แผ่นปูนหล่นทับรถ สะพานถล่ม ประกันคุ้มครองหรือไม่?
คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะบางครั้งเราเองอาจต้องขับรถไปในพื้นที่หรือเส้นทางที่กำลังมีการก่อสร้างหรือมีการซ่อมบำรุงอยู่ จริง ๆ แล้วอุบัติเหตุเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา บางครั้งก็อาจจะรอดไปแบบเส้นยาแดงผ่าแปด ทำให้หลายคนเกิดความไม่สบายใจ เกิดความกังวลใจว่าจะมีอะไรหล่นลงมาทับรถหรือไม่ หรือจะได้รับความเสียหายหรือบาดเจ็บตรงไหนไหมในขณะที่ขับผ่านพื้นที่เหล่านั้น เพราะในปัจจุบันมีหลายข่าว เกี่ยวกับสะพานถล่ม แผ่นปูนหล่นทับรถ ในหลาย ๆ พื้นที่โดยเฉพาะย่านพระราม 2 เนื่องจากมักจะมีเครนหรือสิ่งก่อสร้างหลุดร่วงลงมาอยู่เป็นประจำ วันนี้ แรบบิท แคร์จะมาแนะนำเกี่ยวกับวิธีการรับมือ ว่าต้องทำอย่างไรเมื่อสะพานถล่ม แผ่นปูนหล่นทับรถ และอธิบายว่าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ประกันคุ้มครองไหม ไปดูกันเลย!!
สะพานถล่ม แผ่นปูนหล่นทับรถ ต้องรับมืออย่างไร?
สะพานถล่ม หรือแผ่นปูนหล่นทับรถ เชื่ออย่างแน่นอนว่าเป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น และไม่ควรเกิดขึ้นกับใคร เพราะผลที่ตามมาคือความเสียหายที่รุนแรงแก่ชีวิตและทรัพย์สิน ทำให้ผู้ประสบภัยเกิดความกระทบกระเทือนทั้งด้านร่างกายและจิตใจ หากคุณอยู่ในเหตุการณ์นั้น แต่ไม่ได้รับการบาดเจ็บอะไร สิ่งที่ควรทำ มีดังต่อไปนี้
1. ตั้งสติ
เมื่อพบเจอเหตุการณ์เหล่านี้ สิ่งแรกที่ควรทำเลยคือการตั้งสติและควบคุมอารมณ์ อย่าตกใจ โวยวายเกินกว่าเหตุ แม้ว่าอุบัติเหตุประเภทนี้จะก่อให้เกิดความตกใจและหวาดกลัวกับผู้พบเห็น และผู้ใช้รถใช้ถนนท่านอื่น แต่การที่เราสามารถคุมสติได้ จะช่วยให้คุณปลอดภัย และสามารถช่วยเหลือหรือดำเนินการแก้ไขปัญหาได้อย่างราบรื่นและรวดเร็ว และช่วยลดความเสียหายอื่น ๆ ที่อาจจะตามมาได้
2. ตรวจสอบดูความปลอดภัยของตนเอง
หากพบเจอเหตุการณ์สะพานถล่ม หรือแผ่นปูนหล่นทับรถ แล้วรถยนต์ของคุณไม่ได้เกิดความเสียหายอะไรมากนัก สิ่งที่ควรทำหลังจากตั้งสติได้แล้ว คือการตรวจดูความปลอดภัยของตนเองและผู้โดยสารที่นั่งมาบนรถของคุณ ว่าบาดเจ็บหรือมีใครมีอาการผิดปกติอะไรไหม และถ้าหากรถอยู่ใกล้รถคันที่เกิดเหตุ ให้พยายามนำตัวออกห่างจากรถคันนั้นก่อน และมายังบริเวณพื้นที่ปลอดภัยทันที แต่ถ้าหากรถของคุณประสบอุบัติเหตุ ให้พยายามออกมาจากรถคันนั้นให้เร็วที่สุดและขอความช่วยเหลือ
3. หลีกเลี่ยงการเคลื่อนย้ายรถ
หากรถของคุณประสบอุบัติเหตุสะพานถล่ม แผ่นปูนหล่นทับรถ หรือมีสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ หล่นลงมาใส่รถและมีความรุนแรง เช่น กระจกแตก ให้พยายามหลีกเลี่ยงการเคลื่อนย้ายรถ ให้รอจนกว่าจะมีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาตรวจสอบและให้ความช่วยเหลือ เพราะถ้าหากคุณพยายามเคลื่อนย้ายอาจทำให้เกิดความเสียหายมากขึ้น หรือได้รับบาดเจ็บที่มากขึ้น
