ยานยนต์ไร้คนขับ คือ อะไร ใช้เทคโนโลยีอะไรถึงทำให้รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติได้
เทคโนโลยีที่เริ่มเติบโตอย่างรวดเร็ว จนบางครั้งเราแทบไม่ตกใจกันแล้ว โดยเฉพาะยานยนต์ไร้คันขับที่มีข่าวพัฒนาออกมาอย่างต่อเนื่อง มาในตอนนี้เริ่มมีรถยนต์ไฟฟ้าหลายค่าย สามารถวางระบบรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ หรือในบางประเทศมีการผลิตยานยนต์ไร้คนขับใช้งานจริงออกมาเป็นจำนวนมากแล้ว หากอ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล แนวโน้มการผลิตและการใช้งานยานยนต์ไร้คนขับในอนาคต จะเพิ่มขึ้นสูงเกือบปีละ 10 ล้านคันเลยก็ว่าได้
ดังนั้นใครที่กำลังมีความสนใจเกี่ยวกับข้อมูลยานยนต์ไร้คนขับ ลองมาศึกษาเพิ่มเติมไปกับเนื้อหาในบทความที่ แรบบิท แคร์ เตรียมมาให้ด้วยกันเลยดีกว่า!
ยานยนต์ไร้คนขับ คือ อะไร
ยานยนต์ไร้คนขับ คือ รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติโดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้คนมาควบคุม เพียงแค่ตั้งค่าระบบเอาไว้ พร้อมกับใช้งานเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาช่วยให้ตัวรถยนต์สามารถเคลื่อนที่ได้ด้วยตัวเองตามเส้นทาง ความเร็ว ระยะเวลาที่คนเรากำหนดเอาไว้ได้ ซึ่งเราจะมีโอกาสได้เห็นยานยนต์ไร้คนขับอยู่ 2 รูปแบบ คือ ยานยนต์สาธารณะที่เป็นเหมือนรถรับส่ง กับรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ ที่ขอแค่มีคนขึ้นไปสตาร์ตรถยนต์เอาไว้ จากนั้นตั้งค่าระบบเพื่อการเดินทาง ผ่านสิ่งที่เรียกว่า Auto Pilot หรือชื่อระบบเฉพาะของรถยนต์แต่ละรุ่น เพียงเท่านี้รถยนต์คันที่มีระบบดังกล่าว ก็สามารถเดินทางได้ด้วยตัวเองจนถึงจุดหมาย แบบที่ไม่ต้องอาศัยมนุษย์เข้ามาควบคุมเลยนั่นเอง
รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ ใช้เทคโนโลยีอะไรบ้าง
รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ หรือยานยนต์ไร้คนขับ ต้องใช้งาน 4 เทคโนโลยีหลัก เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างราบรื่น ได้แก่ Computer Vision, Deep Learning, Robotic และ Navigation โดยเทคโนโลยีทั้งหมด ล้วนเป้นองค์ประกอบสำคัญที่จะขาดไปไม่ได้แม้แต่ตัวเดียว หรือถ้าหากระบบไหนทำงานผิดพลาดได้ไม่เต็ม 100% ก็ไม่สามารถใช้งานยานยนต์ไร้คนขับได้อย่างสมบูรณ์ ฉะนั้นเดี๋ยวมาหาคำตอบไปด้วยกันว่าแต่ละเทคโนโลยี มีหน้าที่อย่างไรบ้าง
Computer Vision
Computer Vision ระบบเทคโนโลยีที่เปรียบเสมือนกับ หู และ ตา ของยานยนต์ไร้คนขับ เพื่อสังเกตการ์สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปในเส้นทางการขับขี่ ซึ่งจะใช้งานควบคู่ไปกับกล้องรอบทิศทางแบบ 360 องศา ร่วมกับระบบเซนเซอร์เพื่อตรวจสอบวัตถุรอบด้านให้ได้ครอบคลุมมากที่สุด
Deep Learning
