แคร์สุขภาพ

รู้เท่าทันอาการ ตับแข็ง สังเกตอย่างไร ดูแลแบบไหน?

ผู้เขียน : Nok Srihong

มีประสบการณ์มากกว่า 3 ปี เป็นนักเขียนด้านประกันสุขภาพ ประกันชีวิต เพื่อสุขภาพที่ Rabbit Care และ 12 ปี ในอุตสาหกรรม OTA อย่าง Laterooms.com , Expedia.com จึงมีความเชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยว

close
Published June 09, 2021

ตับ เป็นอวัยวะสำคัญในช่องท้องอีกอวัยวะหนึ่ง ที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบย่อยอาหาร ผลิตน้ำดีเพื่อช่วยย่อยไขมัน และยังทำงานร่วมกับอวัยวะอื่น ๆ ทั้งการผลิตโปรตีนที่มีส่วนช่วยในการแข็งตัวของเลือด และเป็นตัวช่วยจัดการสารพิษ, ของเสีย ให้ถูกขับออกจากร่างกาย นอกจากนี้ ตับ ยังเป็นอวัยวะที่เป็นแหล่งสะสมน้ำตาลที่ใช้สำหรับเป็นพลังงานสำรองในกรณีที่ร่างกายจะนำมาใช้ในยามจำเป็น

เรียกได้ว่าเป็นอวัยวะที่มีบทบาทสำคัญต่อร่างกายมากจริง ๆ แล้วถ้าวันหนึ่งต้องเผชิญกับอาการตับแข็ง เป็นภาวะที่ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของตับลดลง แน่นอนว่ามันจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายทั้งภายในและภายนอก จะรู้ได้อย่างไรว่าตอนนี้ คุณหรือคนใกล้ตัวของคุณ กำลังเสี่ยงมีอาการตับแข็งอยู่หรือไม่ ลองอ่านบทความนี้ได้เลย

ตับแข็ง ภัยร้ายที่ซ่อนในช่องท้องของคุณ

ภาวะตับแข็ง (cirrhosis) เป็นภาวะเริ่มต้นของโรคตับ เกิดจากการที่ตับได้รับความเสียหายและเกิดแผลเป็นบนตับ กล่าวคือ พบว่ามีเนื้อเยื่อพังผืดเกิดขึ้นในตับ ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของตับลดลง ส่งผลให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายเริ่มแปรปรวน และทำงานผิดปกติตามไปด้วย หากไม่ทำการรักษาให้ทันเวลา อาจนำพาเอาโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาอีกมากมาย เพราะฉะนั้น ต้องไม่ลืมที่จะสังเกตสภาพร่างกายของตนเองอยู่เป็นประจำ และทำประกันสุขภาพเอาไว้เพื่อช่วยในการรองรับความเสี่ยง โดยอาการภายนอกที่พบในผู้ป่วยอาการตับแข็งส่วนมาก ได้แก่

  • มีอาการบวมตามร่างกาย

ผู้ป่วยที่มีอาการของภาวะตับแข็ง จะพบว่ามีอาการบวมบริเวณหลังเท้า ตามแขน-ขา และบริเวณหน้าท้อง เนื่องจากว่าตับไม่สามารถทำหน้าที่สร้างโปรตีนในเลือดได้ตามปกติ

  • ตัวเหลือง ตาเหลือง

มีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ลักษณะคล้ายกับคนที่เป็นดีซ่าน เพราะว่าตับไม่สามารถขับน้ำดีออกมาจากตับได้ จึงแพร่ไปยังตาและส่วนต่าง ๆ ทั่วร่างกาย จนเป็นสีเหลืองออกมา

  • มีบาดแผล-รอยฟกช้ำง่าย

จะเกิดรอยฟกช้ำหรือห้อเลือดบนผิวหนังได้ง่าย แม้เป็นการกระทบเบา ๆ รมถึงกรณีที่มีบาดแผลเกิดขึ้นแล้วมีเลือดออก ก็จะมีเลือดออกมาก และไม่หยุดไหลหรือแข็งตัวตามที่ควรจะเป็น เนื่องจากตับมีปัญหาจึงส่งผลต่อเลือดและปริมาณเกล็ดเลือด

  • คันตามร่างกาย

มีอาการคันตามส่วนต่าง ๆ ทั่วร่างกาย แม้จะไม่มีผื่นแพ้หรือปัจจัยอื่น ๆ ที่รบกวนผิวก็ยังรู้สึกคัน เพราะมีน้ำดีที่ไปคั่งค้างอยู่ที่ผิวหนังบริเวณนั้น จึงก่อให้เกิดอาการคันขึ้นมา

  • ระบบสืบพันธุ์ทำงานผิดปกติ

ผู้ที่มีภาวะตับแข็งมักจะพบสัญญาณจากความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ โดยในเพศหญิงจะมีอาการประจำเดือนมาไม่ปกติ อาจจะมีทั้งขาดช่วงไปเลย หรือบางคนก็มา ๆ ขาด ๆ ส่วนในเพศชายอาจพบอาการเจ็บเต้านม เต้านมขยายขึ้น บางคนอาจพบอาการอัณฑะฝ่อ สมรรถภาพทางเพศลดลง จากที่ปกติไม่เคยเป็น