4. ขอความช่วยเหลือ
เมื่อคุณเป็นผู้ประสบภัยและเสียหายจากเหตุการณ์สะพานถล่ม แผ่นปูนหล่นทับรถ ให้คุณพยายามขอความช่วยเหลือจากคนบริเวณนั้น หรือหากคุณยังมีสติครบถ้วนให้รีบโทรหาเจ้าหน้าที่เพื่อขอความช่วยเหลือ และรายงานเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น หากมีผู้บาดเจ็บให้รีบโทร 1669 เพื่อที่จะให้หน่วยงานนั้น ๆ ประสานงานกับเจ้าหน้าที่เพื่อเข้ามาช่วยเหลืออย่างทันท่วงที
5. บันทึกภาพเหตุการณ์บริเวณนั้น
เมื่อตรวจสอบดูเบื้องต้นแล้วเกี่ยวกับความเสียหายที่เกิดขึ้น และตรวจสอบดูแล้วว่ามีใครบริเวณนั้นได้รับบาดเจ็บไหม หากอยู่ในเหตุการณ์นั้น แนะนำให้รีบหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเพื่อบันทึกภาพและวิดีโอเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้น ๆ และถ้ารถของคุณเสียหาย ให้ถ่ายภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นเอาไว้ เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายเคลมของบริษัทประกัน
6. ติดต่อบริษัทประกันภัย
หากรถของคุณได้รับความเสียหายในเหตุการณ์สะพานถล่ม หรือแผ่นปูนหล่นทับรถ หากจัดการอะไรเรียบร้อยแล้ว แนะนำให้คุณคิดต่อบริษัทประกัน เพื่อแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้น ๆ ที่เกิดขึ้น โดยอธิบายว่าเกิดขึ้นจากอะไร และเรียงลำดับเหตุการณ์ให้ชัดเจน แม้เหตุการณ์แบบนี้จะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ๆ แต่บริษัทจะมีคำแนะนำและข้อควรปฎิบัติให้คุณ เพื่อรักษาสิทธิและเพื่อให้ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ที่คุณซื้อไว้
สะพานถล่มใครต้องรับผิดชอบ?
เมื่อเกิดเหตุการณ์และอุบัติเหตุสะพานถล่ม หรือแผ่นปูนหล่นทับรถ โดยเกิดจากการที่ถนนกำลังก่อสร้าง หรือมีการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรออยู่ แล้วเราขับรถผ่าน แบบนี้ใครจะรับผิดชอบ คำตอบคือต้องทำการตรวจสอบว่าโครงการนั้นมีใครเป็นผู้ดำเนินการ เป็นหน่วยงานไหนกำกับดูแล เป็นภาครัฐหรือภาคเอกชน เพื่อที่ทางผู้เสียหายจะได้ทราบว่าควรฟ้องร้องหรือเรียกร้องค่าเสียหายได้จากใครและแบบใด
ตัวอย่างเหตุการณ์และคำพิพากษาของศาล
ถนนพระรามสอง กำลังมีการซ่อมบำรุงท่อระบายน้ำ โดยที่มีการละเลยไม่ได้มีการดำเนินการปิดกั้นทางบริเวณที่ชำรุดและกำลังซ่อมแซมเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น ทำให้มีรถสัญจรไปมา โดยเหตุการณ์นี้ถือเป็นการละเลยต่อหน้าที่ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย ทำให้เกิดอุบัติเหตุและความเสียหายเกิดขึ้น ผู้เสียหายจึงฟ้องร้องคดีตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยผู้ที่ถูกฟ้องจะต้องรับผิดชอบและชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้อง (อ้างอิงคำพิพากษาศาลปกครอง)
สะพานถล่ม แผ่นปูนหล่นทับรถ ประกันรับผิดชอบหรือไม่?