Deep Learning เป็นระบบประมวลผลแบบปัญญาประดิษฐ์ของยานยนต์ไร้คนขับ ที่ผ่านการเรียนรู้ข้อมูลมากมายนับไม่ถ้วน จนมีประสิทธิภาพในการประมวลผล เพื่อตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง โดยอ้างอิงข้อมูลที่ได้รับมาจากระบบ Computer Vision อีกทีหนึ่ง เช่น การชะลอความเร็วหากรถคันหน้าเบรก การสังเกตป้ายจราจรเพื่อปฎิบัติตามกฎหมาย การสังเกตไฟจราจร ฯลฯ
Robotic
Robotic ระบบที่คอยเชื่อมโยงระหว่างส่วนกลางที่ใช้ประมวลผล เข้ากับส่วนต่าง ๆ ของระบบภายในยานยนต์ไร้คนขับทั้งหมด เสมือนกับเส้นประสาทที่ยึดโยงร่างกายของมนุษย์ พร้อมส่งคำสั่งจากสมองให้แต่ละส่วนขยับไปตามคำสั่ง
Navigation
Navigation ระบบแผนที่ ใช้การระบุตำแหน่งของยานยนต์ไร้คนขับผ่านดาวเทียม ใช้ข้อมูลแผนที่ที่ปรากฎขึ้นมาในการวิเคราะห์เส้นทาง ทั้งยังมีการรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมอีกมากมาย เช่น ตำแหน่งของไฟจราจร ตำแหน่งทางม้าลาย ป้ายสัญญาณ ความกว้างของถนน และอื่น ๆ ซึ่งเมื่อได้รับข้อมูลทั้งหมดจากแผนที่ดาวเทียม จะมีการคิดประมวลผลร่วมกับภาพที่ได้จาก Computer Vision เพื่อให้เกิดการตัดสินใจที่แม่นยำที่สุดขึ้นมา
เห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่าระบบโดยรวมของยานยนต์ไร้คนขับ หรือรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติทั้งหมด ทำงานรวมกันเป็นหนึ่งเดียว หากขาดระบบไหนไปก็จะไม่สามารถใช้งานได้อย่างสมบูรณ์แบบ แม้กระทั่งหากระบบไหนเกิดความเสียหาย มีความผิดพลาดแม้เพียงเล็กน้อย ก็อาจนำไปสู่ความผิดพลาดในการขับขี่ได้เช่นกัน
ประโยชน์ของยานยนต์ไร้คันขับ
ประโยชน์ของยานยนต์ไร้คนขับนั้นถือว่ามีหลากหลายมุมมองอย่างมาก เริ่มตั้งแต่ความสะดวกสบายที่คนขับไม่ต้องควบคุมรถยนต์ ขอเพียงแค่นั่งอยู่บนรถเพื่อเดินทางก็พอแล้ว แถมการใช้งานระบบของยานยนต์ไร้คนขับ ยังมีส่วนช่วยเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน ที่ลดความผิดพลาดจากการขับขี่ของมนุษย์ได้มาก และแน่นอนว่าเมื่อลดความผิดพลาดในการขับขี่ ก็จะช่วยให้เกิดการขับขี่ที่มีระบบระเบียบมากขึ้นผ่านการใช้งานรูปแบบเดียวกัน
แต่ข้อจำกัดยังมีให้เห็นได้ชัดว่าเทคโนโลยี Deep Learning ของรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติในปัจจุบัน ยังไม่เพียงพอต่อการใช้งานบนท้องถนนจริงแบบ 100% ยังมีการประมวลผลที่ผิดพลาดให้เห็นอยู่บ้าง จึงต้องใช้เวลาในการพัฒนาอีกสักพัก เราถึงจะมีโอกาสได้เห็นยานยนต์ไร้คนขับวิ่งกันบนท้องถนนจนเป็นปกติ
ระดับของยานยนต์ไร้คนขับ
ระดับของยานยนต์ไร้คันขับ สามารถแบ่งออกได้มากถึง 6 ระดับด้วยกัน คือ Level 0, Level 1, Level 2, Level 3, Level 4 และ Level 5 ซึ่งการแบ่งระดับเป็นเลเวลแบบนี้ จะช่วยแยกแยะขีดจำกัดความสามารถ หรือหน้าที่ของยานยนต์ไร้คนขับได้ละเอียดมากขึ้น ทำให้เรามีความเข้าใจเกี่ยวกับระบบรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติได้อย่างชัดเจน ดังนี้
