แคร์การเงิน

ต้องรู้! สรุปรวมค่าลดหย่อนภาษี ปี 64 มีอะไรบ้าง?

ผู้เขียน : Tawan

Tawan มีประสบการณ์สร้างสรรค์ผลงานออนไลน์ 2 ปี เขียนด้านยานยนต์ ประกันยานยนต์ที่ Rabbit Care

close
Published December 21, 2021

นอกจากตัวช่วยลดหย่อนภาษีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กองทุนรวม RMF หรือ SSF ที่หลายคนกำลังมองหาในช่วงสิ้นปีเพื่อเตรียมช่วยลดภาษีที่ต้องจ่าย ‘ประกันภัย’ ก็เป็นอีกตัวช่วยที่จะทำให้ได้รับทั้งความคุ้มครอง และสิทธิทางภาษีเช่นกัน แต่หลายคนอาจกำลังสงสัยว่า ประกันลดหย่อนภาษีมีอะไรบ้าง ประกันชีวิตลดหย่อนภาษีได้เท่าไร หรือประกันสุขภาพลดหย่อนภาษีตัวไหนดี แรบบิท แคร์ รวบรวมทุกข้อมูลของค่าลดหย่อนและประกันที่ซื้อแล้วลดหย่อนภาษีได้ประจำปี 64 มาฝากกัน

1. ค่าลดหย่อนภาษีมีอะไรบ้าง?

ค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แบ่งเป็น 4 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ ค่าลดหย่อนส่วนตัว, ค่าลดหย่อนอสังหาริมทรัพย์, ค่าลดหย่อนเงินบริจาค และค่าลดหย่อนประกันและการลงทุน โดยมีรายละเอียดการลดหย่อนและการใช้สิทธิทางภาษี ดังนี้

1.1 ค่าลดหย่อนส่วนตัว

ค่าลดหย่อนส่วนตัวของผู้มีเงินได้ ลดหย่อนได้ 60,000 บาท

1.2 ค่าลดหย่อนคู่สมรส

ค่าดูแลคู่สมรสที่ถูกต้องตามกฎหมายและไม่มีรายได้ เมื่อเลือกยืนแบบภาษีแบบแสดงรายการรวมกันจะใช้สิทธิลดหย่อนคู่สมรสได้สูงสุดไม่เกิน 1 คน เป็นค่าลดหย่อนได้ 60,000 บาทต่อปี

1.3 ค่าลดหย่อนบุตร

ค่าเลี้ยงดูบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมาย แบ่งเป็นยังไม่บรรลุนิภาวะ (อายุไม่ถึง 20 ปี) บรรลุนิติภาวะแล้ว (อายุ 20-25 ปี) และอายุเท่าใดก็ได้ที่ศาลสั่งให้เป็นบุคคลไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ จะใช้ลดหย่อนได้เท่าจำนวนลูกที่มี คนละ 30,000 บาทต่อปี หรือกรณีที่มีเฉพาะลูกบุญธรรม จะลดหย่อนได้สูงสุด 3 คน คนละ 30,000 บาทเท่านั้น

ถ้าลูกคนที่สองเกิดในปี 61 หรือหลังจากนั้น จะใช้สิทธิ์ลดหย่อนลูกคนที่สองเป็นต้นไปได้เพิ่มเป็นคนละ 60,000 บาท ทั้งนี้ ผู้ยื่นภาษีและคู่สมรสสามารถใช้ลูกคนเดียวกันในการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้เต็มจำนวนโดยไม่ต้องหารแบ่งกัน

1.4 ค่าลดหย่อนบิดามารดา

ค่าลดหย่อนเลี้ยงดูพ่อหรือแม่ของตัวเอง หรือพ่อแม่ของคู่สมรสที่ยังจดทะเบียนสมรสอยู่และไม่มีเงินได้ โดยพ่อหรือแม่มีอายุครบ 60 ปี มีรายได้ไม่เกิน 30,000 ต่อปี ยังมีชีวิตอยู่หรือเสียชีวิตในระหว่างปี หรือก่อนยื่นแบบภาษีปีนั้นๆ รวมสูงสุด 4 คน จะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้คนละ 30,000 บาท

1.5 ค่าลดหย่อนผู้พิการหรือทุพพลภาพ

ค่าดูแลคู่สมรส ลูกหรือพ่อแม่ที่พิการหรือทุพพลภาพที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี จะใช้สิทธิลดหย่อนได้รายคน คนละ 60,000 บาท แต่หากผู้พิการหรือทุพพลภาพที่ดูแลอยู่เป็นบุคคลอื่นจะใช้สิทธิลดหย่อนได้ 60,000 บาทเพียงคนเดียวเท่านั้น