ตามหลักการที่ถูกต้องของประกันรถยนต์ คือประกันจะให้ความคุ้มครองกรณีรถยนต์เกิดความเสียหายอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุ ซึ่งการที่สะพานถล่ม แผ่นปูนหล่นทับรถ หรือมีสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ หล่นมาใส่รถ เหล่านี้ล้วนเป็นอุบัติเหตุ ที่เกิดขึ้นได้และไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือคาดเดาล่วงหน้าได้ เป็นสิ่งที่ไม่มีการบอกเหตุหรือสัญญาณเตือนล่วงหน้า ดังนั้น ประกันรถยนต์ชั้น 1 จะให้ความคุ้มครองครอบคลุมทุกกรณี และคุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ของคุณ รวมถึงรถที่เป็นคู่กรณีอีกด้วย นอกจากนี้ ประกันรถยนต์ยังให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับความเสียหายต่อชีวิต การบาดเจ็บทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ดังนั้น อย่าเป็นกังวลไป หากพบเจอเหตุการณ์แบบนี้ให้รีบติดต่อบริษัทประกัน เพื่อขอรับคำแนะนำที่ถูกต้องและขั้นตอนในการเคลมต่อไป
หากเกิดเหตุการณ์แผ่นปูนหล่นทับรถ แล้วเราเป็นฝ่ายถูก ส่วนคู่กรณีเป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้าง แบบนี้ประกันรถยนต์ชั้น 1, 2+, 3+ จะให้ความคุ้มครอง โดยที่บริษัทประกันจะมีหน้าที่ไปเรียกร้องค่าเสียหาย กับทางอาคารสถานที่ หรือบุคคลที่ละเมิดรถยนต์คุณเอง โดยที่คุณไม่ต้องทำอะไร
แต่ถ้าหากเป็นประกันรถยนต์ชั้น 2,3 จะไม่ได้คุ้มครองอุบัติเหตุแบบมีคู่กรณี ดังนั้น ผู้เอาประกันหรือเจ้าของรถจะต้องเป็นคนไปเรียกร้องค่าเสียหายจากคู่กรณีเอง
อุบัติเหตุบนท้องถนน ใครรับผิดชอบ?
อ้างอิงจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หมวดที่ 1 มาตรา 420 เรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนนกล่าวว่า “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทําละเมิดจําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น” จะเห็นได้ว่ามีหลายกรณีที่เกิดเหตุการณ์สะพานถล่ม แผ่นปูนหล่นทับรถ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
- แผ่นปูนที่อยู่บนทางด่วน หล่นทับคนเสียชีวิต ผู้ที่ต้องรับผิดชอบในกรณีนี้ คือ การทางพิเศษ หรือบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ครั้งนี้ โดยผู้เสียหายสามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้รับผิดชอบได้โดยตรง
อย่างไรก็ตามไม่เพียงเท่านั้น หากรถยนต์ของคุณได้รับความเสียหายด้วย สามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากประกันภัยรถยนต์ที่ทำไว้ได้ โดยค่าใช้จ่ายจะขึ้นอยู่กับทุนประกัน และประเภทของประกันรถยนต์ที่เจ้าของรถเลือกทำไว้
ซึ่งทุนประกัน ก็คือค่าสินไหมทดแทนที่บริษัทประกันจะทำการจ่ายให้แก่ผู้เอาประกัน เมื่อรถยนต์เกิดความเสียหายจากอุบัติเหตุ ซึ่งการคำนวณทุนประกันจะเริ่มต้นที่ 80% ของราคากลางตลาด และวิเคราะห์จากรุ่นรถ ปีผลิตรถ เป็นต้น
หลังจากที่ทราบถึงแนวทางการรับมือ และเข้าใจหลักการเคลมประกันรถยนต์ในกรณีนี้ไปแล้ว หลายคนคงตระหนักถึงความสำคัญของการมีประกันรถยนต์ติดรถไว้ ดังนั้นอย่าลังเลที่จะซื้อประกันรถยนต์ชั้น 1 กับ แรบบิท แคร์ เพราะหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินแบบนี้ประกันจะให้ความคุ้มครอง และเรายังมีบริการช่วยเหลือฉุกเฉินบนท้องถนนตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ว่าจะเกิดเหตุเวลาไหนก็สามารถโทรหาเจ้าหน้าที่ได้ตลอดทุกที่ทุกเวลา นอกจากนี้เรายังมีบริการรถเช่าให้ขับในระหว่างซ่อม มาพร้อมศูนย์บริการทั่วประเทศ หากสนใจโทรเลย 1438
ความคุ้มครองประกันรถยนต์