  • รู้สึกแน่นบริเวณชายโครง

พบอาการปวด รู้สึกแน่นหน้าอก และรู้สึกร้อนวูบบริเวณช่องอก ในผู้ป่วยบางคนอาจพบอาการปวดแน่นที่ลามไปทั่วบริเวณช่องท้อง และพบอาการปวดท้องน้อยร่วมด้วย

  • ร่างกายอ่อนเพลีย

รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง ทั้งที่ไม่ได้ใช้ร่างกายหนัก ๆ หรือต้องออกแรงอะไรมากมาย ง่วงตลอดทั้งวัน แม้จะนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอมาแล้วในเวลากลางคืน ในผู้ป่วยบางคนอาจพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน หากมีอาการรุนแรงจะพบอาการอาเจียนเป็นเลือดร่วมด้วย

ดูแลตัวเองอย่างไร ให้ห่างไกลโรคตับแข็ง

สำหรับผู้ป่วยที่ตรวจพบว่ามีอาการตับแข็งในระยะเริ่มต้น และอยู่ในระหว่างการรักษาตัวเพื่อให้ตับค่อย ๆ ฟื้นฟู และสุขภาพร่างกายกลับมาเป็นปกติ ขอแนะนำให้ดูแลตนเอง ด้วยแนวทางดังต่อไปนี้

  • งดดื่มแอลกอฮอล์

อย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่าเครื่องดื่มมึนเมาหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์นั้นเป็นเครื่องดื่มที่เป็นภัยต่อตับ โดยเฉพาะคนที่มีภาวะตับแข็งยิ่งไม่ควรดื่มเป็นอย่างยิ่ง เพื่อไม่ให้ไปรบกวนการทำงานของตับมากขึ้นไปอีก

  • หลีกเลี่ยงอาหารเค็มจัด ไขมันสูง

อาหารที่มีส่วนผสมของเกลือ (โซเดียม) ในปริมาณมาก จะยิ่งทำให้ตับต้องทำงานหนักมากขึ้นเพื่อกำจัดออกจากร่างกาย และอาจทำให้เกิดอาการบวมมากขึ้น ส่วนอาหารที่มีไขมันสูงนั้นก็อาจเป็นส่วนหนึ่งที่เพิ่มความเสี่ยงภาวะไขมันเกาะตับ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ไม่ควรบริโภคของมันเป็นอย่างยิ่ง

  • ทานอาหารกลุ่มโปรตีน

เน้นบริโภคอาหารที่มีปริมาณโปรตีนสูง เพื่อช่วยในการเสริมสร้างส่วนที่สึกหรอในร่างกาย หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ติดมัน หรือเนื้อสัตว์ที่ย่อยยากควรบริโภคแต่น้อย เลือกโปรตีนที่ย่อยง่าย เช่นเนื้อปลา, นมถั่วเหลือง เป็นต้น

  • ขับถ่ายให้เป็นเวลา

ฝึกขับถ่ายให้เป็นเวลาและตรงเวลา ไม่ควรปล่อยให้ท้องผูกหลาย ๆ วัน เพราะจะทำให้ร่างกายดูดซึมของเสียเข้าสู่ร่างกายและเกิดการสะสมจนเกิดปัญหาในภายหลังได้

  • อย่าหายากินเอง

หากต้องทานยาเพื่อรักษาและควบคุมอาการ ให้ทานเฉพาะยาตามที่แพทย์สั่งมาเท่านั้น อย่าหายาสมุนไพรหรือยาอื่น ๆ มากินเอง เพราะยาเหล่านั้นอาจส่งผลให้ตับต้องทำงานหนักขึ้นได้

  • พบแพทย์ต่อเนื่อง

ควรพบแพทย์เพื่อติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง ปฏิบัติตนตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อให้ร่างกายกลับมาเป็นปกติโดยเร็วที่สุด

เพราะทุกคนมีตับแค่อันเดียวเท่านั้น การเอาใจใส่ ดูแลสุขภาพตับจึงเป็นเรื่องสำคัญ หากลองสังเกตตนเองดูแล้วรู้สึกว่าร่างกายกำลังผิดปกติหรือเข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงตับแข็ง ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาทันที อย่าปล่อยไว้ให้อาการหนักขึ้นกว่าเดิม


บทความแคร์สุขภาพ

แคร์สุขภาพ

โยคะ (Yoga) มีประโยชน์อย่างไร สามารถบำบัดทั้งร่างกายและจิตใจได้จริงหรือไม่ ?

โยคะ หนึ่งในศาสตร์การออกกำลังกายที่แน่นอนว่าหลายคนคงคุ้นหูกันเป็นอย่างดีและทราบกันถึงประโยชน์หลาย ๆ อย่างที่โยคะมีต่อร่างกายของคนเรา
Nok Srihong
11/04/2024

แคร์สุขภาพ

ดนตรีบำบัด คืออะไร ? ดนตรีสามารถบำบัดจิตใจและความเครียดได้จริงหรือไม่ ?

เราต่างก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่าเสียงดนตรีสามารถช่วยให้เกิดความผ่อนคลายของร่างกายและจิตได้
Nok Srihong
11/04/2024