ่อแม่ที่เป็นผู้โอน จะต้องมีเอกสารเป็นทะเบียนบ้าน และสำเนาใบเปลี่ยนชื่อสกุล (ถ้ามี) ของทั้งผู้โอนและผู้รับโอนเป็นหลักฐาน
สำหรับค่าธรรมเนียมการโอนรถแบบยกให้ มีดังต่อไปนี้
- ค่าธรรมเนียมการโอน 100 บาท
- ค่าคำขอ 5 บาท
- ค่าอากรแสตมป์ 500 บาท ต่อราคาประเมินรถทุก 100,000 บาท
- ค่าเปลี่ยนแผ่นป้ายทะเบียน 200 บาท (กรณีประสงค์จะเปลี่ยน)
- ค่าเปลี่ยนเล่มทะเบียน 100 บาท (กรณีขาดหรือชำรุด)
- ค่าธรรมเนียมการตรวจสภาพรถยนต์ 50 บาท
ข้อควรระวังในการโอนรถแบบยกให้
แม้ว่าการโอนรถแบบไม่ได้ซื้อขาย หรือการโอนรถ เปลี่ยนเจ้าของ จะเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ให้แบบสมัครใจ แต่ก็นับว่ามีความเสี่ยงทางด้านกฎหมายและด้านภาษีตามมา ซึ่งทั้งผู้โอนและผู้รับโอนควรพิจารณาประเด็นเหล่านี้ให้ดีก่อนทำการโอนรถ
ความเสี่ยงทางกฎหมาย
- หากรถที่โอนมีคดีความ หรือถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย ผู้โอนอาจถูกเรียกร้องให้รับผิดชอบด้วย
- กรณีผู้รับโอนยังไม่บรรลุนิติภาวะ ไม่สามารถทำสัญญาซื้อขายได้ การโอนรถแบบยกให้จึงอาจจะไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย
- กรณีผู้รับโอนเป็นบุคคลล้มละลาย เจ้าหนี้ของผู้รับโอนอาจมีสิทธิในการยึดรถคันดังกล่าวเพื่อชำระหนี้ได้
ความเสี่ยงด้านภาษี
- ผู้โอนอาจต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากมูลค่ารถที่โอน
- ผู้รับโอนอาจต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ หากนำรถไปประกอบธุรกิจ
ซึ่งเมื่อรับโอนรถมาแล้ว ผู้รับโอนอาจจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับรถด้วยตนเอง เช่น ค่าธรรมเนียมการต่อทะเบียนรถ ตลอดจนค่าซ่อมแซมรถ ยิ่งไปกว่านั้น การโอนรถแบบไม่ได้ซื้อขายให้เป็นกรรมสิทธิ์ของญาติหรือบุคคลในครอบครัว ยังอาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ของผู้โอนและผู้รับโอนในอนาคตได้
โอนรถยนต์ เมื่อเจ้าของเดิมเสียชีวิต มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง
ในกรณีที่เจ้าของเดิมเสียชีวิต แล้วไม่ได้มีการทำพินัยกรรม หรือยังไม่ได้แต่งตั้งผู้จัดการมรดกตามกฎหมาย จะยังไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์เพื่อเปลี่ยนเจ้าของรถได้ จะต้องดำเนินการแต่งตั้งผู้จัดการมรดกให้เรียบร้อยก่อน และเมื่อแต่งตั้งเรียบร้อยแล้ว จะต้องโอนย้ายกรรมสิทธิ์ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้มีการลงลายมือชื่อและวันที่ในใบคำขอโอนและใบรับโอน อีกทั้งภาษีของรถยนต์จะต้องเหลือไม่น้อยกว่า 30 วัน หากเหลือน้อยกว่า 30 วัน จะต้องชำระภาษีประจำปีให้เรียบร้อยก่อน
