อัพเดท! แนวโน้มการลงทุนในไทย ครึ่งปีหลัง จะ ‘แป้ก’ หรือ ‘ปัง’?

ประเทศไทยและอีกหลายประเทศในแถบอาเซียนมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่น่าพอใจ เห็นได้ชัดในครึ่งปีแรกที่มีบริษัทยักษ์ใหญ่เข้ามาจับจองพื้นที่ในตลาดการเงินอย่างคึกคัก ว่าแต่ การลงทุน ในประเทศไทยช่วงครึ่งปีหลังจะยังคึกคักอยู่หรือไม่? แล้วนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจประเทศไทยในด้านไหนเป็นพิเศษ? ตาม rabbit finance ไปหาคำตอบกันเลย
‘อาเซียน’ ทางเลือกใหม่ของนักลงทุนต่างชาติ
จากการอัพเดทข้อมูลจาก U.S. News เมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา พบว่าประเทศในแถบอาเซียนติด 5 จาก 20 อันดับ ประเทศที่น่าลงทุนที่สุดในโลก ประจำปี 2018 และแน่นอนว่าประเทศไทยก็คว้าอันดับ 8 มาได้อย่างสวยงาม นี่จึงเป็นนิมิตรหมายอันดีที่การลงทุนในแถบอาเซียนจะได้รับความสนใจจากบริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลก ซึ่ง 2-3 วันที่ผ่านมานี้ก็มีข่าวดีเกี่ยวกับเศรษฐกิจในอาเซียนให้เราได้ใจชื้นมากทีเดียว
ธุรกิจขนส่งสาธารณะ
เริ่มที่ Grab ธุรกิจขนส่งสาธารณะจากสิงคโปร์ที่ตีตลาดหลายประเทศในเอเชียจนประสบความสำเร็จ ตอนนี้ทีมบริหารก็วางแผนระดมทุนอีก 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อขยายบริการให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น อีกทั้งอาจจะมีบริการใหม่ๆ ออกมาอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าอย่างรอบด้านอีกด้วย
ส่วนคู่แข่งอย่าง Go Jek จากอินโดนีเซียก็ประกาศลงทุน 500 ล้านดอลลาร์ เพื่อรุกตลาดอาเซียนให้ทั่วถึงมากขึ้น นี่เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าการลงทุนในธุรกิจนี้ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญยังมีแนวโน้มจะดีขึ้นเรื่อยๆ ถ้าหากสามารถทำให้สอดคล้องกับนโยบายการท่องเที่ยวของแต่ละประเทศเพื่อเอาใจนักท่องเที่ยว
ต่างชาติหนีจีน เล็งเป้าอาเซียน
อย่างที่ทราบกันดีว่าวิกฤติเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ กับจีนยังคงยืดเยื้อ และหาทางออกที่ดีไม่ได้ แน่นอนว่านักลงทุนคงไม่เสียเวลารอ สิ่งที่ต้องทำต่อก็คือเล็งเป้าประเทศใหม่ที่น่าลงทุน เพราะถึงแม้จีนจะเป็นประเทศที่ใหญ่และครองพื้นที่ตลาดโลกค่อนข้างมาก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายประเทศแถบอาเซียนก็ทำหน้าที่นั้นได้ดีไม่แพ้กัน
ในช่วงปลายปี 2016 – ต้นปี 2018 มีนักลงทุนเข้ามาก่อตั้งบริษัทและเลือกประเทศอาเซียนเป็นฐานการผลิตค่อนข้างมาก อาทิ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และประเทศไทยก็เป็นเป้าหมายที่ดี ด้วยกำลังคน กำลังผลิต รวมทั้งทรัพยากรที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ถึงแม้ต้องมีการปรับฐานการผลิตหรือกลยุทธ์ แต่ก็ยังคุ้มค่าแก่การลงทุนอย่างมากในมุมมองของธุรกิจขนาดใหญ่
การลงทุนในไทยยังคึกคัก จริงหรือ?
มาถึงการลงทุนในประเทศไทยที่เห็นว่ามีการเติบโตค่อนข้างมากในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา มีทั้งบริษัทใหม่ๆเข้ามาลงทุน รวมทั้งบางบริษัทก็เลือกขยายฐานการผลิตในประเทศไทยให้สูงขึ้น ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนี่อาจมีผลมาจากนโยบายกระตุ้นการจับจ่ายของรัฐบาล รวมทั้งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่น่าจับตามอง ทำให้นักลงทุนต่างชาติเกิดความเชื่อมั่นที่จำทำการลงทุนในไทย
ขยับขึ้นสู่โลจิสติกส์เบอร์ 2 ของอาเซียน
ธนาคารโลกมีการปรับอันดับประเทศที่มีระบบโลจิสติกส์ดีที่สุดในอาเซียน ซึ่งไทยก็สามารถเบียดมาเลเซียขึ้นสู่อันดับ 2 รองจากสิงคโปร์ได้อย่างพอใจ และตอนนี้เท่ากับไทยเป็นประเทศที่มีโลจิสติกส์ดีเป็นอันดับที่ 32 ของโลกเลยทีเดียว นี่คือผลลัพธ์ที่ทางรัฐบาลพยายามปฏิรูประบบโลจิสติกส์และระบบขนส่งของประเทศเพื่อรองรับนักลงทุนที่ทยอยเข้ามาไม่ขาดสาย
แต่อุตสาหกรรมรถยนต์สะดุด
ล่าสุดทาง บริษัท ทาทา มอเตอร์ส เตรียมยุติการผลิตในประเทศไทย เพราะประสบปัญหาขาดทุน และยังเล็งเห็นแล้วว่าไม่คุ้มกับการลงทุน แต่ทางบริษัทก็ยังคงจัดจำหน่ายรถบรรทุกขนาดเล็กต่อไป โดยผลิตในอินเดีย แล้วส่งมาขายที่ไทย จริงๆแล้วบริษัท ทาทา มอเตอร์ส (ประเทศไทย) เพิ่งเข้ามาทำตลาดในไทยเมื่อปี 2559 นี่เอง แต่ยอดซื้อกลับน้อยลงเรื่อยๆ อาจจะเป็นเพราะไม่ใช่ยี่ห้อรถที่คนไทยคุ้นเคย บวกกับยังไม่ติดตลาดผู้ขับขี่รถยนต์ในประเทศไทย ปัญหานี้จะส่งผลกระทบต่อแรงงานไทยหรือไม่? คงต้องรอติดตามกันต่อไป
ในส่วนของภาคธุรกิจที่มองหาประเทศเพื่อการลงทุนอันแสนคุ้มค่าคงต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศนั้น กำลังคน ความพร้อมของแรงงาน กำลังการผลิต รวมทั้งคุณภาพชีวิตของคนที่คอยขับเคลื่อนธุรกิจ อย่างไรก็ดีประเทศไทยก็ยังนับว่าเป็นประเทศที่มีข้อได้เปรียบทางการลงทุนมากกว่าหลายประเทศแถบอาเซียน แต่คงต้องพึ่งนโยบายและการสนับสนุนจากภาครัฐด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.usnews.com และ www.bangkokbiznews.com