1.6 ค่าฝากครรภ์และทำคลอด

ค่าฝากครรภ์ ค่าคลอดบุตรและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะท้องลูก 1 คน ท้องลูกแฝด ท้องหลายครั้งในปีเดียวกัน หรือท้องและคลอดคนละปี โดยไม่ได้เบิกเงินสวัสดิของรัฐ (บัตรทอง, ประกันสังคม) หรือสวัสดิการของนายจ้าง จะใช้สิทธิลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงรวมกันต่อปีไม่เกินท้องละ 60,000 บาท

1.7 ดอกเบี้ยที่อยู่อาศัย

ดอกเบี้ยบ้านจากการกู้ยืมเพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย เช่น บ้านเดี่ยว คอนโด อาคารหรือห้องชุดมากกว่า 1 แห่งก็ได้ ทั้งเป็นการกู้เองหรือมีคนกู้ร่วมด้วยที่จะทำให้สิทธิในการลดหย่อนภาษีด้วยดอกเบี้ยบ้านถูกหารตามจำนวนคนที่กู้ร่วมทันที ไม่ว่าคนกู้ร่วมจะมีเงินได้ หรือจะใช้สิทธิ์ลดหย่อนด้วยดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยหรือไม่ก็ตาม จะหักภาษีตามที่จ่ายจริงรวมแล้วไม่เกินสูงสุดปีละ 100,000 บาท

1.8 ค่าธรรมเนียมจากการรับชำระเงินด้วยบัตรเดบิต

ค่าธรรมเนียมรับชำระเงินด้วยบัตรเดบิต ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่า ค่าวิชาชีพอิสระ ค่ารับเหมา หรือเงินจากธุรกิจอื่นๆ ระหว่างวันที่ 1 พ.ย. 59 – 31 ธ.ค. 64 จะลดหย่อนได้เพิ่ม 1 เท่า ตามที่จ่ายจริง

1.9 เงินบริจาคพรรคการเมือง

เงินบริจาคเพื่อสนับสนุนกิจกรรมของพรรคการเมือง ไม่ว่าจะบริจาคให้พรรคเดียว หรือหลายๆ พรรค จะใช้ลดหย่อนภาษีรวมกันได้ตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 10,000 บาท

1.10 เงินลงทุนธุรกิจวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise)

หุ้นหรือเงินลงทุนของผู้ร่วมก่อตั้ง หรือนักลงทุนอิสระในธุรกิจเพื่อสังคมที่จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม และแจ้งให้สิทธิลดหย่อนต่อกรมสรรพากร ตั้งแต่ปี 64 เป็นต้นไป จะใช้ลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาได้ตามที่จ่ายจริงไม่เกินปีละ 100,000 บาท

1.11 เงินบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคม และโรงพยาบาลรัฐ

เงินบริจาคพิเศษเพื่อสนับสนุนสถาบันการศึกษาและสถานพยาบาลของรัฐ หรือสนับสนุนกองทุนเพื่อการศึกษา พัฒนาครู ฝึกอาชีพ ช่วยคนพิการ ใช้ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของเงินบริจาคตามที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่นๆ

1.12 เงินบริจาคทั่วไป

เงินบริจาคทั่วไปที่บริจาคให้กับวัด โรงเรียนและโรงพยาบาลของรัฐ มูลนิธิ หรือองค์กรสาธารณกุศลที่มีรายชื่ออยู่ในหน่วยงานที่สามารถขอใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินบริจาคของกรมสรรพากร จะใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่นๆ ที่ไม่ใช่เงินบริจาคแล้ว

1.13 ประกันชีวิต

ประกันชีวิตแบบทั่วไป หรือแบบที่มีเงินฝากที่มีอายุความคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป โดยทำกับบริษัทประกันภัยในประเทศไทย และต้องไม่มีการเวนคืนก่อนครบความคุ้มครอง 10 ปี จะหักภาษีตามที่จ่ายจริงแต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท และสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากเบี้ยประกันชีวิตของคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ ตามที่จ่ายจริงอีกไม่เกิน 10,000 บาท

1.14 ประกันสุขภาพตัวเอง

ประกันสุขภาพที่ทำให้กับตัวเอง ไม่ว่าจะทำกับบริษัทประกันชีวิตหรือบริษัทประกันวินาศภัยในประเทศไทยที่มีเงื่อนไขคุ้มครองตรงกับข้อหนดของประกันสุขภาพที่จะใช้สิทธิลดหย่อนภาษี จะหักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตทั่วไปแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท

เงื่อนไขของประกันสุขภาพสำหรับใช้ลดหย่อนภาษี มีดังนี้

  • การประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลอันเกิดจากการเจ็บป่วยและการบาดเจ็บ การชดเชยการทุพพลภาพและการสูญเสียอวัยวะ เนื่องจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ
  • การประกันภัยอุบัติเหตุเฉพาะที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล การทุพพลภาพ การสูญเสียอวัยวะ และการแตกหักของกระดูก
  • การประกันภัยโรคร้ายแรง (Critical Illnesses)
  • การประกันภัยการดูแลระยะยาว (Long Term Care)

1.15 ประกันสุขภาพพ่อแม่

ประกันสุขภาพที่ทำให้กับพ่อแม่ของตัวเอง หรือพ่อแม่ของคู่สมรส มีอายุเท่าใดก็ได้ที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี และมีเงื่อนไขความคุ้มครองของประกันสุขภาพตรงตามที่กำหนดเช่นเดียวกับในประกันสุขภาพตัวเอง จะหักลดหย่อนได้ตามเบี้ยประกันที่จ่ายจริงไม่เกิน 15,000 บาท

1.16 ประกันสังคม

เงินสมทบประกันสังคมในแต่ละเดือน จะใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 9,000 บาท

1.17 ประกันชีวิตบำนาญ

ประกันชีวิตแบบบำนาญที่ทำกับบริษัทประกันภัยในไทย มีความคุ้มครองของกรมธรรม์อย่างน้อย 10 ปีเป็นต้นไป และมีกำหนดการจ่ายผลประโยชน์บำนาญสม่ำเสมอตั้งเเต่อายุ 55-85 ปี เป็นต้นไป ใช้ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีแต่ไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับ RMF แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท

1.18 กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ / กองทุน กบข. / กองทุนสงเคราะห์ครูฯ

เงินสมทบเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน ใช้สิทธิลดหย่อนทางภาษีได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15% ของเงินเดือน และเมื่อรวมทั้งหมดเเล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท

1.19 กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)

เงินซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund : RMF) ที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการใช้สิทธิภาษี ไม่ว่าจะเป็นการซื้อต่อเนื่องทุกปี หรือปีเว้นปี การถือไว้อย่างน้อย 5 ปี เเละไม่ขายจนกว่าจะอายุครบ 55 ปี หรือเสียชีวิต หรือทุพพลภาพก่อน จะใช้หักภาษีได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีและเมื่อรวมกับ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุน กบข. กองทุนสงเคราะห์ครูฯ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

1.20 กองทุนรวมส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF)

เงินที่ใช้ซื้อกองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund : SSF) โดยต้องถือหน่วยลงทุนไว้อย่างน้อย 10 ปี และไม่ขายก่อนครบกำหนด 10 ปี หรือเสียชีวิต หรือทุพพลภาพก่อน จะใช้ลดหย่อนตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับ RMF และประกันชีวิตแบบบำนาญ และ กอช. แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

1.21 กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)

เงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติของคนไทยที่ไม่ได้มีประกันสังคม และไม่ได้มีงานประจำ จะใช้ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 13,200 บาท และเมื่อรวมกับ RMF และเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท

2. ทำไมต้องซื้อประกันลดหย่อนภาษี?

2.1 ผลประโยชน์หลายต่อ 

เมื่อซื้อประกันชีวิต หรือประกันสุขภาพ จะได้รับทั้งความคุ้มครองในชีวิต และสุขภาพ ไปพร้อมกับสิทธิลดหย่อนภาษีที่เป็นผลประโยชน์เพิ่มเติม แม้ว่า ‘ผลตอบแทน’ จากประกันภัยจะน้อยหรือไม่มีเลยเมื่อเทียบกับการลงทุนด้วยสินทรัพย์อื่นๆ แต่ ‘ความคุ้มครอง’ ที่บริษัทประกันภัยรับประกันให้ ไม่สามารถหาได้จากในสินทรัพย์การลงทุนอื่นๆ

2.2 หลักประกันทางการเงิน 

หากทำประกันในตอนที่สุขภาพยังแข็งแรง จะได้รับความคุ้มครองครบถ้วน ไม่มีเงื่อนไขยกเว้นความคุ้มครองในโรคร้ายแรงบางโรคที่ตรวจเจอภายหลัง โอกาสปฏิเสธการรับทำประกันต่ำหรือไม่มีเลย และเบี้ยถูกกว่า ทำให้เมื่อมีหลักประกันในชีวิตให้กับตนเองและครอบครัวแล้ว จะทำให้ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นได้อย่างสบายใจ