- Level 0: เป็นรถยนต์ธรรมดาที่ยังมีการบังคับควบคุมระบบทั้งหมดด้วยมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมทิศทาง การเหยียบคันเร่ง การเบรก เพียงแต่ระบบของรถยนต์สมัยใหม่อาจมีการช่วยเหลือ แจ้งเตือนแทรกแซงเข้ามาบ้าง แต่ยังไม่สามารถขับเคลื่อนได้เอง
- Level 1: ยังคงเป็นรถยนต์ที่ควบคุมโดยมนุษย์อยู่เช่นกัน แต่บางจุดสามารถใช้งานระบบช่วยควบคุมได้ เช่น การควบคุมความเร็ว หรือการบังคับทิศทาง
- Level 2: เริ่มมีระบบอัตโนมัติบางส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้สามารถควบคุมความเร็ว ไปจนถึงพวงมาลัยได้ในบางส่วน เพียงแต่ยังต้องอาศัยมนุษย์ในการสั่งการผ่านระบบหน้าจอ หรือแสตนด์บายพร้อมควบคุมอยู่ตลอดเวลา ถือเป็นระดับที่ใช้งานกับรถยนต์ส่วนมากในตลาด
- Level 3: คือ ระดับที่รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติได้แล้ว เพียงแต่ยังไม่ใช่ยานยนต์ไร้คันขับที่สมบูรณ์แบบ แม้จะเคลื่อนที่ไปยังจุดหมายได้ด้วยตัวเอง แต่ยังต้องการมนุษย์ในการเข้าแทรกแซงช่วงเวลาฉุกเฉินอยู่
- Level 4: ระดับของรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติที่มีความฉลาดมากขึ้นจาก Level 3 โดยสามารถขับเคลื่อนได้เอง ชะลอรถได้เองเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน หรือการหลบหลีกสิ่งกีดขวางก็ทำได้แล้วในระดับนี้
- Level 5: ยานยนต์ไร้คนขับแบบสมบูรณ์ที่สามารถเคลื่อนที่ ตัดสินใจทั้งหมดได้ด้วยตัวเอง วิเคราะห์สถานการณ์ตรงหน้าแม้มีมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันได้ ซึ่งระดับ Level 5 ไม่ต้องอาศัยมนุษย์ในการควบคุมอีกต่อไป
ปัจจุบันนี้ระดับที่เราพอจะมีโอกาสหาข่าวสาร หรือเห็นรูปร่างที่แท้จริงของยานยนต์ไร้คนขับได้นั้น ระดับสูงที่จะอยู่ที่ประมาณ Level 4 คือ รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติที่ใช้งานในหมู่บ้านนักกีฬาโอลิมปิกโตเกียว ที่ถูกมองว่ามีความสามารถใกล้เคียงกับระดับนี้มากที่สุดแล้ว ส่วนระดับที่เราเห็นมากที่สุดก็จะเป็น Level 2 ในรถยนต์แบรนด์ดังอย่าง Tesla ที่ใช้งานระบบชื่อว่า Advance Driver Assistan System
ยานยนต์ไร้คนขับ ข้อดี ข้อเสีย
ยานยนต์ไร้คนขับ ข้อดี ข้อเสีย จะสามารถวิเคราะห์ได้หลายอย่าง ซึ่งข้อดีของยานยนต์ไร้คนขับ มักจะมาจากเรื่องความสะดวกสบาย และความปลอดภัยเป็นหลัก แต่เรื่องข้อเสียจะเป็นปัจจัยภายนอกที่หากนำมาใช้งานร่วมกันกับยานยนต์ไร้คนขับแล้ว ยังถือว่าไม่สมบูรณ์แบบเท่าไหร่นัก จนกลายเป็นข้อเสียขึ้นมา โดยสามารถสรุปข้อมูลยานยนต์ไร้คันขับ ข้อดี ข้อเสีย ได้ดังนี้
ข้อดียานยนต์ไร้คนขับ
- ความสะดวกสบายในการใช้งาน เพราะอย่างที่เราทราบคุณสมบัติยานยนต์ไร้คนขับแบบสมบูรณ์กันไปแล้วว่า มนุษย์แทบไม่ต้องมีส่วนในการยุ่งเกี่ยวอะไรเลย เพียงแค่นั่งไปบนรถจนถึงที่หมายเท่านั้น
- ความปลอดภัยบนท้องถนน เนื่องจากการใช้งานระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติที่เหมือนกัน ทำให้เกิดการขับขี่อย่างมีระเบียบ มีการใช้งานความเร็วที่เหมาะสม การชะลอรถที่มีความปลอดภัยสูง ลดความผิดพลาด ความประมาทจากการขับขี่ของมนุษย์ได้มาก
