ธปท.ออกหนังสือ “งดทำธุรกรรม Cryptocurrency ในไทย”

เรื่องราวของ สกุลเงินดิจิทัล หรือ Cryptocurrency เป็นเรื่องที่น่าสนใจและน่าจับตามองอย่างมากในปัจจุบัน โดยในประเทศไทยเอง ก็เริ่มมีเหล่านักเทรด นัดขุด ไปจนถึงเว็บไซต์ที่เสนอข่าวและให้ความรู้เกี่ยวกับเงินดิจิทัลมากขึ้น
ทำให้ผู้คนที่สนใจเริ่มหันไปซื้อขายและ ลงทุนกับสกุลเงินดิจิทัล กันเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ในต่างประเทศได้เริ่มมีการออกมาตรการควบคุมดูแลเรื่องนี้กันบ้างแล้ว
ธปท. ขอความร่วมมือ “งดทำธุรกรรมเงินดิจิทัล”
เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ส่งหนังสือขอความร่วมมือจากสถาบันการเงินต่างๆ ไม่ให้ทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับ Cryptocurrency ในประเทศไทย
เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับสกุลเงินดิจิทัล ทำให้ไม่มีหน่วยงานใดๆ สามารถควบคุมดูแลความเสี่ยงของนักลงทุน ในกรณี ถูกฉ้อโกง หลอกลวง หรือขาดทุนจากความผันผวนของเงินดิจิทัลได้
นอกจากนั้น การใช้สกุลเงินดิจิทัลยังอาจเป็นช่องทางในการกระทำผิดกฎหมาย เช่น การฟอกเงิน และการสนับสนุนขบวนการก่อการร้ายได้อีกด้วย โดยประกาศของ ธปท ไม่ให้สถาบันการเงินทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับ Cryptocurrency ในกรณีต่อไปนี้
1. การลงทุน หรือการซื้อขาย Cryptocurrency
ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปลงทุนหรือซื้อขายใน Cryptocurrency เพื่อผลประโยชน์ของสถาบันการเงินเอง หรือผลประโยชน์ของลูกค้า
2. บริการรับแลกเปลี่ยน Cryptocurrency
การให้บริการรับแลกเปลี่ยน Cryptocurrency ผ่านช่องทางให้บริการของสถาบันการเงิน
3. บริการแพลตฟอร์ม (Platform)
การสร้างแพลตฟอร์ม (Platform) เพื่อเป็นสื่อกลางให้ลูกค้าเข้าไปทำธุรกรรมเกี่ยวกับคริปโตเคอเรนซีระหว่างกัน
4. ไม่อนุญาตให้ใช้บัตรเครดิตในการซื้อสกุลเงินดิจิทัล
การให้ลูกค้าใช้ บัตรเครดิต ในการซื้อ Cryptocurrency
5. บริการให้คำปรึกษาข้อมูลการลงทุนสกุลเงินดิจิทัล
การสนับสนุนหรือให้คำปรึกษากับลูกค้าเกี่ยวกับการลงทุน หรือการแลกเปลี่ยน Cryptocurrency
นอกจากนั้น ธปท. ยังขอให้สถาบันการเงินทุกแห่งเพิ่มความระมัดระวังในการให้บริการด้านการเงินหรือ การขอสินเชื่อ ที่อาจเกี่ยวข้องกับธุรกรรมของสกุลเงินดิจิทัลด้วย
สมาคมแบงก์และจุดยืนเกี่ยวกับ “สกุลเงินดิจิทัล”
นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวในฐานะของประธานสมาคมธนาคารไทย เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 ว่า
“สมาคมธนาคารไทย ก็ มีจุดยืนร่วมกัน ที่จะไม่สนับสนุนการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล เพื่อไม่ให้เป็นเครื่องมือในการทำธุรกรรมที่มีความเสี่ยงสูง รวมทั้งป้องกันไมให้เกิดความเสียหายกับผู้ที่ไม่รู้
เพราะ การลงทุน มีความเสี่ยงค่อนข้างมาก และไม่มีปัจจัยพื้นฐานสนับสนุนจึงไม่สามารถหามูลค่าที่เหมาะสมสำหรับเงินสกุลนั้นๆได้ เพราะ Cryptocurrency เป็นสกุลเงินที่ไม่ใช่สกุลเงินที่มีมูลค่าที่แท้จริงรองรับ”
โดยนับตั้งแต่วันนี้…
หากธนาคารพาณิชย์ค้นพบว่า มีการเปิดบัญชี หรือ ใช้บัตรเครดิตเพื่อทำธุรกรรมเกี่ยวกับ สกุลเงินดิจิทัล ขึ้นมา ทางธนาคารจะบล็อกธุรกรรมดังกล่าวทันที โดยในเบื้องต้นจะเริ่มจาก ผู้ที่มีการจดทะเบียนในชื่อที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกรรมซื้อขายเงินสกุลดิจิทัลก่อน เนื่องจากผู้จ่ายที่เหลือส่วนใหญ่ เป็น บัญชีบุคคลที่ธนาคารไม่สามารถระบุวัตถุประสงค์ได้นั่นเอง
เหรียญ ICO นาม Jfin ของบริษัท เจเวนเจอร์ส
ส่วนในกรณีของ บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) (JMART) เป็นบริษัทจดทะเบียนรายแรกที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่ให้บริษัทเจเวนเจอร์ส จำกัด (JVC ) ซึ่งเป็นบริษัทลูก ระดมทุน โดยการออกเหรียญที่เป็นสกุลเงินดิจิตอล JFin Coin เสนอขายให้กับนักลงทุนที่สนใจ ซึ่งกำลังจะมีการพรีเซลส์ในวันที่ 14-28 กุมภาพันธ์นี้
ทางนายกสมาคมแบงก์ไทย ได้ให้ความเห์นว่า ถึงแม้มันจะเข้าข่ายการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงินดิจิทัล แต่หากในอนาคต คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีการออกกฎหมายควบคุมที่ชัดเจนออกมา ธนาคารก็พร้อมที่จะผ่อนกฎข้อนี้เช่นเดียวกัน และตอนนี้ยังอนุญาตให้ขายตามกำหนดเดิม เพราะ ยังไม่ถือว่ากระทบต่อ การปล่อยสินเชื่อ ของธนาคารพาณิชย์นั่นเอง
นายธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เวนเจอร์ส ได้กล่าวว่า
“ยืนยันว่า จะเดินหน้าเปิดขายโทเคนตามแผน เพราะ ขณะนี้การระดมทุนผ่าน ICO ไม่มีหน่วยงานใดระบุว่า มีความผิด และขณะนี้ก็ไม่ได้รับการติดต่อจากธนาคารว่าจะบล็อกบัญชีขาย ICO ของบริษัท หรือบัญชีของลูกค้าที่เปิดบัญชีซื้อขายคริปโตเคอเรนซีกับ ทีเด็กซ์ (TDAX) โดยที่ผ่านมามีลูกค้าที่เปิดบัญชีไว้และทำการซื้อขายเงินดิจิทัลกับทีเด็กซ์แล้ว “
การออกมาตรการเช่นนี้ อาจจะหมายถึง จุดจบของสกุลเงินดิจิตอลในประเทศไทยในไม่ช้าก็เป็นได้ แต่สำหรับตอนนี้ประเทศไทยก็ ยังไม่ถือว่า “แบน” สกุลเงินดิจิตอลแบบเต็มตัวนัก เราเองก็คงต้องติดตามข่าวสารกันต่อไปว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคตบ้าง