หากเจ้าของรถที่เสียชีวิตไปแล้วยังผ่อนรถไม่หมด บริษัทไฟแนนซ์จะส่งบิลมาเรียกเก็บค่างวดตามปกติ ซึ่งผู้รับมรดกจะต้องตัดสินใจว่าจะผ่อนต่อหรือไม่ โดยที่ผู้จัดการมรดกจะต้องทำการเปลี่ยนสัญญาเช่าซื้อรถให้เรียบร้อย
สำหรับเอกสารการโอนรถที่ต้องใช้เมื่อเจ้าของเดิมเสียชีวิต มีดังนี้
- สมุดคู่มือจดทะเบียนรถ
- สำเนาหรือภาพถ่ายใบมรณบัตรของเจ้าของรถ
- บัตรประชาชนของผู้โอนและผู้รับโอน
- ทะเบียนบ้านของผู้โอนและผู้รับโอน
แต่หากไม่มีพินัยกรรมหรือคำสั่งศาลในการโอนย้ายกรรมสิทธิ์รถ จะต้องใช้เอกสารเพิ่มเติมเป็นเอกสารหนังสือรับรองผลการสอบปากคำทายาทจากสำนักงานเขต
ในอีกกรณี หากได้รับกรรมสิทธิ์รถเนื่องจากเป็นผู้รับมรดก จะต้องใช้เอกสารเป็นหลักฐานการได้มาของรถ เช่น สัญญาเช่าซื้อรถยนต์ ใบเสร็จรับเงิน และใบกำกับภาษี รวมถึงใบคำสั่งศาล หรือเอกสารราชการที่ระบุชื่อผู้รับมรดกหรือผู้จัดการมรดก พร้อมทั้งบัญชี รายละเอียดของรถ
โดยมีขั้นตอนการโอนรถ ดังต่อไปนี้
- นำรถเข้าตรวจสอบที่ฝ่ายตรวจสภาพรถ ณ ที่ทำการของสำนักงานขนส่ง
- ยื่นตรวจสอบคำขอพร้อมเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ที่เตรียมไว้
- ชำระค่าธรรมเนียม
- รอรับเอกสารคืน
จะเห็นได้ว่า การโอนรถแบบไม่ได้ซื้อขาย ไม่ว่าจะเป็นการโอนรถแบบยกให้ หรือโอนกรณีเจ้าของเดิมเสียชีวิต ล้วนมีรายละเอียดและเงื่อนไขที่ต้องศึกษาให้ดีก่อนทำการโอน หากเป็นการโอนรถให้คนในครอบครัวโดยที่รถมีการทำประกันแบบไม่ระบุชื่อผู้ขับขี่เอาไว้ สามารถใช้กรมธรรม์นั้นต่อได้เลย ซึ่งจะได้รับความคุ้มครองต่อจนกว่าประกันจะหมดอายุ แต่เจ้าของรถที่ได้รับการโอนกรรมสิทธิ์มา ควรจะแจ้งกับประกันว่าได้มีการโอนย้ายกรรมสิทธิ์เรียบร้อยแล้ว และผู้ที่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ ก็จะถูกนับว่าเป็นผู้เอาประกันตามที่กรมธรรม์ระบุไว้
แต่หากเป็นประกันที่ระบุผู้ขับขี่ ผู้เอาประกันจะต้องแจ้งเปลี่ยนชื่อผู้ขับขี่ให้บริษัทประกันทราบ เพื่อจะได้มีการปรับเปลี่ยนอัตราเบี้ยประกันตามความเหมาะสม หากไม่ทำเช่นนั้น ผู้เอาประกันจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าเสียหายส่วนแรก หรือค่า Excess ด้วยตนเองเมื่อมีการเคลมประกันเกิดขึ้น
สำหรับใครที่ได้รับการโอนกรรมสิทธิ์รถมา และกำลังมองหาประกันรถยนต์ในราคาสุดคุ้ม ประกันรถยนต์ จาก แรบบิท แคร์ เป็นอีกตัวเลือกที่อยากแนะนำ เพราะมีแผนประกันให้เลือกมากมายจาก 15 บริษัทประกันชั้นนำ มั่นใจได้เลยว่าจะได้แผนประกันในราคาที่คุ้มค่าที่สุด พร้อมส่วนลดค่าเบี้ยประกันสูงสุดถึง 70%
ความคุ้มครองประกันรถยนต์