ข้อเสียยานยนต์ไร้คนขับ
- ปัญหาผิวถนนที่ไม่พร้อมใช้งาน ทำให้ระบบเซนเซอร์หรือการประมวลผลของยานยนต์ไร้คนขับ ไม่สามารถประมวลผลได้ทันเวลา ยังคงเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้
- ปัญหาการขับขี่ร่วมกับรถธรรมดา โดยเฉพาะในช่วงการเปลี่ยนผ่าน ที่บนถนนยังไม่มีการใช้งานยานยนต์ไร้คนขับทั้งหมด เมื่อเจอพฤติกรรมการขับขี่ของมนุษย์ที่แตกต่างกันออกไป อาจทำให้ระบบประมวลผลทำงานได้ยากเช่นเดียวกัน
- ปัญหาป้ายจราจรผิดพลาด จะยิ่งส่งผลให้การประมวลผลของยานยนต์ไร้คนขับ เกิดความไม่สมบูรณ์แบบ และกลายเป็นปัญหาใหญ่บนท้องถนน
เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้หรือไกลที่กำลังจะมาถึงนี้ เทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับคงมีส่วนเข้ามามีบทบาทอย่างมากบนท้องถนน ทำให้วิถีชีวิตของคนยุคนั้นเปลี่ยนแปลงไป แต่ปัจจุบันนี้ยังมีเพียงแค่รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติระดับ Level 2 ที่ใช้งานกันมากขึ้น ร่วมกับรถยนต์ธรรมดา การเลือกทำประกันรถยนต์ให้กับรถไม่ว่าจะมีระดับไหนก็ตาม จึงยังเป็นสิ่งสำคัญในเวลานี้ เพื่อให้รถยนต์ ผู้โดยสาร และทรัพย์สินได้รับการคุ้มครองที่ครอบคลุมที่สุด โดย แรบบิท แคร์ ยินดีให้คำปรึกษาเพื่อการเลือกประกันรถยนต์ที่เหมาะสมกับทุกรุ่นได้อย่างละเอียด เพียงติดต่อเข้ามาที่เบอร์ 1438 (โทรได้ทุกเวลา)
สรุป
ยานยนต์ไร้คนขับ คือ รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติโดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้คนมาควบคุม เพียงแค่ตั้งค่าระบบเอาไว้ โดยเทคโนโลยีที่น่าสนใจนั้น จะมีดังนี้
- Computer Vision ระบบเทคโนโลยีใช้งานควบคู่ไปกับกล้องรอบทิศทางแบบ 360 องศา ช่วยให้มองเห็นในการขับขี่
- Deep Learning เป็นระบบประมวลผลแบบปัญญาประดิษฐ์ของยานยนต์ไร้คนขับ
- Robotic ระบบที่คอยเชื่อมโยงระหว่างส่วนกลางที่ใช้ประมวลผล เข้ากับส่วนต่าง ๆ ของระบบภายใน
- Navigation ระบบแผนที่ ใช้การระบุตำแหน่งของยานยนต์ไร้คนขับผ่านดาวเทียม
โดยในปัจจุบัน ยานยนต์ไร้คนขับนั้น จะมีความสามารถขับเคลื่อนได้เอง ชะลอรถได้เองเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน หรือการหลบหลีกสิ่งกีดขวางได้ แต่ยังไม่ถึงขั้นที่สามารถขับขี่ได้อย่างอิสระ หรือตัดสินใจได้อย่างเต็มร้อย
Thirakan Thongseenual เป็นนักเขียนที่มีประสบการณ์มากกว่า 3 ปี ที่ RabbitCare และ Asia Direct โดยมีความชำนาญในประกันรถยนต์ เน้นเขียนบทความที่เผยแพร่บน Blog และมีความเชี่ยวชาญด้าน SEO กว่า 4 ปี ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอได้ใช้ในการสร้างความรู้และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของ RabbitCare อย่างมีประสิทธิภาพ จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ปริญญาตรี สาขา Information Technology