ทำความรู้จักกับ Productivity Shame…เมื่อทำงานเท่าไหร่ก็รู้สึกว่ายังทำไม่มากพอ
เคยไหม? แค่อยากจะพักผ่อนหลังเลิกงานก็รู้สึกผิด เพราะคิดว่ามันเป็นเรื่องน่าละอายที่เราจะทำสิ่งที่ไม่ Productive บางคนถึงขั้นทำงานเสร็จไปหลายชิ้นแล้วแต่ก็ยังรู้สึกว่าทำเท่าไหร่ก็ไม่พอ อาการแบบนี้มาจากความรู้สึกที่เรียกว่า Productivity Shame หรือความรู้สึกละอายใจที่ตัวเองไม่ Productive ซึ่งส่งผลให้คนทำงานเกิดอาการเครียด หรือถึงขั้น Burnout วันนี้ JobThai เลยอยากพามาพบกับสาเหตุของการเกิดอาการเหล่านี้รวมถึงวิธีก้าวผ่านมันไปให้ได้
สาเหตุที่เกิด Productivity Shame
- เราผูกคุณค่าตัวเองกับการบรรลุผลสำเร็จ
ความละอายใจอาจเริ่มต้นมาจากความรู้สึกดีที่เราได้ทำอะไร ๆ จนสำเร็จ และเราเริ่มเอาความ Productive มาผูกกับคุณค่าในตัวเอง พอช่วงไหนที่รู้สึกว่าตัวเองไม่ Productive ก็จะรู้สึกว่าคุณค่าในตัวเองเหมือนลดลงตามไปด้วย ซึ่งการมองว่าตัวเองมีคุณค่าได้เพราะการทำงานมาก ๆ จะทำให้เรารู้สึกผิดแบบไม่มีจบสิ้น
- ตั้งเป้าหมายเกินตัวเองจะทำได้
บางครั้งเราตั้งเป้าหมายที่ใหญ่เกินจริง เช่น เราอยากทำยอดขายให้ดี แต่ไม่ได้ระบุขอบเขตให้ชัดเจน สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือพอลงมือทำจริงแล้ว เราก็จะเริ่มรู้สึกว่ามันดูไม่มีอะไรคืบหน้าสักอย่างจนกลายเป็นความละอายใจในที่สุด
- เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น
อีกหนึ่งที่มาของความทุกข์คือการที่เราเอาตัวเองไปเทียบกับคนอื่น โดยเฉพาะเมื่อเรารู้สึกว่าตัวเองอยู่ท่ามกลางผู้คนที่ทำนู่นทำนี่สำเร็จมากมาย ซึ่งในความจริง ถ้าเราจะพูดถึงเรื่องความ Productive แล้ว การลงมือทำอย่างสม่ำเสมอนับว่าสำคัญไม่แพ้การไปให้ถึงเป้าหมายเลย
วิธีก้าวผ่าน Productivity Shame
- กำหนดนิยามคำว่า “พอ” ซะใหม่
เราต้องหาคำตอบให้ได้ว่าคำว่า “พอ” ของเราคืออะไร ทำใจยอมรับว่ายังไงวันวันนึงก็ต้องมีสิ่งที่ทำให้เราทำงานไม่เต็มที่เข้ามาบ้าง เช่น ความเหนื่อยล้า และสิ่งรบกวนต่าง ๆ เพราะฉะนั้นก็ลองปรับมุมมองใหม่ว่าวันดี ๆ วันนึงมันควรจะเป็นยังไงเพื่อไม่ให้ตัวเองมัวแต่โฟกัสอยู่แค่ความ Productive
- ตั้งเป้าหมายที่เป็นไปได้ จับต้องได้
เมื่อเป้าหมายชัดและจับต้องได้ เราจะเริ่มมองเห็นความก้าวหน้าที่ชัดเจน ซึ่งจะช่วยเสริมพลังใจได้ดีเมื่อเห็นตัวเองกำลังเข้าใกล้เป้าหมายเรื่อย ๆ โดยทุกครั้งที่จะตั้งเป้าหมายเราต้องดูว่า “เราอยากประสบความสำเร็จในเรื่องอะไร” “เราจะไปถึงจุดนั้นได้ยังไง” และ “ทำไมเราถึงอยากทำมันให้สำเร็จ”
- หยุดคิดว่าคนอื่นทำอะไร ๆ เยอะกว่าตัวเอง
จงเห็นคุณค่าในทุก ๆ ขั้นตอนการทำงานให้มากขึ้น มองคนอื่นเป็นแรงบันดาลใจได้แต่ก็อย่าเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับเขา แต่ละคนก็มีเงื่อนไขในชีวิตไม่เหมือนกัน ยังไงการลงมือทำสิ่งเล็ก ๆ อย่างสม่ำเสมอก็จะพาเราไปถึงความสำเร็จในท้ายที่สุดเอง ที่สำคัญคืออย่าเอาปริมาณมาเป็นตัววัดความ Productive
- ย้ำให้ตัวเองเห็นว่าที่ทำมาไม่เสียเปล่า
เตือนให้ตัวเองเห็นว่าตอนนี้ตัวเองทำไปมากขนาดไหนแล้วโดยเราสามารถเขียนไทม์ไลน์การทำงานที่มีเป้าหมายอยู่ตรงปลายทางเพื่อให้เห็นความคืบหน้าว่าตอนนี้เราทำไปกี่เปอร์เซ็นต์แล้วและมาไกลจากจุดเริ่มต้นมากแค่ไหน
- เอ็นจอยเวลาส่วนตัวเมื่อเลิกงาน
ปิดการแจ้งเตือนจากเรื่องงานเมื่อถึงเวลาส่วนตัวเพื่อให้สมองได้รีชาร์จ อย่าปล่อยความละอายใจมาบังคับให้เราต้องเปิดดูงาน ตัดตัวเองออกจากสิ่งต่าง ๆ ที่อาจทำให้จิตใจอ่อนล้า ทั้งโซเชียลมีเดีย หรือพอดแคสต์บางรายการที่เล่าถึงความสำเร็จจนทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองยังไม่ดีพอ และทำกิจกรรมที่เราได้อยู่กับตัวเองจริง ๆ เช่น การอ่านหนังสือ การวาดภาพ
ความละอายใจไม่ใช่สิ่งที่จะช่วยผลักดันความ Productive ในการทำงานของเราได้อย่างแท้จริง ถึงมันจะปลุกให้เราลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างได้ แต่เราก็อาจจะไม่ได้ทำเพราะอยากทำ เมื่อรู้สึกว่าตัวเองยังทำไม่มากพอกให้เตือนตัวเองว่า “วันนี้ฉันเต็มที่กับมันแล้วและฉันสมควรได้พักเพื่อเอาแรงมาทำมันต่อในวันพรุ่งนี้”
Thirakan Thongseenual เป็นนักเขียนที่มีประสบการณ์มากกว่า 3 ปี ที่ RabbitCare และ Asia Direct โดยมีความชำนาญในประกันรถยนต์ เน้นเขียนบทความที่เผยแพร่บน Blog และมีความเชี่ยวชาญด้าน SEO กว่า 4 ปี ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอได้ใช้ในการสร้างความรู้และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของ RabbitCare อย่างมีประสิทธิภาพ จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ปริญญาตรี สาขา Information Technology