2.3 เงื่อนไขการซื้ออิสระ

การซื้อประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษี จะไม่กำหนดความถี่ในการซื้อเหมือนเงื่อนไขของการซื้อ RMF เพื่อใช้ลดหย่อนภาษีที่ต้องซื้อทุกปี หรือปีเว้นปี รวมถึงสามารถเลือกใช้สิทธิในการลดหย่อนภาษีตามรูปแบบประกันที่มีให้เลือกมากขึ้นในท้องตลาด 

เช่น การเลือกประกันแบบ 10/1 ที่จ่ายเบี้ยใน 1 ปีแรกเท่านั้น และจะได้รับความคุ้มครอง 10 ปี เหมาะสำหรับคนที่อาจมีรายได้ก้อนใหญ่เข้ามากะทันหัน ต้องการได้รับทั้งความคุ้มครองยาวนาน และสิทธิลดหย่อนภาษีเฉพาะปีนั้นๆ โดยไม่ต้องการความยุ่งยากในการซื้อต่อเนื่องในปีต่อไป ทำให้วางแผนการลดหย่อนภาษีด้วยประกันได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

2.4 ลดความเสี่ยงการลงทุน

ผลประโยชน์และผลตอบแทนของประกันจะยึดตามที่กรมธรรม์ระบุไว้ ไม่ผันผวนตามสภาพเศรษฐกิจ (ยกเว้นแบบประกันที่ควบการลงทุน) ไม่ต้องปรับเปลี่ยน สับไปมา ไม่ต้องเสียเวลาติดตามข่าวสารเพื่อบริหารการลงทุนให้ทันกับสถานการณ์เช่นในสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ ทำให้มีหลักประกันเมื่อลงทุนสินทรัพย์อื่นผิดพลาด หรือลงทุนได้ไม่ถึงเป้าหมาย

แม้ว่าประกันลดหย่อนภาษีจะเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยจัดการภาษีในช่วงท้ายปีที่มีเงื่อนไขความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้เลือกมากมาย แต่ต้องไม่ลืมวางแผนให้ตอบโจทย์กับความเสี่ยงในแต่ละรูปแบบที่ต้องการจัดการ และต้องไม่ทำให้เกิดเป็นภาระทางการเงินในอนาคต เพราะวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของประกันภัย คือ ตัวช่วยถ่ายโอนความเสี่ยงและให้ความคุ้มครองชีวิตและสุขภาพที่จะช่วยต่อยอดไปยังการเกษียณในอนาคต และมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นของแถมเท่านั้น

เลือกแบบประกันลดหย่อนภาษีที่ใช่ ตรงใจ ได้ที่ แรบบิท แคร์ เพราะที่นี้มีแบบประกันจากบริษัทประกันภัยชั้นนำให้เลือกครบ ไม่ว่าจะเป็นประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ หรือประกันโรคร้ายแรง พิเศษ! รับสิทธิพิเศษเฉพาะลูกค้าที่ซื้อประกันกับ แรบบิท แคร์ ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป


บทความแคร์การเงิน

แคร์การเงิน

ไฟแนนซ์ คืออะไร จัดไฟแนนซ์รถ รีไฟแนนซ์บ้าน ทำได้อย่างไรบ้าง

หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า จัดไฟแนนซ์ ขอไฟแนนซ์ หรือขอสินเชื่อกันมาพอสมควร แต่อาจจะยังไม่เข้าใจรายละเอียดเรื่องการจัดไฟแนนซ์ ว่ามีขั้นตอนอย่างไร
Thirakan T
11/04/2024

แคร์การเงิน

เป็นหนี้บัตรเครดิต ยึดทรัพย์ คู่สมรสได้ไหม?

เรื่องหนี้สิน เป็นเรื่องละเอียดอ่อนสำหรับคู่สมรส โดยเฉพาะหนี้บัตรเครดิต ที่เกิดจากการใช้จ่ายของทั้งสองฝ่าย ทั้งในกรณีที่ใช้จ่ายร่วมกัน
Thirakan T
11/04/2024

แคร์การเงิน

ผ่อนบ้านไม่ไหว ขายคืนธนาคารได้ไหม หรือควรทำอย่างไรดี

ปัญหาผ่อนบ้านไม่ไหว น่าจะเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่น่าหนักใจสำหรับใครหลายคน เพราะดอกเบี้ยบ้านที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัญหาผ่อนบ้านไม่ไหว
Thirakan T
11/04/2024